การรวบรวมประเพณีพื้นบ้านตำนานพื้นเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

หัวหน้าโครงการ : มะลิวัลย์ สินน้อย

รายงานได้นำเสนอประเพณีพื้นบ้านตามฮีต 12 คอง 14 ของชาวอีสาน อันได้แก่งานบุญต่าง ๆ คือ บุญเข้ากรรม บุญคูณลาน บุญข้าวจี่ บุญพระเหวด บุญสงกรานต์ บุญบั้งไฟ บุญซำฮะ บุญเข้าพรรษา บุญข้าวประดับดิน บุญข้าวสาก บุญออกพรรษา บุญกฐิน และตำนานพื้นเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

boonkaosak3

มูลเหตุที่ทำบุญข้าวประดับดิน บุญข้าวสาก

มีตำนานมาแต่ครั้งพุทธกาลว่ามีเปรตซึ่งเป็นวิญญาณพระญาติของพระเจ้าอชาติศัตรู มาร้องขอส่วนบุญกับพระเจ้าอชาติศัตรูทำให้พระองค์รำคาญ จึงเรียกถามว่าเสียงร้องเป็นเสียงอะไร พระพุทธองค์จึงตอบว่าเป็นเสียงของเปรตซึ่งเป็นพระญาติของพระของพระเจ้าอชาติศัตรูมาขอส่วนบุญ พระเจ้าอชาติศัตรูจึงได้ทำบุญ รวมทั้งห่อข้าวน้อยด้วย อุทิศให้ญาติที่เป็นเปรต เสียงรบกวนจึงหายไป

อีกส่วนหนึ่งชาวอีสานกล่าวกันว่าในวันดับเดือน 9 และวันเพ็ญเดือน 10 ยมบาล ซึ่งเป็นนายวิญญาณทั้งหลายจะปล่อยวิญญาณที่ถูกคุมขังหรือรับโทษขึ้นมาพบญาติพี่น้องที่มีชีวิต ชาวอีสานจึงนิยมทำห่อข้าวน้อยอุทิศให้ญาติที่เป็นเปรตนั้น ข้าวห่อน้อยประกอบด้วยอาหารทั้งคาวหวาน อย่างละเล็กละน้อยห่อด้วยใบตอง อีกห่อหนึ่งจะมีหมาก พลู บุหรี่ แล้วกลัดทั้งสองห่อติดกัน จากนั้นนำไปวางไว้ตามโคนต้นไม้ข้างฐานโบสถ์ ฐานวิหารในวัดใกล้บ้าน สำหรับข้าวประดับดินนิยมวางข้าวห่อน้อยเวลาตี 4 เพื่ออุทิศให้เปรตที่เป็นญาติ ส่วนข้าวสากนิยมนำไปวางเวลากลางวันก่อนเพล เมื่อเปรตตนใดได้รับเครื่องพลีจะสรรเสริญให้พรแก่ญาติที่เป็นมนุษย์อยู่ ให้มีความสุขความเจริญ ส่วนเปรตที่ขึ้นมาแล้วไม่ได้รับเพราะญาติไม่ทำห่อข้าวให้ เปรตนั้นจะเสียใจและอับอายแก่เปรตทั้งหลาย บางตนแช่งชักหักกระดูกให้ลูกหลานไม่มีความสุขความเจริญ ดังนั้นเพื่อให้เปรตที่เป็นญาติมีความสุข และตนเองได้รับพรจากเปรต ชาวอีสานจึงนิยมทำบุญข้าวประดับดินและข้าวสากสืบต่อกันมา

boonkaosak2

รายละเอียดเพิ่มเติม : การรวบรวมประเพณีพื้นบ้านตำนานพื้นเมือง จังหวัดอุบลราชธานี รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2546

next-to