การถ่ายทอดเอกสารโบราณอีสาน : กรณีศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นจังหวัดสุรินทร์ว่าด้วยเรื่องพระเวสสันดรชาดกฉบับภาษาเขมร

หัวหน้าโครงการ : สารภี ขาวดี

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน เป็นดินแดนที่มีอารยธรรมที่เก่าแก่ มีความเจริญรุ่งเรืองทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ การศึกษา ประเพณี และศิลปวัฒนธรรม ในด้านการศึกษาในอดีตนั้น ชาวอีสานโดยเฉพาะผู้ชายได้รับการศึกษาจากวัดโดยได้ศึกษาเล่าเรียนหนังสือทั้งที่เป็นตัวอักษรธรรม อักษรไทยน้อยและอักษรขอม บุคคลเหล่านั้นรวมทั้งพระสงฆ์สามเณรต่างเป็นที่ยอมรับของคนในสังคมว่าเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ เป็นปราชญ์ของท้องถิ่น สำหรับการเผยแพร่หรือการถ่ายทอดความรู้ต่าง ๆ ในสมัยนั้น

prawes

นอกจากจะใช้วิธีบอกสืบต่อกันไปหรือที่เรียกว่ามุขปาฐะแล้ว บรรพบุรุษชาวอีสานยังได้ถ่ายทอดภูมิปัญญาของคนโดยใช้วิธีการจารลงในหนังสือใบลายเป็นลายลักษณ์ด้วยอักษรไทยโบราณอีกด้วย ดังจะเห็นได้จากการพบเอกสารโบราณอีสานเป็นจำนวนมากในวัดต่าง ๆ ทั่วภูมิภาคอีสาน ทั้งที่เป็นเรื่องราวทางศาสนา คำสอน นิทาน ประวัติศาสตร์ ตำรายา และตำราการดูฤกษ์ยาม เป็นต้น เอกสารโบราณเหล่านี้นับได้ว่าเป็นมรดกอันล้ำค่าที่ควรนำมาศึกษาเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน สังคม และประเทศชาติ เพราะข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในเอกสารโบราณนั้นถือว่าเป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงพลังภูมิปัญญาของชาวอีสานที่ได้ยึดถือและปฏิบัติสืบทอดต่อ ๆ กันมา อย่างแท้จริง “มหาเวสสันดรชาดก” ที่เป็นภาษาขอมหรือเขมรจังหวัดสุรินทร์ก็เช่นเดียวกัน ไม่เพียงแต่เป็นการบันทึกภูมิปัญญาชาวบ้านในเอกสานโบราณประเภทใบลานที่สำคัญ แต่นับเป็นหลักฐานทางภาษาที่ทรงค่ายิ่งด้วย เพราะการศึกษาด้วยวิธีนี้จะทำให้ผู้ศึกษาได้เนื้อหาที่ค่อนข้างสมบูรณ์กว่าการศึกษาด้วยวิธีอื่น หากจะกล่าวอีกนัยหนึ่งคือปราชญ์โบราณอาจไม่เพียงแต่จารไว้เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของตำราสอนการฝึกเทศน์แก่ผู้ที่บวชเรียนเท่านั้น แต่น่าจะเป็นกุศโลบายในอันจะใช้เอกสารโบราณมาช่วยธำรงพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบไป รวมทั้งป้องกันมิให้พลังสร้างสรรค์ทางปัญญาเหล่านี้สูญสลายไปพร้อมกับชีวิตของตนด้วย

รายละเอียดเพิ่มเติม : การถ่ายทอดเอกสารโบราณอีสาน : กรณีศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นจังหวัดสุรินทร์ว่าด้วยเรื่องพระเวสสันดรชาดกฉบับภาษาเขมร รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2548