สืบสานภูมิปัญญาผ้าทอผู้ไทยในภาคอีสาน

หัวหน้าโครงการ: ประทับใจ สิกขา

ลวดลายผ้าทอผู้ไทย

ผ้าแพรวา เป็นชื่อเฉพาะที่ชาวอีสานทั่วไป เรียกผ้าชนิดหนึ่งที่ใช้สำหรับคลุมไหล่ หรือ ห่อสไบเฉียงของชาวผู้ไทย ซึ่งใช้ในโอกาสสำคัญที่มีงานเทศกาลบุญประเพณี หรืองานสำคัญอื่น ๆ

แพร/แพ (ภาษาอีสาน) หมายถึง ผ้าที่ยังไม่ได้แปรรูป มีลักษณะเป็นผืนผ้าที่เสร็จจากการทอ มักเรียกชื่อแตกต่างกันออกไปตามวัสดุที่ใช้ทอ เช่น แพรไหม แพรฝ้าย แพรอีโป้

วา หมายถึง มาตรวัดความยาวอย่างหนึ่ง ได้จากการกางแขนทั้งสองแขนออกไปจนสุดแล้วทาบกับสิ่งที่ต้องการจะวัดขนาดความยาวด้วยการทาบลงไปให้แขนตรงเป็นเส้นขนาน ทำอย่างนี้แต่ละครั้ง เรียกว่า วา (ต่อมาปรับปรุงมาตรวัดใหม่ว่า 1 วา = 4 ศอก)

ผ้าแพรวา มีความหมายว่า ผ้าทอเป็นผืนที่มีขนาดความยาว 1 วา หรือ 1 ช่วงแขน เป็นผ้าทอที่มีกรรมวิธีการทอผ้าเพื่อให้เกิดลวดลายที่มีลักษณะผสมผสานกันระหว่างลายขิดกับลายจก ลักษณะเด่นของการทอผ้าแพรวาจะต้องมีหลาย ๆ ลาย อยู่ในผืนผ้าเดียวกัน

phuthai-fabric

การทอผ้าเพื่อประโยชน์ใช้สอยของชาวอีสานนั้น จะทอผืนผ้าให้มีขนาดความยาวหลาย ๆ วา ติดต่อกันเป็นผืนยาวผืนเดียว เรียกว่า 1 หูก โดยความยาวของผ้าแต่ละหูกในการทอนั้นขึ้นอยู่กับเส้นด้ายที่ใช้เป็นเส้นตั้ง (เส้นยืน) ที่เรียกว่า เครือหูก (เคือหูก) หลังจากที่ทอเสร็จแล้วจะนำผ้ามาตัดออกเป็นชิ้น ๆ เป็นผืน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ตามลักษณะการใช้งาน เช่น นำไปห่ม เรียกว่า ผ้าห่ม จะมีขนาดความยาว 2 วา นำไปใช้เป็นผ้าอีโป้ (ผ้าขาวม้า) ก็จะมีความยาวประมาณ 1 วา กับ 1 ศอก นำไปใช้เป็นผ้าห่มตัว (ห่มเฉียง หรือ เบี่ยงบ้าย) ก็จะมีความยาวประมาณ 1 วา จึงเรียกว่า แพรวา (ราชินีแห่งไหม จังหวัดกาฬสินธุ์ : ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์)

รายละเอียดเพิ่มเติม : สืบสานภูมิปัญญาผ้าทอผู้ไทยในภาคอีสาน รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2553