การอนุรักษ์พรรณไม้หายากของจังหวัดอุบลราชธานี

หัวหน้าโครงการ : พรพิมล สุริยจันทราทอง

รายงานได้นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการสำรวจพรรณไม้วงศ์ขิงในอุทยานแห่งชาติของจังหวัดอุบลราชธานี พบพืชวงศ์นี้ 7 สกุล การซื้อพันธุ์พืชและการปลูกรวบรวมพันธุ์พืชวงศ์ขิง รายละเอียดเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติผาแต้ม ภูจองนายอย และแก่งตะนะ และคู่มือจำแนกพืชวงศ์ขิง (Zingiberaceae)

ผลจากการสำรวจในอุทยานแห่งชาติ 3 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติผาแต้ม อุทยานแห่งชาติภูจองนายอย และอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ และบ้านชาวบ้านในจังหวัดอุบลราชธานี พบพืชวงศ์ขิงทั้งหมด 7 สกุล คือ สกุลข่า หงส์เหิน กระชาย ขมิ้น-กระเจียว มหาหงส์ เปราะ และขิง มีจำนวนชนิดทั้งหมด 32 ชนิด นอกจากนี้ยังมีพืชที่จำแนกชนิดยังไม่ได้อีก 5 ชนิด

อนึ่งพันธุ์ไม้ที่สำรวจพบที่อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะมีอยู่ 1 ชนิดที่พวงเพ็ญ (2544) ระบุว่าปัจจุบันคงหาพบได้ยากในธรรมชาติ คือ บัวโกเมน หรือบัวลายอุบล Curcuma rhabdota Sirirugsa and Newman แพร่กระจายอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและลาว ยังไม่เคยมีชื่อทางพฤกษศาสตร์มาก่อน Sirirugsa and Newman (2002) จึงได้ตั้งชื่อเป็นชนิดใหม่ของโลก กระเจียวพันธุ์นี้ใช้เป็นไม้ดอกไม้ประดับ

นอกจากนี้ยังมีพืชสกุลเปราะ 1 ชนิด ซึ่งพวงเพ็ญ (2544) รายงานว่าพบครั้งแรกที่จังหวัดอุบลราชธานีได้รับการตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ Prof. Kai Larsen นักพฤกษศาสตร์เดนมาร์ค ผู้ริเริ่มศึกษาพืชวงศ์ขิงของไทย เปราะชนิดนี้คือ Kaempferia larsenii Sirirugsa

Kaempferia-larsenii

พืชตระกูลข่า เป็นพืชล้มลุกหลายปี (perennial) ที่มีเหง้าเป็นลำต้นอยู่ใต้ดิน (rhizomes) มีกลิ่นหอม โดยมีส่วนลำต้นเหนือดิน (aerial stem) สั้นมาก

ใบมีการเรียงแบบสลับ (altermate) หรือ เรียงสลับระนาบเดียว (distichous) เจริญจาก pseudostem มีก้านใบสั้น เส้นใบขนานแบบขนนก (prominent midrib) รูปใบเป็นแบบรูปรี (elliptic) รูปใบหอก (lanceolate) หรือรูปขอบขนาน (oblong)

ดอกเป็นแบบ zygomorphic หรือ irregular flower คือ ลักษณะดอกที่ผ่าแบ่งดอกผ่านเส้นผ่าศูนย์กลาง จะได้ 2 ส่วนที่เหมือนกันทุกประการเพียงระนาบเดียว ลักษณะดอกเป็นช่อกระจุก อาศัยแมลงในการผสม

Kaempferia_larsenii

วงกลีบเลี้ยงประกอบด้วย 3 กลีบคล้ายกาบ มี 3 กลีบดอกที่เชื่อมติดกันเป็นหลอด มีสีแตกต่างตามชนิด มีเกสรตัวผู้อันเดียว รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ (inferior overy) มี 3 carpels 1-3 locules การติดของไข่เกิดตามแนวตะเข็บ parietal placentation หรือแบบรอบแกนร่วม (axile placentation) มีผลเป็นแบบ capsule ซึ่งแตกได้หรือผลแบบเบอรี่ไม่แตก

พวงเพ็ญ ศิริรักษ์. 2544. พรรณพืชวงศ์ขิงของไทย. ใน: รายงานการวิจัยในโครงการ BRT 2544, วิสุทธิ์ ใบไม้และรังสีมา คุ้มหอม (บรรณาธิการ). หน้า 63-77. จัดพิมพ์โดยโครงการ BRT. บริษัทจิรวัฒน์ เอ็กซเพรส จำกัด กรุงเทพฯ.

รายละเอียดเพิ่มเติมการอนุรักษ์พรรณไม้หายากของจังหวัดอุบลราชธานี รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2543