การรวบรวมข้อมูลงานหัตถกรรมเครื่องจักสานไม้ไผ่และหวาย

หัวหน้าโครงการ: ประทับใจ สิกขา

รายงานนี้ได้นำเสนอข้อมูลและจำแนกประเภทรูปแบบผลิตภัณฑ์เครื่องจกสานไม้ไผ่และหวาย ที่เป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านในสังคมชนบทอีสานในรูปแบบของภาพถ่าย ข้อมูลเครื่องจักสานของไทย เครื่องจักสานของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เครื่องมือที่ใช้ในการทำเครื่องจักสาน คุณสมบัติของไม้ไผ่กับการจักสาน การจักและการเหลาตอก ข้อมูลเครื่องจักสานจาก ต.เกษม ต. ไหล่สูง ต. อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี เช่น ก่องข้าว กระติบข้าว ข้อง สุ่ม หวดนึ่งข้าว ต.กลาง ต.นากระแซง อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี เช่น ไซ คันโซ่ ข้อง คุน้ำ ตุ้มนก ก่องข้าว ข้องลอย (ข้องเป็ด)  ต.บุ่งหวาย ต.โนนโหนน อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เช่น ก่องข้าว  ต.สำโรง อ.สำโรง จ.อุบลราชธานี เช่น ก่องข้าว  ต.กาบิน อ.กุดข้าวปุ้น จ.อุบลราชธานี เช่น หมวก  ต.ห้วยไผ่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี เช่น กระติบข้าว  ต.คอแลน อ.บุณฑริก จ.อุบลราชธานี เช่น หวดนึ่งข้าว

wai wai2

กระติบข้าว และก่องข้าว

กระติบข้าว และก่องข้าวอีสานในแถบจังหวัดในอีสานกลางและอีสานใต้ มีรูปแบบเฉพาะตนที่ต่างกัน โดยมีรูปแบบและวิธีการสานที่เป็นของตนเองตามความนิยมของท้องถิ่น ซึ่งยากที่จะสืบสาวไปได้ว่า ใครเป็นผู้คิดต้นแบบและทำมาแต่เมื่อใด ทราบแต่เพียงว่า เป็นแบบอย่างที่นิยมทำกันมาแต่บรรพบุรุษ และทำสืบทอดกันเรื่อยมาจนปัจจุบัน

kongkao

ก่องข้าวแบบแรกที่จะกล่าวถึง คือ ก่องข้าวที่ใช้กันในบริเวณอีสานกลาง โดยเฉพาะจังหวัดมหาสารคาม ร้อยเอ็ด ขอนแก่น นั้น เป็นก่องข้าวที่มีลักษณะและรูปแบบต่างไปจากก่องข้าวที่สานด้วยไม้ไผ่ของถิ่นอื่น ๆ คือ ก่องข้าวชนิดนี้ประกอบด้วย 3 ส่วน ส่วนฐาน ทำด้วยไม้ตามแต่จะหาได้เป็นแผ่นไม้กากบาทไขว้กันเพื่อใช้เป็นฐานสำหรับตั้ง ที่ฐานนี้บางที่ก็แกะเป็นลวดลายเพื่อความสวยงามไปด้วย ส่วนตัวก่องข้าว สานด้วยไม้ไผ่ซ้อนกัน 2 ชั้นเป็นรูปคล้ายดอกบัว แต่ขอบสูงขึ้นไปเหมือนโถ โดยมีส่วนฝา รูปร่างเหมือนฝาชีครอบอีกชั้นหนึ่ง โดยส่วนขอบของฝาจะใช้ก้านตาลเหลาเป็นแผ่นบาง ๆ โค้ง ทำขอบฝาเพื่อความมั่นคง การสานก่องข้าวชนิดนี้จะต้องสานตัวก่องข้าวซ้อนกัน 2 ชั้น เพื่อให้เก็บความร้อนได้ดี โดยที่จะสานโครงชั้นในก่อนด้วยลายสองที่ก้นเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมเพื่อให้เกิดมุมสี่มุมสำหรับผูกกับไม้กากบาทที่เป็นฐานได้สะดวก เสร็จแล้วจึงสานส่วนต่อขึ้นมาเป็นตัวก่องข้าวด้วยลายขัด (ภาษาถิ่นเรียก “ลายกราว”) โดยใช้ตอกตะแคงเส้นเล็ก ๆ จนได้ตามขนาดต้องการแล้วจึงสานต่อก่องข้าวด้านนอกครอบอีกชั้นหนึ่งด้วยตอกปื้นเป็นลายสองยืน หรือลายสองเวียน เพื่อให้เกิดความสวยงาม โดยที่ตัวก่องข้าวที่สานหุ้มนี้จะต้องสานให้ใหญ่กว่าตัวแบบภายใน แล้วพับปากก่องข้าวหุ้มกลับเข้าไปภายในเพื่อความเรียบร้อยอีกครั้งหนึ่ง โดยใช้เส้นหวายผูกคาดไว้ภายนอกเพื่อรับขอบของส่วนฝาไปในตัว เมื่อได้ตัวก่องข้าวแล้วจึงทำฐานในผายออกรับกับรูปทรงของก่องข้าวด้วยไม้ฐานนี้จะผูกติดกับส่วนก้นสี่มุมด้วยหวาย เมื่อได้ตัวก่องข้าวพร้อมฐานแล้วจึงสานฝา ซึ่งมักจะสานด้วยตอกปื้นค่อนข้างใหญ่เป็นลายแฉล่วหรือลายตาข่าย หรือลายตาเข่ง แล้วแต่จะเรียก โดยสานเป็นรูปคล้ายฝาชี ส่วนที่ขอบของฝาจะใช้ก้านตาลทำเป็นแผ่นโค้งเข้าขอบเพื่อความคงทน เมื่อได้ส่วนประกอบที่สำคัญพร้อมแล้วจะต้องทำหูสำหรับร้อยเชือกเพื่อใช้สะพายบ่าหรือใช้แขวน จากรูปทรงและวิธีการของก่องข้าวแบบนี้จะเห็นว่าเป็นการสร้างรูปแบบของเครื่องใช้ให้สนองประโยชน์ใช้สอยได้ดีนั่นเอง และเห็นว่าก่องข้าวชนิดนี้มีความสมบูรณ์ทั้งในด้านรูปทรงที่สวยงามและความสมบูรณ์ในด้านประโยชน์ใช้สอย

ตั้งแต่ส่วนฐานหรือก้นที่ทำด้วยไม้กากบาท เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ก่องข้าวตั้งได้ดีไม่ล้มง่ายแทนที่จะเป็นเพียงฐานธรรมดา ช่างสานก่องข้าวยังได้ทำให้มีลักษณะผายออกให้รับกับรูปทรงของก่องข้าวเพื่อความสวยงามด้วย ส่วนฐานก่องข้าวนี้คงจะได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากเชี่ยนหมากไม้ของอีสานเพราะบางครั้งฐานจะแกะเป็นลวดลาย เช่นเดียวกับเชี่ยนหมากไม้ ส่วนรูปทรงของก่องข้าวอาจจะมีอิทธิพล “ก่องข้าวขวัญ” ของภูไท ซึ่งเป็นก่องข้าวที่มีรูปทรงใกล้เคียงกันเพียงแต่ก่องข้าวขวัญสูงชะลูดและได้รับการประดับตกแต่งมากกว่า

ส่วนฝาก่องข้าวนั้นมีลักษณะคล้ายฝาชีมีความประสานกลมกลืนกับรูปทรงของตัวก่องข้าว จึงนับว่าก่องข้าวชนิดนี้เป็นก่องข้าวที่สานด้วยไม้ไผ่ที่มีความงามและมีลักษณะเฉพาะถิ่นที่มีความสมบูรณ์ในตัวที่น่าสนใจยิ่ง

kratip

นอกจากก่องข้าวแบบดังกล่าวแล้ว ยังมีภาชนะใส่ข้าวเหนียวอีกแบบหนึ่งที่นิยมใช้กันในบริเวณภาคอีสานเหนือ เรียกว่า “กระติบ”  สานด้วยไม้ไผ่เช่นกันแต่รูปแบบและวิธีการสานแตกต่างออกไป คือ เป็นกระติบทรงกระบอกคล้ายกระป๋องไม่มีขา มีเพียงส่วนตัวกระติบและส่วนฝาเท่านั้น วิธีการสานจะสานด้วยตอกไม้เฮียะ ซึ่งเป็นตอกอ่อน ๆ โดยจะสานเป็นรูปทรงกระบอกให้มีความยาวเป็นสองเท่าของความสูงของตัวกระติบที่ต้องการเสร็จแล้วจะต้องพับทบกลับส่วนหนึ่งไว้เป็นด้านบน ก็จะได้ตัวกระติบ กระติบชนิดนี้จะสานลายด้านในและด้านนอกต่างกันคือ ส่วนที่จะพับทบกลับไว้ด้านในจะสานด้วยลายอำเวียน ส่วนด้านนอกที่ต้องการความสวยงามจะสานด้วยลายสองยืน หรือยกดอกเพื่อความสวยงาม ส่วนก้นจะต้องสานเป็นแผ่นกลม ๆ ต่างหาก แล้วนำมาผนึกติดกับตัวกระติบภายหลัง ส่วนฝากระติบก็จะทำเช่นเดียวกับตัวกระติบ กระติบชนิดนี้บางครั้งอาจจะใช้ก้านตาลขดเป็นวงทำเป็นส่วนฐาน และเพื่อความคงทนด้วย แต่ถ้าเป็นแบบเล็ก ๆ อาจจะไม่ต้องเสริมฐานก็ได้

กระติบข้าวเหนียวอาจมีรูปแบบวิธีการสานต่างไปจากก่องข้าวที่นิยมใช้กันในอีสานกลาง แต่ประโยชน์ในการใช้สอยไม่แตกต่างกัน คือ ใช้ใส่ข้าวเหนียวนึ่งได้ดีเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างเหล่านี้อาจจะมาจากความนิยมของท้องถิ่นแต่ละที่ที่ทำสืบทอดต่อ ๆ กันมาแต่บรรพบุรุษ และในปัจจุบันนี้กระติบและก่องข้าวทั้งสองชนิดยังคงรักษารูปทรงและลักษณะเฉพาะถิ่นของตนไว้ได้ก็เพราะผู้สานแต่ละถิ่นมักจะมีความถนัดและเคยชินที่จะทำตามแบบอย่างของตนมากกว่าที่จะทำเลียนแบบกระติบหรือก่องข้าวถิ่นอื่นซึ่งตนเองไม่คุ้นเคยและโดยทั่วไปแล้วการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของเครื่องจักสานพื้นบ้านนั้นเป็นไปได้ยากเพราะผู้สานจะรู้สึกติดขัดและไม่ชอบทำในสิ่งที่ตนไม่ถนัด จึงเห็นได้ทั่วไปว่า เครื่องจักสานพื้นบ้านที่แท้จริงนั้นจะเปลี่ยนแปลงไปบ้างก็เป็นไปอย่างช้า ๆ ซึ่งอาจจะเปลี่ยนเพียงการเพิ่มสีสัน หรือนำวัสดุสมัยใหม่ เช่น พลาสติก เข้ามาประยุกต์ใช้ประกอบกับเครื่องจักสานซึ่งก็เป็นไปตามสมัยนิยมมากกว่าความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบดั้งเดิมของตน

รายละเอียดเพิ่มเติมการรวบรวมข้อมูลงานหัตถกรรมเครื่องจักสานไม้ไผ่และหวาย รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2546