กระบวนทัศน์ของกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมต่อการพัฒนาทุ่งหญ้าพืชอาหารสัตว์

หัวหน้าโครงการ : ประพนธ์ บุญเจริญ

รายงานนี้ได้รวบรวมความรู้และเก็บข้อมูลที่สำคัญทางด้านกายภาพ ชีวภาพ เศรษฐกิจและสังคม ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทุ่งหญ้าพืชอาหารสัตว์ของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ในเขตพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีและศรีสะเกษ ซึ่งได้ทำการสังเคราะห์และวิเคราะห์ข้อมูลทางด้านทุติยภูมิ ข้อมูลการเกษตรและแนวทางปฏิบัติในสภาพแปลงปลูกพืชอาหารสัตว์โดยเกษตรกรมีส่วนร่วม

cow2

จากการศึกษากระบวนทัศน์ของกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่มีต่อการพัฒนาทุ่งหญ้าพืชอาหารสัตว์ ทำให้ทราบปัจจัยที่สำคัญที่มีต่อการพัฒนาทุ่งหญ้าพืชอาหารสัตว์ของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดศรีสะเกษ มีดังต่อไปนี้

1.เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมเกือบทุกราย มีความต้องการปลูกพืชอาหารสัตว์เลี้ยงโคนมทั้งนี้เพราะ เกษตรกรส่วนใหญ่มีความพึงพอใจเนื่องจากโคนมที่เกษตรเลี้ยงมีสุขภาพดีขึ้น และที่สำคัญการปลูกพืชอาหารสัตว์ช่วยทำให้ลดเวลาและแรงงานในการออกไปเกี่ยวหญ้าตามธรรมชาติ และลดค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารข้นราคาแพง

2.เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมเกือบทุกราย ประสบปัญหาด้านพื้นที่ถือครองต่อครัวเรือนน้อย และมีพื้นที่สำหรับปลูกสร้างแปลงพืชอาหารเพียงประมาณ 3-5 ไร่ต่อครัวเรือน ซึ่งถือว่าน้อยมากทำให้การขยายพื้นที่ปลูกเป็นไปได้ยากมาก ดังนั้นเกษตรกรจะใช้ประโยชน์จากแปลงหญ้าพืชอาหารสัตว์ที่มีอยู่ค่อนข้างรุนแรง ทำให้แปลงหญ้าพืชอาหารสัตว์ไม่คงทน และมีอายุการใช้ประโยชน์ เพียง 1-2 ปี

3.เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมประสบปัญหาด้านตลาดสำหรับการรับซื้อน้ำนมดิบ ซึ่งไม่มีแหล่งตลาดหรือโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม ที่มาซื้อน้ำนมดิบที่แน่นและราคาไม่ผันแปรตามนัก โดยเฉพาะช่วงระยะเวลาการปิดเทอมของโรงเรียนที่ทางโรงเรียนหยุดรับนมพาสเจอร์ไรส์ ทำให้เกษตรกรไม่สามารถขายน้ำนมดิบได้เลย

4.สภาพพื้นที่ปลูกหญ้าแปลงหญ้าพืชอาหารสัตว์ไม่เหมาะสม ส่วนใหญ่เป็นที่ลุ่มน้ำท่วมขังเกษตรกรใช้สำหรับปลูกข้าวเป็นส่วนใหญ่

grass

5.การรวมกลุ่มของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมยังขาดการส่งเสริมและช่วยเหลือจากภาครัฐ ทำให้ขาดระบบการตรวจสอบ และประสบปัญหาการบริหารจัดการล้มเหลวตลอดมา

6.เกษตรกรมีสมาชิกในครัวเรือนที่อยู่ในวัยใช้แรงทำงานน้อยเกินไป ส่งผลกระทบต่อการทำกิจกรรมการเกษตร และไม่สามารถพัฒนาอาชีพได้ดีเท่าที่ควร

7.คุณภาพผลิตภัณฑ์น้ำนมดิบไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาตรวจสอบและให้ข้อแนะนำช่วยเหลือและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น

8.เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมยังใช้อาหารข้นสำหรับเลี้ยงโคนม ทำให้มีต้นทุนการผลิตน้ำนมดิบสูง ซึ่งถ้าเกษตรกรตระหนักถึงการพัฒนาปลูกสร้างแปลงหญ้าพืชอาหารสัตว์ หรือการพัฒนากลุ่มเกษตรกรผู้มีอาชีพในการปลูกหญ้าขายให้สำหรับผู้เลี้ยงโคนม น่าจะสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาหารหยาบคุณภาพดีได้ดียิ่งขึ้น

รายละเอียดเพิ่มเติมกระบวนทัศน์ของกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมต่อการพัฒนาทุ่งหญ้าพืชอาหารสัตว์ รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2548