การศึกษา รวบรวม และจัดสร้างฐานข้อมูลหนังสือใบลานจังหวัดอุบลราชธานี

หัวหน้าโครงการ : อรทัย เลียงจินดาถาวร

รายงานได้นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับใบลาน อักษรธรรมอีสาน อักษรไทยน้อย ผลการสำรวจหนังสือใบลานจังหวัดอุบลราชธานี ผู้มีความรู้ความสามารถในการอ่าน/จารหนังสือใบลาน เรื่องย่อในหนังสือใบลาน เช่น กาฬเกษ กำพร้าผีน้อย ไก่แก้วหอมฮู (กำพร้าไก่แก้ว) ขุนทึง (ขุนเทือง) ขูลู-นางอั้ว จำปาสี่ต้น เชตพล เชียงเมี่ยง ทรายฟองหนองคำแสน ท้าวก่ำกาดำ (ท้าวกินรี) ท้าวคันธนาม (คัชนาม) ท้าวปาจิตต์กับนางอรพิมพ์ ท้าวผาแดง-นางไอ่ ท้าววัวทอง (อุ่นหล้าวัวทอง) ท้าวสิงห์กาโล ท้าวโสวัข ท้าวหงส์หิน ท้าวหมาหยุย นกกระจอก นางแตงอ่อน นางผมหอม ปลาแดกปลาสมอ พญาคันคาก พระคุณบิดามารดา พื้นเมืองอุบล พื้นเวียง (พื้นเวียงจันทน์) สังข์ศิลป์ไชย สีทนมโนราห์ สุพรหมโมกขาหมา 9 หาง สุริวงศ์ เสียวสวาสดิ์ ฮีต 12 คอง 14 (ฮีตบ้านคองเมือง) และสภาพปัญหาของหนังสือใบลานจังหวัดอุบลราชธานี

wattungsrimuang(3)

หนังสือใบลานของภาคอีสาน พบทั่วไปมี 3 ประเภท คือ

1.หนังสือผูก คือ ใบลานที่จารเรื่องวรรณกรรมท้องถิ่น ส่วนใหญ่เป็นวรรณกรรมนิทาน เช่น เรื่องสินไช จำปาสี่ต้น นางผมหอม ท้าวก่ำกาดำ ท้าวคัชนาม ท้าวกาฬเกด ท้าวขุลูนางอั้ว เป็นต้น วรรณกรรมนิทานส่วนใหญ่ประพันธ์เป็นกลอนลำ นิยมนำขับลำในที่ชุมชน ทำนองลำเรื่อง หรือลำพื้นสั้นในสมัยอดีต งานทำบุญศพของชาวอีสาน เจ้าภาพจะหานักขับลำมาอ่านหนังสือผูก เรียกกันว่า “อ่านหนังสือในบุญงันเฮือนดี”

2.หนังสือก้อม คือ หนังสือผูกใบลานชนิดสั้น ทำขนาดใบลานสั้นกว่าหนังสือผูกทั่วไป หนังสือก้อมจะมีขนาดยาวประมาณ 12-14 นิ้ว นำมาจารอักษรมัดร้อยด้วยสายสนอง มีไม้ประกับเช่นเดียวกับหนังสือผูก เนื้อหาที่จดบันทึกในหนังสือก้อม ได้แก่ ตำราหมอดู ตำราฤกษ์ยาม คาถาอาคม ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ

3.หนังสือเทศน์ คือ ใบลานที่บันทึกวรรณกรรมนิทานชาดก หรือคัมภีร์พุทธศาสนาอื่น ๆ หนังสือเทศน์จะมีขนาดยาวกว่าหนังสือผูก และหนังสือก้อม แบ่งเนื้อเรื่องเป็นตอน ๆ ตอนละประมาณ 24 ใบลาน เรียกว่า 1 กัณฑ์ มีสายสนองร้อยเป็นกัณฑ์ ๆ ไว้ (เจาะรูใบลาน 1-2 รู) หากเรื่องยาว ๆ จะเขียนไว้ว่าผูกที่เท่าไร และนำมาวางเรียงจนจบเรื่อง (13 กัณฑ์ หรือ 5 กัณฑ์) มีไม้ประกับ 2 แผ่น ขนาดเท่ากับใบลาน และใช้ผ้าห่มมัดไว้ โดยมีไม้นำเขียนชื่อเรื่องไว้ มัดแนบติดอยู่นอกผ้าห่อใบลาน เช่นเดียวกับหนังสือผูก

อักษรที่ใช้จารบนหนังสือใบลาน ได้แก่ อักษรตัวธรรมอีสาน อักษรตัวไทยน้อย และอักษรขอม

bailan

รายละเอียดเพิ่มเติมการศึกษา รวบรวม และจัดสร้างฐานข้อมูลหนังสือใบลานจังหวัดอุบลราชธานี รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2543