ดอกคำฝอย

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Carthamus tinctorius Linn

ชื่อวงศ์: COMPOSITAE

ชื่อสามัญ: Safflower, False Saffron, Saffron Thistle

ชื่อท้องถิ่น: ดอกคำ คำ คำยอง

ลักษณะ: พืชล้มลุก สูง 40-120 เซนติเมตร ลำต้นเป็นสัน เกลี้ยง ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปขอบขนาน รูปใบหอกแกมขอบขนาน รูปขอบขนานแกมรูปไข่ หรือรูปรี ไม่มีก้านใบ หรือก้านใบสั้นมาก ขอบใบจักเป็นซี่ฟัน หรือเรียบ ปลายใบแหลมหรือมน แผ่นใบเกลี้ยง ดอกออกเป็นกระจุกที่ปลายยอด ด้านนอกฐานรองดอกมีริ้วประดับ ปลายมนหรือแหลม มีดอกย่อยจำนวนมาก สีเหลือง เมื่อแก่สีส้ม โคนกลีบเชื่อมเป็นหลอด ปลายแยก 5 กลีบ ผลแห้ง รูปไข่กลับ เบี้ยว เปลือกค่อนข้างแข็ง สีงาช้าง ปลายตัด มี 4 สัน

ดอกคำฝอย ไม้ย้อมสีธรรมชาติ

ส่วนที่ใช้ : ดอก

สีที่ได้: สีแดง

เทคนิควิธีการย้อมสี: การย้อมสีแดงจากดอกคำฝอย นำดอกคำฝอยมาตำให้ละเอียด ห่อด้วยผ้าขาวบางผสมน้ำด่างเพื่อให้เกิดสี (น้ำด่างได้จากการนำต้นผักขมหนามที่แก่จนเป็นสีแดงหรือน้ำตาลมาตากให้แห้งสนิทแล้วนำไปเผาไฟให้เป็นขี้เถ้า ผสมกับน้ำทิ้งให้ตกตะกอน รินเอาแต่น้ำใส ๆ มาผสมกับสี) ส่วนวิธีย้อมนั้นจะนำดอกคำฝอยมาต้มให้น้ำออกมาก ๆ จนเหนียว เก็บน้ำสีไว้ จากนั้นเอาแก่นไม้ฝางมาไสด้วยกบบาง ๆ แล้วต้มให้เดือดนานประมาณ 6 ชั่วโมง ช้อนกากทิ้ง เวลาจะย้อมฝ้าย นำเอาน้ำย้อมที่ต้มแล้วทั้งสองอย่างมาเทรวมเข้าด้วยกัน แล้วเติมสารส้มลงไปเล็กน้อย คนให้เข้ากันดีนำฝ้ายที่ชุบน้ำและตีเส้นให้กระจายลงย้อมในอ่างย้อม