การสืบสานศิลปะพื้นบ้านชนเผ่าในลาวตอนใต้ด้วยภาพถ่าย

หัวหน้าโครงการ : ประทับใจ สิกขา

lao3

เครื่องประดับชนเผ่าลาวเทิง

เครื่องประดับเป็นสิ่งบ่งบอกถึงฐานะ ช่วยเสริมความสง่างามให้ความเป็นสิริมงคลตามความเชื่อแก่ผู้สวมใส่หรือผู้ครอบครองเป็นเจ้าของเป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถบอกประวัติความเป็นไปในประวัติศาสตร์ได้ เป็นสื่อสัญลักษณ์ถึงวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม อุปนิสัยใจคอของผู้ใช้ได้เป็นอย่างดีในชนเผ่าลาวเทิงต่าง ๆ มีการสวมใส่เครื่องประดับตามความเชื่อ และในโอกาสต่าง ๆ ดังนี้

เครื่องประดับทั่วไป

ชนเผ่าลาวเทิงเผ่าต่าง ๆ ได้อพยพเคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งบ้านเรือนใกล้ตัวเมืองมากชิ้น ส่งผลให้แต่ละเผ่าเริ่มมีการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าหรือมีการใช้เงินมากขึ้น ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากชนเผ่าลาวลุ่ม ซึ่งเป็นประชากรจำนวนมากใน สปป.ลาว ดังนั้นจึงมักพบเห็นชนเผ่าลาวเทิงเผ่าต่าง ๆ สวมใส่เครื่องประดับที่มีขายทั่วไปตามท้องตลาด เช่น สร้อยข้อมือที่ทำจากทองคำ ตุ้มหูที่ทำจากเงิน

เครื่องประดับในความเชื่อและพิธีกรรม

นอกจากเครื่องประดับที่สวมใส่เพื่อความสวยงามโดยทั่วไปแล้วการสวมใส่เครื่องประดับยังเป็นอีกหนึ่งในความเชื่อของชนเผ่าลาวเทิงเผ่าต่าง ๆ เช่น สวมใส่เพื่อป้องกันภูตผี สวมใส่เพื่อรักษาโรคต่าง ๆ หรือให้โชคลาภ เครื่องประดับในความเชื่อส่วนใหญ่จะเป็นจำพวกเครื่องรางที่ทำจากเขี้ยวสัตว์หรือว่านของพืชชนิดต่าง ๆ (ว่านยา) ที่ผูกตามข้อมือ ข้อเท้าหรือบริเวณที่มีอาการบาดเจ็บส่วนเครื่องประดับที่ใช้ในพิธีกรรมส่วนใหญ่จะพบเห็นในเทศกาลงานบุญ เช่น งานบุญประเพณีของชนเผ่า (บุญกินฮีต) การแต่งงาน

อัตลักษณ์ของเครื่องประดับชนเผ่าลาวเทิงที่พบเห็นมากที่สุด สามารถแบ่งได้ 3 กลุ่ม ดังนี้

1.สร้อยลูกปัด จำพวกพลาสติก โลหะ หรือ หิน เช่น หินเลือดนก หรือหินคาร์เนเลี่ยน (Carnelian)

2.กำไล จำพวกเงิน ตะกั่ว อะลูมิเนียม ทองแดง

3.เครื่องราง จำพวกเขี้ยวสัตว์ ว่านของพืชชนิดต่าง ๆ

lao

รายละเอียดเพิ่มเติม : การสืบสานศิลปะพื้นบ้านชนเผ่าในลาวตอนใต้ด้วยภาพถ่าย รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2550