จัดทำหนังสือเผยแพร่สถาปัตยกรรมชิ้นเอกของภาคอีสาน “หอไตรวัดทุ่งศรีเมือง”

หัวหน้าโครงการ : สุรชัย ศรีใส

ผู้ร่วมโครงการ : อำนวย วรพงศธร

หอไตรวัดทุ่งศรีเมือง เมื่อมองจากภายนอกอาคาร จะมีลักษณะของเรือนไทยภาคกลาง เพราะได้รับอิทธิพลของศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ส่วนประกอบต่าง ๆ ของตัวอาคารจึงเป็นรูปแบบของเรือนไทยภาคกลาง เช่นฝาปะกน หย่อย คันทวย ผสมผสานลักษณะของโบสถ์วิหารทั่ว ๆ ไป โดยเฉพาะส่วนยอดของอาคารที่เห็นได้อย่างเด่นชัด ได้แก่ ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยมีความเป็นท้องถิ่นอยู่มากพอสมควร เครื่องประดับตกต่างหลังคา ได้แก่ หน้าบัน ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคลำยอง ไขราจั่วและไขราปีกนก มีลักษณะเป็นงานช่างหลวงแบบรัตนโกสินทร์ในสมัยรัชกาลที่ 3 หรือแบบอยุธยาตอนปลายดั้งเดิม ได้รับอิทธิพลจากเวียงจันทน์อีกทีหนึ่ง รูปแบบจึงเป็นช่อฟ้าในลักษณะตัดทอน ลำตัว คอยาวโค้งมีปากเป็นนก (ครุฑ) หงอนเป็นลายโค้งสะบัดไปด้านหลัง ใบระกามีลักษณะเป็นเหมือนครีบสันหลังของลำตัวพญานาค เป็นใบเรียวปลายแหลมโค้ง นาคลำยองเป็นแนวคิดการออกแบบให้คล้ายธรรมชาติของสัตว์เลื้อยคลาน ในกิริยาอาการเลื้อยของงูหรือพญานาค เมื่อเลื้อยลงจากที่สูงจะต้องมีการพักตัว หรือม้วนตัวเกี่ยวกับสิ่งที่รองรับเพื่อป้องกันการพลัดตก เป็นลำตัวนาคโค้งมาบรรจบกัน ส่วนกลางเป็นเหมือนรูปหางไหล เรียก งวงไอยรา และเคลื่อนลงมาสิ้นสุดที่หางหงส์เป็นลังหนาทรงนาค แบบลดตัดทอนรูปทรงง่าย ๆ และมีปลายหงอนโค้ง

watthungsrimuang

ที่หน้าบันของหอไตรส่วนที่เป็นรูปทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่ว แกะสลักไม้ลวดลายรูปต้นไม้ที่มี “ดอกกาละกับ” เป็นรูปแบบลาว ที่มีโครงสร้างของต้นไม้เป็นรูปหางไหลคล้ายรูปตัวเอสเป็นแกนกลาง มีกิ่งเลื้อยโค้งรับส่งตามแกนกลาง ปลายกิ่งเป็นดอกกาละกับประกอบกิ่งไม้ มีลูกเล่น ทำให้ตื่นเต้นน่าสนใจ คือ ส่วนด้านล่างขวามือ มีกิ่งก้านที่โค้งขัดสอดทับกันไปมา และโค้งรับส่งขึ้นตามแกนกลาง ซึ่งต่างจากด้านซ้ายที่มีกิ่งก้านขึ้นส่งตามแกนกลางแบบธรรมดา

watthungsrimuang3

ดอกกาละกับ เป็นดอกไม้ที่ใช้ประดับตกแต่งในหลายส่วนของหอไตรวัดทุ่งศรีเมือง ไม่ว่าจะเป็นหน้าบัน บานประตู หน้าต่าง อกเลา ลูกฟักร่องตีนช้าง ฯลฯ เป็นดอกไม้รูปแบบลาว เชื่อว่าออกแบบพัฒนามาจากดอกพุดตานในสมัยรัชกาลที่ 3 พบมากที่เวียงจันทน์ สมัยพระเจ้าอนุวงศ์ จึงมีอิทธิพลส่งผ่านถึงลวดลายดอกไม้ของหอไตรวัดทุ่งศรีเมือง

ดอก “กาละกับ” ยังเป็นดอกไม้ที่ได้รับความนิยมในการแกะสลักลวดลายตามโบราณสถานต่าง ๆ ในจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดใกล้เคียง แม้กระทั่งลายแกะสลักบานประตูหอพระบาท วัดทุ่งศรีเมือง ก็ยังแกะสลักก้านขอที่ออกช่อดอก “กาละกับ” รวมไปถึงรวงผึ้งด้านหน้าหอพระบาท ที่มีลวดลายต้นไม้ที่มีการออกช่อดอก “กาละกับ” เช่นกัน ซึ่งหอพระบาทมีประวัติการก่อสร้างมาก่อนหอไตร จึงแสดงให้เห็นว่าลวดลายดอกกาละกับได้มีมานานแล้วในแถบนี้

วัดในจังหวัดอุบลราชธานี ได้มีการแกะสลักลายดอกกาละกับ ประดับอยู่ตามวัดต่าง ๆ หลายวัดเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นบานประตู และหน้าต่างอุโบสถหลังเดิมของวัดมณีวนาราม บานประตูพระอุโบสถหลังเดิมของวัดสุปัฏนารามวรวิหาร และท่านประดิษฐานพระทองทิพย์ วัดศรีอุบลรัตนาราม รวมไปถึงจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ บานประตูหอไตรวัดมหาธาตุ จังหวัดยโสธร ดอกกาละกับจึงเป็นลายดอกไม้ที่เป็นเอกลักษณ์ได้รับความนิยมอย่างมากของสกุลช่างล้านช้าง

รายละเอียดเพิ่มเติม :