ครั่ง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Laccifer lacca Kerr.

ชื่อวงศ์: LACCIFERIDAE

ชื่อสามัญ: Lac

ชื่อท้องถิ่น: ครั่งดุ้น ครั่งดิบ ครั่ง จุ้ยเก้ง

ลักษณะ: ครั่ง คือ ยางหรือชันชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นสารที่ขับถ่ายออกจากตัวแมลงครั่ง แมลงครั่งจะอาศัยอยู่ตามกิ่งไม้ที่ใช้เลี้ยงครั่ง และใช้ปากซึ่งมีลักษณะเป็นปากดูดเจาะเข้าไปในกิ่งของต้นไม้เพื่อดูดน้ำเลี้ยงมาเป็นอาหารและขับถ่ายครั่งออกมาจากภายในตัวครั่งตลอดเวลาเพื่อห่อหุ้มตัวเป็นเกราะป้องกันอันตรายจากสิ่งภายนอก มีลักษณะนิ่มเหนียวสีเหลืองทอง เมื่อถูกอากาศนานเข้าจะแข็งและมีสีน้ำตาล ครั่งที่เก็บได้จากต้นไม้เรียกว่าครั่งดิบ ซึ่งมีส่วนประกอบที่สำคัญ คือ เรซิน ขี้ผึ้ง สี ซาก ตัวครั่ง และสารอื่น ๆ ส่วนที่ใช้เป็นประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมคือ สีครั่ง และเนื้อครั่ง พืชที่ใช้เลี้ยงครั่งจามจุรี พุทรา สะแกนา ปันแถ สีเสียดออสเตรเลีย การเลี้ยงครั่งเพื่อให้ได้ผลผลิตสูงนั้น แมลงครั่งจะเกาะทำรังมาก ซึ่งทำให้สามารถกะเทาะครั่งดิบได้มาก และมีคุณภาพจะขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ชนิดของต้นไม้ อายุของต้นไม้และอายุของกิ่ง จำนวนครั่งที่ปล่อยพันธุ์ครั่ง ฤดูที่เลี้ยงครั่ง ศัตรูของครั่ง ตลอดจนประสบการณ์ของผู้เลี้ยงเอง

ครั่ง ไม้ย้อมสีธรรมชาติ

ส่วนที่ใช้ : รัง ยางครั่ง

สีที่ได้:  สีชมพู สีแดง

เทคนิควิธีการย้อมสี: การสกัดน้ำสีครั่ง จะนำครั่งมาตำให้ละเอียดแล้วนวดด้วยน้ำร้อนจัด ครั่งโดนน้ำร้อนจะคลายตัวเป็นตังเม นวดหลายครั้งจนน้ำใสเหลือแต่ขี้ครั่ง พอเย็นจะแข็งเป็นก้อนขี้ครั่ง ครั่งจะใช้ย้อมเส้นไหม ย้อมเส้นฝ้ายติดแต่ไม่คงทนและต้องใช้ความเปรี้ยวของมะขาม หรือใบไม้รสเปรี้ยวเป็นตัวช่วยในการติดสี

1.กัดสีเตรียมน้ำย้อมจากครั่ง แกะรังครั่งออกจากไม้และโขลกบดรังครั่งให้ละเอียด – ครั่งที่บดละเอียดแล้ว แช่น้ำ 1 คืน จากนั้นนำมากรองผ่านตาข่ายและผ้าดิบเพื่อแยกกากครั่งออก

2.การย้อมเส้นใยด้วยครั่ง เติมสารส้มลงในน้ำย้อมครั่งที่กำลังเดือด คั้นมะขามเปียกกับน้ำ เก็บเอากากออก แล้วค่อย ๆ เติมในน้ำย้อมครั่ง สังเกตดูให้ได้สีตามที่ต้องการ เมื่อเติมน้ำมะขามเปียกและสารส้มแล้วต้มน้ำย้อมให้เดือดอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงนำเส้นใยที่ย้อมเย็นแล้วลงย้อมแบบย้อมร้อน นานประมาณ 1 ชั่วโมง ย้อมเส้นใยเสร็จแล้ว จึงนำมาผึ่งให้แห้งสนิท แล้วล้างในน้ำอุ่นผสมน้ำยาเอนกประสงค์ 1 น้ำ แล้วล้างด้วยน้ำให้สะอาดและกระตุกให้เรียงเส้นจะได้เส้นใยสีแดง

เทคนิคการย้อมไหมด้วยครั่งให้ได้สีชมพู ให้เพิ่มน้ำในน้ำสีสกัดครั่งให้เจือจางลง 5 เท่า หรือ 7 เท่า แล้วย้อมด้วยวิธีเดียวกันกับสีแดงสด ได้เส้นใยสีอ่อนลงตามการเจือจางน้ำสี หรือสกัดน้ำสีโดยใช้ ครั่งน้อยลง เช่น ถ้าต้องการสีจางมาก ๆ ให้ใช้ครั่งลดลงได้ถึง 10 เท่า เช่น จากการย้อมสีไหม 1 กิโลกรัม ด้วยครั่งให้ได้สีแดงสดใช้ครั่ง 3 กิโลกรัม ถ้าต้องการให้ได้สีขมพูอ่อนให้ลดครั่งลงเหลือ 300 กรัม ส่วนสารส้ม มะขามเปียก ให้ใช้ส่วนผสมเท่ากับการย้อมสีแดงสด คือ สารส้ม 50 กรัม มะขามเปียก 150 กรัม