ทำนองลำวัฒนธรรมล้านช้าง

หัวหน้าโครงการ : คำล่า มุสิกา

ลำล่องหรือลำทางยาว เป็นทำนองหลักที่หมอลำทั้งกลุ่มหมอลำกลอนและหมอลำเรื่อง มีทำนองช้า เน้นการเอื้อนเสียงให้เกิดความไพเราะ ใช้ในการพรรณนาสภาพธรรมชาติ เช่น ทุ่งนา ป่าเขา รวมถึง ความรัก ความพลัดพราก หรือเล่าเรื่องราวนิทานต่างๆ ลำล่องอาจแบ่งได้เป็น 3 ช่วง คือ ช่วงเกริ่นลา ช่วงบรรยายความ และช่วงจบหรือลง แต่ละท้องถิ่นก็จะมีวาด (Style) ที่แตกต่างกันตามสำเนียงพูด เช่น ลำล่องวาดอุบล มักจะเกริ่นลาด้วยคำว่า “ฟ้าเอย…” เป็นต้น

mholam3

ลำทางสั้น เป็นการลำที่มีทำนองและจังหวะเร็วกระชับ ไม่เน้นการเอื้อนเสียง ลำทางนั้นอาจแบ่งได้เป็น 3 ช่วง คือ ช่วงเกริ่นลา มักจะขึ้นต้นว่า “โอละหนอ” แล้วต่อด้วยกลอนลำสั้นๆ ช่วงบรรยายความ มักขึ้นต้นด้วย “โอละนอ…นวลเอย” ช่วงจบหรือลง มักจะลงด้วยคำว่า “สีนานวล….” ลำทางสั้นใช้สำหรับบรรยายเนื้อความที่ต้องการความรวดเร็ว สนุกสนาน เช่น ตอนเดินดงของหมอลำหมู่ หรือการเล่านิทานของหมอลำกลอน รวมถึงนิยมใช้ ในการแสดงหมอลำชิงชู้ ซึ่งเป็นการแสดงหมอลำรูปแบบหนึ่งที่พัฒนาขึ้นมาหมอลำกลอน ในช่วงราวปี 2500 มีการสมมติบทบาทให้เป็นฝ่ายชาย 2 คน ฝ่ายหญิง 1 คน ฝ่ายชายมักจะแสดงเป็นพ่อค้า กับชาวนา ที่มารักหญิงสาวคนเดียวกัน ต่างฝ่ายก็ต่างพยายามหาเอาข้อบกพร่องมาบอกให้ฝ่ายหญิงทราบ การแย่งชิงผู้หญิงคนเดียวกันนี้เป็นทีมาของคำว่า “หมอลำชิงชู้” นั่นเอง

รายละเอียดเพิ่มเติม : ทำนองลำวัฒนธรรมล้านช้าง รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2553