การสำรวจภูมิปัญญาด้านการจัดการอาหารปลาของเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาพื้นเมืองใน 3 จังหวัดริมแม่น้ำโขง

หัวหน้าโครงการ: กาญจนา พยุหะ

การเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นและวิธีการทำอาหารปลาของเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาพื้นเมือง ใน 3 จังหวัดที่มีพื้นที่ติดริมแม่น้ำโขง

fishery1 fishery2

ตัวอย่างการเลี้ยงปลาของเกษตรกร

ลุงเหลิม บ้านท่าดอกแก้ว อำเภอท่าอุเทน จังหวัดมุกดาหาร

ปลาที่เลี้ยง : ปลาเผาะ (ปลาหางดอก) ปลายอน (ยอนใหญ่, ยอนเล็ก) และปลายสายยู (ปลายาง หัวแหลม)

การจำหน่าย : จำหน่ายปลาทุกชนิดปีละครั้ง ในช่วงเดือนมิถุนายน

แหล่งที่มาของปลา : การทำประมงในแม่น้ำโขง

วิธีการเลี้ยงและการให้อาหาร

1.ปลาเผาะ เป็นปลาชนิดแรกที่ลุงเหลิมเริ่มเลี้ยง โดยไปซื้อลูกปลาจากประมงจังหวัดมาเลี้ยง แต่เมื่อเลี้ยงไปเรื่อย ๆ จนปลามีขนาด 700 กรัม ปลาก็ตายหมด จากนั้นมาก็เลิกนำปลาจากประมงจังหวัดมาเลี้ยง ปลาที่รำมาเลี้ยงหาได้จากการใช้โตงจับ

วิธีการเลี้ยง : นำปลาเผาะมาอนุบาลจำนวน 3000-4000 ตัว ขนาด 3 นิ้ว ในอดีตจะเลี้ยงด้วยไส้เดือนและห้ำ ปัจจุบันเริ่มแรกก็ทำการอนุบาลเหมือนดังเช่นปลาชนิดอื่นที่ลุงเหลิมเลี้ยง หลังจากนั้น 1 เดือน ก็ทำการคัดขนาดและนับปลาลงกระชัง อัตราปล่อย กระชังละ 1000 ตัว และก็ให้อาหารเช่นเดียวกับปลาชนิดอื่นจนถึงช่วงจับจำหน่าย

รายได้จากการเลี้ยงปลา : ในช่วงที่ลุงเหลิมเลี้ยงปลาเผาะจำนวน 2 กระชัง จะได้ผลผลิตกระชังละ 300 กิโลกรัม จำหน่ายกิโลกรัมละ 60-65 บาท ปัจจุบันนี้ที่เลี้ยงปลาเผาะจำนวน 5 กระชัง ได้ผลผลิตทั้งหมดกระชังละ 300 กิโลกรัมต่อกระชัง

fishery4

2.ปลายอน หาลูกปลาได้จากการทำการประมงในแม่น้ำโขง โดยใช้อวนลุง ขนาดตา 1-1.5 ซม. จะจับปลาในช่วงวันที่ 16 เมษายน – 1 พฤษภาคม ของทุกปี ในแต่ละปีจะจับลูกปลาได้ประมาณ 100000 ตัว ซึ่งปลาที่ได้ก็จะนำไปเลี้ยงประมาณ 20,000 -30,000 ตัว ลูกปลามีขนาดความยาวประมาณ 1 นิ้ว ส่วนปลาที่เหลือก็จำหน่ายให้แก่เพื่อนเกษตรกรด้วยกัน

วิธีการเลี้ยง : นำลูกปลายอนมาอนุบาลในกระชังผ้าอวนโครงเหล็ก ขนาก3*6*1.5 เมตร ตาอวนขนาด 5 มม. โดยตัวกระชังจะมีมุ้งเขียวรอบกระชังด้านบนลึกประมาณ 50 ซม. เมื่อปี 2553 ต้นทุนการทำกระชัง ประมาณ 12,000 บาทต่อกระชัง โดยจ้างเฉพาะช่างเชื่อมและซื้ออวนถัก ส่วนการอนุบาลนั้น จะเริ่มให้อาหาร ประมาณ 1-2 วัน หลังจากลงกระชัง ปลาถึงจะเริ่มกินอาหาร ให้อาหารปลาดุกเม็ดเล็ก โปรตีน 32% การให้จะให้อาหารปั้นก้อน คือ นำอาหารไปแช่น้ำแล้วนำมาปั้นเป็นก้อนขนาดเท่ากำปั้น จะให้อาหารวันละ 2 ครั้ง แต่ละครั้งจะให้ปริมาณ 10 ปั้นต่อกระชัง (ประมาณ 1 กิโลกรัมต่อกระชัง) เลี้ยงนาน 1 เดือน หลังจากนั้น จะทำการคัดขนาดและนับปลาลงกระชัง คัดปลาขนาด 2 นิ้ว โดยปลายอนเล็กปล่อย ในอัตรา 8000 ตัวต่อกระชัง และ 4000 ตัวต่อกระชัง สำหรับยอนใหญ่ อาหารที่เลี้ยงในช่วงนี้จนถึงจับจำหน่าย คือ อาหารปลาดุก โปรตีน 30% ให้วันละครั้ง ๆ ละ 1 กิโลกรัมต่อกระชัง และให้แมลงชีปะขาว และแมลงชีปะดำมาเป็นอาหารเสริมในช่วงประมาณเดือนมีนาคม ซึ่งแมลงดังกล่าวหาได้ด้วยการขับเรือออกไปกลางแม่น้ำโขงและทิ้งทุนแล้วต่อหลอดไฟเข้ากับแบตเตอรี่เพื่อล่อแมลง ลุงเหลิมจะออกไปเก็บแมลงในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน เวลา 18.00-20.00 น. ลุงเหลิมจะออกเก็บแมลงทุกวัน ในแต่ละวันจะเก็บแมลงได้วันละ 15 ถุง ๆ ละ 15 กิโลกรัม ดังนั้นในวันหนึ่งก็จะเก็บแมลงได้ทั้งหมด 225 กิโลกรัม

รายได้จากการเลี้ยง : ปลายอนจะใช้เวลาเลี้ยงทั้งหมด 13 เดือน เมื่อเลี้ยงถึงกำหนดเวลาที่จะจับจำหน่ายจะมีพ่อค้ามารับเลี้ยงถึงที่ โดยจะรับซื้อปลายอนเล็กในราคากิโลกรัมละ 100 บาท และ 120 บาท สำหรับปลายอนใหญ่ ในแต่ละครั้งที่จับจำหน่ายจะได้ผลผลิตกระชังละ 400 กิโลกรัม ซึ่งในปี 2553 เลี้ยงทั้งหมด 4 กระชัง จะได้ผลผลิตทั้งหมด 1600 กิโลกรัม ต้นทุนในการเลี้ยงประมาณ 40-50% ของรายได้ทั้งหมด ซึ่งต้นทุน เข่น การออกเรือไปเก็บแมลงชีปะขาวและแมลงชีปะดำ คือ การซื้อแบตเตอรี่ลูกละ 1500 บาท ชาร์ตไฟครั้งละ 10 บาท ชาร์ต 1 ครั้ง จะใช้ในการออกเรือได้นานประมาณ 4 ครั้ง และต้นทุนด้านอื่น ๆ

รายละเอียดเพิ่มเติม : การสำรวจภูมิปัญญาด้านการจัดการอาหารปลาของเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาพื้นเมืองใน 3 จังหวัดริมแม่น้ำโขง รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2554