การอนุรักษ์และถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นแถบลุ่มน้ำโขงด้วยภาพถ่าย

หัวหน้าโครงการ : ประทับใจ สิกขา

การดำเนินโครงการสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลและภาพถ่ายกระบวนการผลิตงานหัตถกรรมอันเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิมของชุมชนที่อาศัยอยู่แถบลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ กระบวนการผลิตผ้าไหมพื้นเมืองย้อมสีธรรมชาติ กระบวนการผลิตผ้าฝ้ายพื้นเมืองย้อมสีธรรมชาติ กระบวนการผลิตเครื่องเงิน กระบวนการผลิตเครื่องทองเหลือง กระบวนการตีเหล็กเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ กระบวนการผลิตเครื่องจักสาน จำนวนทั้งหมด 8 แหล่ง

การฟอกไหม หรือ ด่องไหมในกระบวนการผลิตไหมย้อมสีธรรมชาติ บ้านหลุ่งประดูพัฒนา ตำบลหลุ่งประดู่ อำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา นิยมใช้ผักขม (ผักหม) กาบกล้วย ใบกล้วย งวงตาล ฝักหรือเปลือกเพกา ฯลฯ อย่างใดอย่างหนึ่งมาฝานให้บาง ๆ นำไปตากแดดให้แห่ง สุมไฟเผาจนมอดเป็นขี้เถ้า นำขี้เถ้าไปแช่น้ำทิ้งไว้ให้นอนก้น รินเอาเฉพาะน้ำใส  เรียกว่า น้ำด่าง เอาไหมที่จะฟอกลงแช่ในน้ำต่างให้เส้นไหมอ่อนตัวจนไหมนิ่มและขาว จึงนำไปต้มประมาณ 20-30 นาที เอาขึ้นจากหม้อให้เย็น นำไปแช่น้ำเย็นล้างให้สะอาด ผึ่งให้แห้ง หมั่นทก (กระตุก) บ่อย ๆ ให้เส้นไหมเหยียด

dongmhai_1

นอกจากนี้ยังมีอีกวิธีหนึ่งคือ ใช้น้ำสบู่กับโซดาแอชมาผสมกันพอประมาณ โดยให้น้ำสบู่มากกว่าโซดาแอช นำมาเคี่ยวประมาณ 1-2 ชั่วโมง จึงเอาไหมลงต้ม แล้วนำขึ้นมาซักน้ำให้สะอาด นำไปผึ่งให้แห้ง

รายละเอียดเพิ่มเติม : การอนุรักษ์และถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นแถบลุ่มน้ำโขงด้วยภาพถ่าย รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2549