การถวายความรู้เพื่ออนุรักษ์โบราณสถานในวัดแด่พระสงฆ์

จัดทำโดย ฝ่ายกิจการพิเศษ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

bell

อ.วิโรฒ ศรีสุโร ได้นำเสนอรูปแบบสิมอีสาน งานสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์พื้นถิ่นของอีสาน รูปแบบของสิม ประกอบด้วย

สิมโปร่ง หมายถึง สิมที่ไม่ทำผนังปิดมิดชิด นิยมปิดทึบเฉพาะด้านหลังพระประธาน แปลนเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาวส่วนมากนิยม 3 ช่วงเสา ส่วนกว้าง 1 ช่วงเสา ผนังอีก 3 ด้านเปิดโล่ง ด้านข้างพระประธานมักนิยมก่ออิฐสูงขึ้นเป็นบันไดไปหาพระประธานี ด้านทางเข้าไม่มีขอบประตู ทำเพียงแต่เจาะช่องกำแพงระเบียง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของฐานเอวขันธ์ที่ก่อให้สูงขึ้นมาเป็นแนวกำแพง หลังคาเป็นจั่วชั้นเดียว หรือ 2 ชั้น มักทำปีกนกยื่นแทนกันสาดตลอดทั้ง 4 ด้าน เครื่องมุม เดิมใช้แป้นเกล็ด (กระเบื้องไม้) การตกแต่งมีโหง่ (ช่อฟ้า) ลำยอง หางหงส์ หน้าบันทำเป็นลายตาวัน บางหลังมีช่อฟ้า (ประสาท) อยู่กลางสันหลังคาด้านบน ส่วนคันทวย ไม่ค่อยนิยมนำมาใช้กับสิมโปร่งนัก

รูปแบบของสิมชนิดนี้นับเป็นสิมพื้นบ้านบริสุทธิ์ที่แสดงออกถึงความเรียบง่าย มุ่งประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก แสดงความจริงใจในการออกแบบ ดังเช่นวิถีชีวิตของชุมชนอีสาน ซึ่งผู้คนมีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย สมถะ ซื่อสัตย์และจริงใจ

สิมโปร่ง แบ่งได้อีก  2 รูปแบบ

  1. สิมโปร่งแบบไม่มีเสารับปีกนก เป็นชนิดที่ไม่ทำปีกนกยื่นก็มี ทำปีกนกยื่นก็มี แต่ถึงแม้จะมีปีกนกช่างก็ไม่นิยมทำเสารับปีกนก
  2. สิมโปร่งแบบมีเสารับปีกนก มีลักษณะปีกนกยื่นคลุมโดยตลอด ปีกนกค่อนข้างกว้าง จำเป็นต้องมีเสารับ เป็นรูปแบบที่พบเห็นได้มากกว่าแบบแรก เช่น สิมโปร่ง วัดกลางโคกค้อ บ้านโคกค้อ อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ สิมโปร่ง วัดทุ่งสว่างปะโก บ้านปะโค อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี

sim

สิมทึบ หมายถึง สิมที่ทำผนังปิดทึบทั้ง 4 ด้าน ยกเว้นช่องประตูและหน้าต่าง จะเป็นผนังไม้หรือก่ออิฐถือเป็น “สิมทึบ” ทั้งสิ้น ส่วนใหญ่มีประตูทางเข้าเฉพาะด้านหน้า ขนาดกว้างยาวใกล้เคียงกับสิมโปร่งหลังคาทรงจั่วลด 1-3 ตับ มีปีกนกยื่นทั้งชนิดมีเสารับและชนิดไม่มีเสารับ สิมทึบนิยมตกแต่งมากกว่าสิมโปร่ง นอกจากโหง่ ลำยอง หางหงส์และคันทวยแล้ว ยังประดับด้วย “ฮังผึ้ง” (รวงผึ้ง ภาคเหนือ เรียก “โก่งคิ้ว”) ซึ่งสลักลวดลายพื้นเมืองสวยงามเป็นพิเศษ ส่วนฐานเอวขันธ์ก็มักก่ออิฐฉาบปูนเป็นโบกคว่ำโบกหงาย (บัวคว่ำ-บัวหงาย)

IMAG1907

เรือนพักอาศัย

เรือนพื้นถิ่นอีสาน ประเภทเครื่องสับ เรียกตามภาษาถิ่นว่า “เฮือน” มีรูปแบบใหญ่ ๆ จำแนกได้ 3 ประเภท คือ เฮือนเกย เฮือนแฝด และเฮือนโข่ง ส่วนสำคัญของเฮือนในแต่ละประเภทจำเป็นต้องมี คือ

เฮือนใหญ่ : เป็นเฮือนหลังคาทรงจั่วมีห้องนอนพ่อแม่ ห้องส่วม (ห้องลูกสาว) และห้องเปิง (ห้องลูกชาย) เป็นส่วนโล่งไม่กั้นฝา มีหิ้งพระบนหัวนอน มักนิยมทำยาว 3 ช่วงเสา ฝาเจาะหน้าต่างขนาดเล็ก ไม่มีบาน (เรียกป่องเอี้ยม) ทั้งด้านข้างและด้านสกัด บางหลังตกแต่งจั่วเป็นลายตาวัน นิยมหัวจั่ว “ล่องตาวัน” (ตามตะวัน) ไม่ขวางตาวัน

เฮือนไฟ : เป็นส่วนใช้หุงหาอาหาร ตรงกับคำว่า ครัว มักอยู่แยกห่างจากเฮือนใหญ่ โดยใช้ชานมนเป็นตัวแยกจากกัน จั่วหน้าหลังนิยมทำโปร่งเพื่อประโยชน์ในการระบายควันไฟ ฝาผนังหากเป็นเฮือนตามชนบทจริง ๆ จะใช้ไม้ไผ่สับฟากสานขัดลายสอง จึงทำให้สามารถระบายอากาศได้อีกด้วย การวางทิศของเฮือนไฟนั้น จะวางขวางกับเฮือนใหญ่ จึงเป็นการ “ขวางตะวัน” และมักอยู่ด้านทิศตะวันตกของตัวเฮือน

ชานแดด : เป็นนอกชานที่ไม่มีหลังคาคลุม เป็นพื้นไม้จริงมีเสารองรับแยกจากเฮือนใหญ่มีบันไดขึ้นลงด้านข้าง ชานแดดนิยมให้อยู่ด้านทิศใต้ ซึ่งหันออกเป็นส่วนหน้าบ้าน เพราะเมื่อนั่งที่เกยแล้วสามารถมองเห็นผู้คนสัญจรไปมาได้ บางส่วนของชานแดดจะมีภาชนะเก่า ๆ ชำรุดแล้ว เช่น กาละมัง หม้อ ขัน หรือแม้แต่กระติบข้าวเก่า ๆ เอาใส่ดินปลูกหอม สะระแหน่ ยี่หร่า ผักชีลาว เพื่อประโยชน์ใช้ปรุงอาหารได้

ฮ้านน้ำ : เป็นส่วนที่ใช้วางหม้อน้ำดื่ม มักทำเสาต่อขึ้นจากปลายของชานแดด มีเพิงกันแดดด้วย หม้อน้ำอาจใช้ 2 หรือ 3 ใบ แล้วแต่จำนวนสมาชิกในครัวเรือน มีกระบวยด้ามสวยงามแขวนไว้ใกล้ ๆ ส่วนข้างล่างจะเป็นสวนครัวบนชานแดด เมื่อ ดื่มน้ำจะเหลือก็เทราดลงไปบนสวนครัวขนาดย่อมนั้น ได้ประโยชน์อีกต่อหนึ่ง

ชานมน : เป็นนอกชานขนาดเล็กที่เชื่อมต่อระหว่าง “เฮือนไฟ” กับ “ชานแดด” มักลดระดับลงจากชานใหญ่เล็กน้อย เป็นที่วางตุ่มน้ำ ไหปลาร้า และเป็นที่ล้ายภาชนะในครัว มักมีบันไดขึ้งลงทางด้านหลังเฮือนอีกต่างหาก เพื่อสะดวกในการขนน้ำขึ้นเฮือน

คั่นได (บันได) : มักมีคั่นไดหน้าเฮือน คือ ขึ้นทางชานแดด และคั่นไดขึ้งลงทางชานมน ข้างเฮือนไฟ ซึ่งเป็นทางขนน้ำขึ้นมาใส่ตุ่มไว้ใช้สอย มักทำแม่บันไดให้ตัวขวาสูงตัวซ้ายต่ำ เพื่อสะดวกในการใช้มือจับหัวบันไดแล้วเบี่ยงให้คุถังใส่น้ำขึ้นได้สะดวก ส่วนลูกบันไดนั้นมักใช้ไม้กลมมากกว่าจะทำเป็นแป้นไม้แบน ๆ จำนวนคั่นนิยมใช้เลขคี่ (คู่ของผี คี่ของคน)

ความแตกต่างในลักษณะพิเศษของเฮือนอีสาน

1.เฮือนเกย จะเพิ่มส่วน “เกย” คือ พื้นลดระดับจากเฮือนใหญ่ มีหลังคาคลุมลงมาตลอด ช่วงเสาที่รองรับหลังคาเกย คือ ช่วงเสาเดียวกับเฮือนใหญ่ ชายคาทำเตี้ยให้พอลอดเข้าไปได้ นิยมใช้ส่วนเกยนี้ นั่งและนอนเล่นยามค่ำคืน เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ ใช้นั่งรับประทานอาหารก็ได้ ให้รับแขกใช้หลับนอนก็ได้ แต่ส่วนใหญ่เมื่อแดดร่มลมตกเจ้าของบ้านมักจะนิยมตั้งวงตรงชานแดดมากกว่า เพราะโล่งและลมพัดเย็นเห็นท้องฟ้าดีกว่าบนเกย

2.เฮือนแฝด เป็นเฮือนที่มีจั่วคู่เพิ่มขึ้นมาจากเฮือนใหญ่ มักทำจั่วสูงเท่ากันหรือทำต่ำกว่าก็มี ที่สำคัญของจั่วแฝด คือ ต้องไปอิงกับโครงสร้างของจั่วเฮือนใหญ่ (โดยการตั้งเสาเพียงแถวเดียวเท่านั้น) ระดับพื้นเฮือนก็ทำให้อยู่ในระดับเดียวกัน โดยให้ชานแดดแล่นยาวไปตามความยาวของตัวเฮือนมากกว่าจะแล่นขวางไปทางสกัด (ล่วงขื่อ) ของเอน ชายคาทั้ง 2 จั่ว จะมีรางน้ำฝนยาวตลอด

3. เฮือนโข่ง เป็นเฮือนที่มีจั่วคู่เช่นกัน แต่จั่วแฝดจะแยกโครงสร้างออกไปต่างหาก สามารถรื้อถอนแยกหลังออกไปได้โดยง่าย มักทำช่องทางเดินผ่านตลอดความยาวของเฮือนทั้ง 2 หลัง เพื่อทะลุมาสู่เฮือนไฟ นอกจากนั้นก็มีส่วนประกอบอื่น ๆ เช่นเดียวกับ เฮือนแฝด

house

รายละเอียดเพิ่มเติม : การถวายความรู้เพื่ออนุรักษ์โบราณสถานในวัดแด่พระสงฆ์ รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2541