ความหลากหลายของเห็ดในพื้นที่สวนสัตว์อุบลราชธานี ปี 2558

หัวหน้าโครงการ : ชริดา ปุกหุต

เห็ด (mushroom) เป็นสิ่งที่มีชีวิตที่พบได้ในสภาพธรรมชาติ เห็ดไม่สามารถสร้างอาหารเองได้จึงต้องย่อยสลายซากพืชเพื่อนำมาเป็นสารอาหาร สร้างส่วนประกอบของเซลล์และสร้างพลังงานในการดำรงชีวิต ดังนั้นบริเวณที่พบเห็ดได้บ่อยคือ บริเวณที่มีซากใบไม้ ท่อนไม้ รากไม้ โคนต้นไม้ มูลสัตว์ เป็นต้น เห็ดเจริญได้ดีเมื่อมีสารอาหารและความชื้นสูง ในฤดูฝนจึงมักพบเห็นเห็ดได้บ่อยทั่วไป แต่เห็ดบางชนิดที่มีโครงสร้างแห้งหรือแข็งก็พบเห็นได้ตลอดปี ดอกเห็ด (fruiting bodies, sporophores) หมายความถึง โครงสร้างของเห็ดมักมีรูปร่างต่างๆ เช่น ทรงร่ม ทรงกลม เป็นถ้วย เป็นแผ่น เป็นหิ้ง เป็นแท่ง คล้ายเขากวางหรือปะการัง เป็นต้น ดอกเห็ดหลายชนิดมีคุณค่าทางอาหารสูงและรสชาติดี แต่ดอกเห็ดบางชนิดเป็นพิษ โดยมีสารพิษที่ทำลายเซลล์และอวัยวะต่างๆ ในร่างกายได้ เส้นใยของเห็ดที่อยู่ภายในสับสเตรทหรือวัสดุที่เป็นอาหารของเห็ดจะปล่อยเอนไซม์หรือน้ำย่อยไปสลายสับสเตรทให้มีขนาดเล็กลงแล้วดูดซับสารอาหารเข้ามาสร้างเซลล์เส้นใยที่ขยายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมากพอที่จะสร้างเป็นดอกเห็ด ดังนั้นหน้าที่หลักของเห็ดในธรรมชาติคือการหมุนเวียนสารอาหารสร้างความสมดุลในระบบนิเวศ เนื่องจากเห็ดดำรงชีวิตได้โดยสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ทั้ง พืช สัตว์ แมลง จุลินทรีย์อื่นๆ และสภาพแวดล้อมทั้งทางกายภาพ ดังนั้นความหลากหลายของเห็ดจึงเป็นตัวบ่งชี้ถึงความสมบูรณ์ของสภาพธรรมชาติในแหล่งนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี ทั้งในด้านความหลากหลายของชนิด (species diversity) ความหลากหลายของพันธุกรรม (genetic diversity) และความหลากหลายของระบบนิเวศ (ecological diversity) ซึ่งข้อมูลพื้นฐานด้านความหลากหลายทางชีวภาพของเห็ด สามารถนำไปใช้ในการจัดการและอนุรักษ์สภาพธรรมชาติ 

การดำเนินโครงการสามารถรวบรวมตัวอย่างเห็ดที่พบ ทั้งหมด 58 ตัวอย่าง จำแนกได้เป็น 42 ชนิด

 เห็ดป่า-สวนสัตว์อุบลราชธานี-ดงฟ้าห่วน

รายละเอียดเพิ่มเติม : ความหลากหลายของเห็ดในพื้นที่สวนสัตว์อุบลราชธานี รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2558