การสำรวจวัฒนธรรมการใช้ประโยชน์จากสัตว์น้ำของประชาชน 3 จังหวัดริมแม่น้ำโขงของไทยและ 3 แขวงของลาวใต้

หัวหน้าโครงการ : ชำนาญ แก้วมณี

ผู้ร่วมโครงการ : กาญจนา พยุหะ

การสำรวจข้อมูลจากชาวประมง บ้านเวินบึก บ้านกุ่ม บ้านตามุย อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี

เมื่อ 20-30 ปีก่อน ในแม่น้ำโขงมีความหลากหลายทางระบบนิเวศและมีปลาปริมาณมาก เนื่องจากเมื่อก่อนนั้นมีประชากรที่อาศัยอยู่ในบริเวณอำเภอโขงเจียมมีปริมาณน้อย ดังนั้น จึงส่งผลให้ทรัพยากรและระบบนิเวศบริเวณชายฝั่งแม่น้ำโขงรวมถึงในแม่น้ำโขงยังมีความอุดมสมบูรณ์ รวมไปถึงในอดีตนั้นยังไม่มีการติดต่อค้าขายกับพื้นที่อื่นส่วนมากปลาที่หาได้ก็จะนำมาประกอบอาหารแค่พอกิน จึงอาจกล่าวได้ว่าในอดีตมีการดำรงชีวิตแบบพอเพียง ส่วนปลาที่พบมาในอดีตจะเป็นกลุ่มของปลาตะเพียนซึ่งเป็นปลาที่มีการจับและพบเป็นจำนวนมากในแม่น้ำโขง โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับปลาที่จับได้เมื่อ 20-30 ปีก่อน ดังต่อไปนี้

1. ปลาสร้อย พบมากในเดือนธันวาคม-มกราคม ใช้แหในการจับ 1 วัน/100 กก.-150 กก.

2. ปลาตาดำ (ปลาปากเปลี่ยน) พบมาในเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน

3. ปลาสะอี พบมาในเดือนธันวาคม-มกราคม

4. ปลาอีตู๋ พบมาในช่วงเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มต้นของฤดูฝน

5. ปลาโจก จะพบในช่วงเดือนพฤษภาคม หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าช่วงน้ำแดง ซึ่งขนาดปลาโจกที่จับได้มีน้ำหนักประมาณ 4-5 กิโลกรัม ใช้ข่ายหรือมองเห็นในการจับ ซึ่งข่ายจะทำมาจากด้ายไนลอน ปริมาณน้ำหนักที่จับได้ต่อวัน 50 กิโลกรัม/วัน

6. ปลาเผาะ พบในช่วงเดือนพฤษภาคม มีวิธีการจับโดยใช้มอง โดยวิธีการไหลของมอง เป็นวิธีการที่ปล่อยให้มองไหลไปตามกระแสน้ำโดยมีการตับขอบของมองคนละข้าง 1 รอบ ใช้เวลา 1 ชั่วโมง โดยจะจับปลาได้น้ำหนักมากถึง 100-150 กิโลกรัม ขนาดตัวที่จับได้มีตั้งแต่ 5 ขีด – 5 กิโลกรัม

7. ปลาเขี้ยวโก ปลากลมในแตง ปลาเลียหิน และปลารากกล้วย ซึ่งเป็นปลาที่นิยมจับมากินอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งจะพบในช่วงเดียวกันกับปลาสร้อย มีวิธีการจับโดยใช้ช้อน ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการประมงที่ชาวบ้านประดิษฐ์ขึ้นมาเองเพื่อจับปลาชนิดที่กล่าวมาข้างต้น โดยแต่ละครั้งในการลงเครื่องมือใช้เวลา 4-5 ชั่วโมง ได้ปริมาณปลาเท่ากับ 1 ลำเรือต่อครั้งที่ทำการลงเครื่องมือประมง

fishery

ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าปลาที่พบมากและมีการจับมาก คือ ปลาสร้อยและปลาสะอี เนื่องจากปลาทั้ง 2 ชนิดนี้จะชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงรวมทั้งเป็นปลาที่อาศัยอยู่บริเวณผิวน้ำจึงทำให้ชาวบ้านมีการจับปลาทั้ง 2 ชนิดนี้มาใช้ประโยชน์มากที่สุด แต่ถึงแม้ว่าจะมีการตับในปริมาณมากแต่ก็ไม่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจเนื่องจากในอดีตไม่มีพ่อค้าหรือผู้รับซื้อปลาที่จับได้ ปลาที่จับได้ส่วนมากชาวบ้านจะนำมาถนอมอาหารไว้กินเองหรือที่เรียกว่าการทำปลาร้าไว้กินนั้นเอง

แต่ในปัจจุบันจำนวนชนิดปลา และปริมาณที่จับได้ลดลงมากแต่ละวันจับปลาได้ไม่เกินวันละ 4-5 กิโลกรัม ปลาบางชนิดที่เคยพบปริมาณมากในอดีต เช่น ปลาสะอี ในปัจจุบันพบได้น้อยมาก

ชนิดของปลา วิธีการใช้ประโยชน์จากสัตว์ และการนำมาประกอบอาหาร

1.ปลาสร้อย นิยมนำมาทำปลาร้า ตากแห้ง ต้ม ก้อย(ดิบ) ลาบ (เหนียว)

วิธีการทำก้อย (ดิบ)

1.นำปลาสร้อยมาขูดเอาเกล็ดออก เอาเครื่องในส่วนท้องออกให้หมด

2.หลังจากนั้นนำปลาที่เราล้างทำความสะอาดแล้วมาทุบให้แบน แล้วสับแบบหยาบ ๆ

3. นำปลาที่สับแล้วไปคั้นโดยใส่มดแดงที่ยังไม่ตาย คั้นเพื่อให้เนื้อปลาสุกเล็กน้อยหรือจะใช้น้ำมะนาวซึ่งในขั้นตอนการคั้นควรใส่เกลือเล็กน้อย

4. ปรุงรสตามใจชอบ เช่น ข้าวคั่ว ต้นหอม พริกป่น

วิธีการลาบดิบ (เหนียว)

1.นำปลาที่ได้มาทำเหมือนก้อยแต่จะสับให้ละเอียดแล้วนำมาตำให้มันเหนียว

2.ต้มน้ำปลาร้าให้อุ่น ๆ แล้วใส่ลงในเนื้อปลาที่เราเตรียมไว้ จากนั้นปรุงรสเหมือนลาบ

วิธีการทำส้มปลา

1.นำปลาสร้อยมาเอาเกล็ดและเครื่องในปลาออกให้หมดจากนั้นล้างน้ำให้สะอาด

2. เอาเกลือซาว ๆ คั้น ใส่ข้าวเหนียวสุกและทุบกระเทียมใส่ จากนั้นคั้นให้เข้ากันจนรู้สึกว่าปลามีเนื้อที่เหนียว

3. นำมาใส่ไหปิดฝาให้สนิท ทิ้งไว้ประมาณ 4-5 วัน ก็นำมารับประทานได้

ปลาเขี้ยวได้ นิยมนำมาทำหมก และหลาม

วิธีการทำหมกปลา

1.โขลกหอมแดง กระเทียม ตะไคร่ พริกแห้ง รวมกันให้ละเอียด

2.ใส่ปลาลงไปแล้วปรุงรสตามใจชอบ จากนั้นนำใส่หม้อและใส่น้ำเล็กน้อยแล้วนำหม้อไปตั้งไฟ รอจนสุก จากนั้นก็นำมารับประทานได้เลย

วิธีการหลามปลา

1.วิธีการทำเหมือนกันกับหมกแต่ต่างกันที่เอาใส่กระบอกไม้ไผ่เหมือนข้าวหลาม ใช้ใบตองปิดปากกระบอกไม้ไผ่ที่เราตัด

หมายเหตุ: ปลาเขี้ยวไก้ไม่นิยมนำมาทำปลาร้า ปลาส้ม หรือตากแห้งเนื่องจากเนื้อของปลาชนิดนี้มีน้ำมันอยู่ในเนื้อเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังมีเมือกมากทำให้เมื่อทำปลาส้มแล้วมีกลิ่นคาวไม่น่ารับประทาน

fishery2

สัตว์น้ำที่มีการนำมาใช้ประโยชน์นอกจากปลา

ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ชาวบ้านจะไปจับอึ่งอ่างบนภูเขาเพื่อนำมาประกอบอาหารโดยปริมาณที่จับได้ประมาณ 3-4 กระสอบ บริเวณที่ไปทำการจับอึ่งอ่าง คือ ลำห้วยโดน และคำปลาเซือม อึ่งอ่างที่จับได้จะนำมานึ่งเพื่อตากแห้งไว้กิน ซึ่งระยะทางจากบ้านเวินบึกถึงลำห้วยโดน มีระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร อึ่งที่จับได้จะเป็นอึ่งเพ้า

จากนั้นชาวบ้านจะมีการช้อนกุ้งและเขียดที่ห้วยเจ้าหัววึ่งห่างจากบ้านเวินบึกประมาณ 3-4 กิโลเมตร โดยเครื่องมือที่ใช้จับคือสวิง สัตว์น้ำที่หามาจะเอามาแค่พอกิน มีการแบ่งปันอาหารกับเพื่อนบ้าน ไม่มีการซื้อขาย

ชาวบ้านเวินบึกเป็นชนเผ่าบลู ไม่มีการทำนาข้าว แต่จะทำไร่เลื่อนลอย ปลูกพริก มะเขือ และมันสำปะหลัง โดยการหาบพืชผักที่ได้จากการปลูกนี้นำไปแลกข้าวกับญาติที่อยู่ประเทศลาว

รายละเอียดเพิ่มเติม : การสำรวจวัฒนธรรมการใช้ประโยชน์จากสัตว์น้ำของประชาชน 3 จังหวัดริมแม่น้ำโขงของไทยและ 3 แขวงของลาวใต้ รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2556