เทคนิคการปรับปรุงผลผลิตทุ่งหญ้าพืชอาหารสัตว์ที่ใช้ประโยชน์มาแล้ว 3 ถึง 4 ปี

หัวหน้าโครงการ :ประพนธ์ บุญเจริญ

หญ้ารูซี่ (Ruzigrass)

หญ้ารูซี่มีชื่อสามัญว่า Ruzigrass มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Brachiarai ruziziensis L. มีถิ่นกำเนิดในแถบอัฟริกาตะวันออกและอัฟริกากลาง ได้มีการนำหญ้ารูซี่พันธุ์ Kennedy (B.ruziziensis cv. Kennedy) เข้าไปปลูกทำสอบในออสเตรเลีย มีการเจริญเติบโตและสามารถปรับตัวได้ดีในเขตร้อนที่มีความชื้นสูงและน้ำไม่ท่วมขัง ปัจจุบันมีการผลิตเมล็ดพันธุ์ขายเป็นการค้า

grass

หญ้ารูซี่มีอายุปลายปี มีลักษณะการเจริญเติบโตของลำต้นแบบกึ่งตั้งกึ่งเลื้อย สูงประมาณ 0.40-1.00 เมตร ลำต้นมีขนาดเล็ก กาบใบมีลักษณะสาก ตัวใบมีรูปร่างคล้ายใบหอก ยาว 10-25 เซนติเมตร กว้าง 10-15 มิลลิเมตร ใบมีสีตองอ่อนขอบใบสีเขียวเข้มหยักเป็นคลื่น ขอบนอกสุดหยักเป็นฟันเลื่อยเล็ก ๆ กาบใบหุ้มปล้องไว้ไม่แน่นและยาวกว่าปล้อง มีเยื่อกั้นน้ำในบาง ๆ เป็นแบบขนแข็ง ช่อดอกเป็นแบบ racemose panicle เมล็ดเมื่อแก่เต็มที่มีเปลือกหุ้มเป็นสีขาวอ่อน ๆ

หญ้ารูซี่เริ่มออกดอกปลายเดือนสิงหาคมอย่างประปราย ช่อดอกที่บานในช่วงนี้จะถูกแมลงกัดกินหมดทำให้ไม่ได้ผลผลิต และมีการออกดอกพร้อมกันหมดทั้งแปลงในช่วงกลางเดือนตุลาคม ซึ่งวันที่มีจำนวนช่อดอกบานพร้อมกันสูงสุดอยู่ประมาณสิ้นเดือนตุลาคม เมล็ดมีน้ำหนักแห้งสูงสุดเมื่อมีอายุ 21 วันหลังดอกบาน ในช่วงนี้เมล็ดจะมีความชื้น 23 เปอร์เซ็นต์ และมีการร่วงหล่นของเมล็ดไปแล้วถึง 61.3 เปอร์เซ็นต์ เมล็ดมีการร่วมตั้งแต่หลังจากดอกบาน 7 วัน การร่วมของเมล็ดจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จาก 5 เปอร์เซ็นต์ ถึง 71 เปอร์เซ็นต์ ในวันที่ 24 หลังดอกบาน การร่วมของเมล็ดหญ้ารูซี่นี้เป็นปัญหาที่สำคัญสำหรับการผลิตเมล็ดพันธุ์ และคุณภาพของเมล็ด

หญ้ารูซี่ขึ้นได้มีในเขตร้อนที่มีปริมาณน้ำฝนมากกว่า 1000 มิลลิเมตร ชอบดินที่มีการระบายน้ำดีและน้ำไม่ท่วมขัง เป็นหญ้าที่เกษตรกรผู้เลี้ยงปศุสัตว์ในประเทศไทยใช้ปลูกกันอย่างแพร่หลายมากที่สุด เนื่องจากหญ้ารูซี่ผลิตเมล็ดพันธุ์ได้มากกว่าหญ้าชนิดอื่น ๆ และเมล็ดมีราคาไม่แพง โดยทั่วไปแล้วหญ้ารูซี่จะให้ผลผลิตน้ำหนักแห้งเฉลี่ย 1500-2000 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี

หญ้ารูซี่มีลักษณะเด่นเหนือหญ้าเขตร้อนชนิดอื่น ๆ คือ คุณค่าทางโภชนะไม่เปลี่ยนแปลงมากเมื่อพืชมีอายุเพิ่มขึ้น มีค่าการย่อยได้สูงและมีความน่ากินมากกว่า หญ้ารูซี่มีคุณค่าทางโภชนะสูง มีโปรตีนหยาบ 10.83 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณเยื่อใย 23.13 เปอร์เซ็นต์ และเปอร์เซ็นต์การย่อยได้ของวัตถุแห้งของหญ้ารูซี่มีค่าสูงถึง 71, 71 และ 67 เปอร์เซ็นต์ จากการตัดทุก ๆ  45, 60 และ 75 วัน ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบว่าหญ้ารูซี่ทนทานต่อการเหยียบย่ำของสัตว์เลี้ยง สามารถใช้เป็นทุ่งหญ้าแทะเล็มและตัดหญ้าแห้ง การปล่อยแทะเล็มหรือตัดไปเลี้ยงสัตว์ ควรกระทำครั้งแรกเมื่ออายุ 70-90 วันหลังจากงอก หลังจากตัดครั้งแรกสามารถปล่อยสัตว์เลียงเข้าแทะเล็มได้ทุก ๆ 40-50 วันในช่วงฤดูฝน

การทำแปลงหญ้าผสมถั่วพืชอาหารสัตว์

การปลูกสร้างแปลงหญ้าผสมถั่วในปัจจุบันเกษตรกรได้รับการส่งเสริมให้ปลูกกันมากขึ้น เรื่องจากการนำถั่วอาหารสัตว์เข้าไปปลูกผสมในทุ่งหญ้าเก่าหรือทุ่งหญ้าธรรมชาตินั้น จะทำให้ผลผลิตและคุณภาพของหญ้าพืชอาหารดีขึ้น ทั้งนี้เพราะว่าพืชอาหารสัตว์จะมีค่าโปรตีนหยาบสูงและยังเพิ่มธาตุไนโตรเจนแก่หญ้าที่ปลูกร่วมกัน ถ้ามีการจัดการที่ดีและมีอัตราส่วนระหว่างหญ้าและถั่วพืชอาหารสัตว์ที่เหมาะสม จะทำให้ทั้งหญ้าและถั่วมีการเจริญเติบโตดีและให้ผลผลิตและคุณภาพสูง นอกจากนี้ในการทำแปลงหญ้าผสมถั่วเกษตรกรสามารถลดค่าใช้จ่ายในเรื่องปุ๋ยไนโตรเจนได้ เพราะว่าถั่วสามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศโดยเชื้อแบคทีเรีย สกุลไรโซเบียมที่อาศัยอยู่ในปมรากถั่ว และในสภาวะที่สภาพแวดล้อมโดยปริมาณฝนที่แปรปรวนสูง การทำแปลงหญ้าผสมถั่วพืชอาหารสัตว์ ยังทำให้มีผลผลิตที่สามารถใช้เลี้ยงปศุสัตว์ได้บ้าง

grass2

สำหรับการทำแปลงหญ้าผสมถั่วอาจจะปลูกหญ้าชนิดเดียวร่วมกับถั่วชนิดเดียวกันหรือหลายชนิดก็ได้ จากการศึกษาวิจัยพบว่าหญ้าที่มีอายุยังน้อยจะแข่งขันถั่วพืชอาหารสัตว์ได้ดีกว่าหญ้าที่มีอายุมาก ๆ แต่การปลูกพืชแบบชนิดเดียวจะทำให้ต้นพืชมีการแตกกิ่งก้าน ใบ และทรงพุ่มดีกว่า การปลูกแบบผสมในแปลงปลูก การปลูกสร้างแปลงหญ้าผสมถั่วพืชอาหารสัตว์จำเป็นต้องรักษาปริมาณถั่วในแปลงหญ้าให้มีมากพอที่จะเกิดประโยชน์กับหญ้าที่ปลูกร่วมและสัตว์ที่แทะเล็มหรือตัดสดไปให้สัตว์กิน แต่เป็นการเพิ่มปัญหาในด้านการจัดการที่มากขึ้น และมีความยุ่งยากในการปฏิบัติดังกล่าว

nut

การให้ผลผลิตน้ำหนักแห้งสูงสุดจะขึ้นอยู่กับความสูงของต้นตอที่ถูกตัด และคุณค่าทางโภชนะจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาการแทะเล็มของสัตว์เลี้ยง ถ้าช่วงอายุการแทะเล็มสั้นจะมีค่าโปรตีนสูง (CP) ได้ทำการศึกษาปลูกหญ้ารูซี่ผสมถั่วเวอราไนสโตโล พบว่า การตัดทุ่งหญ้ารูซี่ผสมถั่วเวอราโนสโตโลที่อายุหลังปลูก  60 วัน และครั้งต่อไป ๆ ไป ทุก ๆ 45 วัน พืชอาหารสัตว์จะให้ผลผลิตน้ำหนักแห้งและคุณภาพสูงสุด โดยให้เหลือต้นตอสูงจากพื้นดิน 1.5 นิ้วขึ้นไป ในสภาพแวดล้อมของมหาวิทยาลัยขอนแก่น และจากการศึกษาผลผลิตของหญ้าซิกแนลและถั่วเวอราโนสโตโลในทุ่งหญ้าถั่วผสมที่มีความสูงต่ำของต้นตอระหว่าง 2.50-12.50 เซนติเมตร และมีระยะห่างระหว่างแถวปลูกหญ้าระหว่าง 25-100 เซนติเมตร ไม่มีผลต่อผลผลิตน้ำหนักแห้งของหญ้าซิกแนลผสมถั่วเวอราโนสะโตโล

nut3

รายละเอียดเพิ่มเติม : เทคนิคการปรับปรุงผลผลิตทุ่งหญ้าพืชอาหารสัตว์ที่ใช้ประโยชน์มาแล้ว 3 ถึง 4 ปี รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมปี 2546