ฐานข้อมูลการผลิตเส้นไหมและการใช้สีธรรมชาติในจังหวัดอุบลราชธานี

หัวหน้าโครงการ : อุไรวรรณ นิลเพ็ชร์

รายงานประกอบด้วยเนื้อหา ข้อมูลด้านวิชาการซึ่งทำการรวบรวมจากเอกสารวิชาการต่าง ๆ ในเรื่องของการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เริ่มตั้งแต่การปลูกหม่อน ไหมและการเลี้ยง การย้อมสีไหม ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจในการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมตามสถานที่ต่าง ๆ การย้อมสีธรรมชาติในจังหวัดอุบลราชธานี

การย้อมสีไหม เส้นไหมจะประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วน คือ

1.ส่วนที่เป็นเส้นใยที่แท้จริง หรือ fibroin protein

2.ส่วนประกอบที่เป็นกาว หรือ sericin protein

 นอกจากนี้เส้นไหมยังประกอบด้วย สารประกอบชนิดอื่น ๆ อีกมาก เช่น ขี้ผึ้ง ไขมัน สีธรรมชาติ เกลือและอื่น ๆ ซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ทำให้เส้นไหมดิบ มีลักษณะแข็งกระด้างและไม่เป็นเงา การติดสีย้อมมีน้อยดังนั้นการที่จะทำให้ไหมย้อมสีได้ผลดีจะต้องทำการลอกกาวไหมออก

kamin_1 kamin_6

วิธีการลอกกาวไหม (degumming or scouring)

1.การลอกกาวไหมด้วยสบู่ วิธีนี้มีคุณภาพดีให้เส้นไหมที่เงางามและเรียบสวย แต่จะเกิดการลอกไม่สม่ำเสมอและหมองคล้ำ และทำให้เกิดมลภาวะด้านน้ำเสีย

2.การลอกกาวด้วยโซดา วิธีนี้ใช้เวลาในการลอกกาวสั้นและค่าใช้จ่ายต่ำแต่อาจจะทำให้ความเสียหายแก่เส้นใน

3.การลอกกาวด้วยสบู่-โซดา วิธีนี้จะได้เส้นไหมที่ขาวกว่า การลอกกาวด้วยโซดาและยังช่วยปรับปรุงข้อเสียในการลอกกาวด้วยสบู่อีกด้วย วิธีนี้จะใช้น้ำประมาณ 30 ลิตร ต่อน้ำหนักเส้นไหมดิบ 1 กิโลกรัม สบู่ซัลไลท์ 15-20% (โดยน้ำหนักไหม) และโซดาแอช 1-1.5 กรัม/ลิตร โดยต้มเส้นไหมที่อุณหภูมิ 90-95 องศาเซลเซียส ใช้เวลาในการต้มฟอกประมาณ 20-25 นาที ในระหว่างที่ต้มเส้นไหมควรจะกลับเส้นไหมบ่อย ๆ เพื่อการกำจัดกาวเป็นไปอย่างสม่ำเสมอและทั่วถึงและไม่ควรต้มอุณหภูมิสูงกว่านี้ เพราะจะทำให้เส้นไหมฟูหงิกงอเป็นอุปสรรคต่อการกรอ จากนั้นนำไปบิดหรือสลัดเอาน้ำออก นำไปแช่น้ำร้อน 90-95 องศาเซลเซียส ประมาณ 1-2 นาที แล้วจึงนำไปซักล้างด้วยน้ำเย็นให้สะอาด บิดหรือสลัดเอาน้ำออกกระตุกเส้นไหมให้คลายออก แล้วนำไปผึ่งให้แห้ง ไม่ควรนำเส้นไหมไปตากแดดเพราะจะทำให้เส้นไหมเสื่อมคุณภาพได้โดยง่าย

4.การลอกกาวด้วยเอนไซม์ วิธีการนี้จะทำให้ลอกกาวได้สม่ำเสมอ แต่มีราคาแพง

5.การลอกกาวด้วยกรด วิธีนี้มักจะเกิดปัญหาบ่อย ๆ อีกทั้งมีปัญหาด้านคุณภาพของเส้นไหมด้วย

ในเส้นไหมบางพันธุ์นั้นเมื่อทำการลอกกาวไหมออกแล้วจะได้สีไหมที่มีสีเหลืองอ่อนหรือน้ำตาลอ่อน เมื่อทำการย้อมด้วยสีอ่อนจะทำให้สีไม่สดใส จึงจำเป็นต้องทำการฟอกขาวก่อนเพื่อให้ได้สีสดสวยและทนทาน

tinted_04

การฟอกขาวไหม

การฟอกขาว คือ การฟอกสีของเส้นไหมที่ผ่านกระบวนการลอกกาวแล้วให้มีความขาวเพิ่มขึ้น การฟอกขาวไหมนิยมอยู่ 2 วิธี คือ

1.การฟอกขาวไหมแบบออกซิไดส์ด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ โดยใช้น้ำประมาณ 30 ลิตรต่อน้ำหนักเส้นไหม 1 กิโลกรัม ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 4-14 ซีซีต่อลิตร โซเดียมซิลิเกต ปรับค่า pH 10.5-11 และสบู่เทียม (Wetting agent) 1-2 กรัมต่อลิตร ทำการฟอกที่อุณหภูมิ 90 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 25-30 นาที หรือจนกระทั่งได้ความขาวที่ต้องการ จากนั้นนำไปบิดหรือสลัดเอาน้ำออกกระตุกแล้วนำไปผึ่งให้แห้ง ทำการฟอกขาวด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ไม่ควรใช้อุณหภูมิสูงกว่า 90 องศาเซลเซียส เพราะจะทำให้น้ำยาเสื่อมคุณภาพได้ง่าย เนื่องจากการสลายตัวกลายเป็นแก๊สของไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์

2.การฟอกขาวแบบรีดิวซ์ด้วยโซเดียมไฮโดรซัลไฟด์ ประกอบด้วยปริมาณน้ำ 30 ลิตรต่อน้ำหนักเส้นไหม 1 กิโลกรัม โซเดียมไฮโดรซัลไฟด์ 1-2 กรัมต่อลิตรและสบู่เทียม (wetting agent) 1-2 กรัมต่อลิตร โดยใช้อุณหภูมิ 90-95 องศาเซลเซียส ประมาณ 25-30 นาที หรือจนกระทั่งได้ความขาวที่ต้องการ

รายละเอียดเพิ่มเติมฐานข้อมูลการผลิตเส้นไหมและการใช้สีธรรมชาติในจังหวัดอุบลราชธานี รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2542