โกงกางใบเล็กและโกงกางใบใหญ่

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rhizophora sp.

ชื่อวงศ์: RHIZOPHORACEAE

ชื่อท้องถิ่น: โกงกาง โกงกางใบเล็ก พังกาทราย พังกาใบเล็ก กงกอน โกงกางนอก กงกางนอก กงเกง กางเกง พังกา พังกาใบใหญ่ โกงกางใบใหญ่ ลาน

ลักษณะ: โกงกางใบเล็กจะเป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ มีรากเสริมออกมาเหนือโคนต้น รากค้ำยันลำต้นแตกแขนงระเกะระกะไม่เป็นระเบียบใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ใบคู่ล่าง ๆ จะร่วงไปเหลือแต่คู่ใบ 2-4 คู่ เป็นกลุ่มที่ปลายกิ่ง รูปรี แผ่นใบหนา หูใบแคบ ปลายแหลมยาวประกบกันเป็นคู่ระหว่างคู่ใบ ช่อดอกสั้นมาก ออกตามง่ามใบที่ใบร่วงไปแล้ว ดอกตูมรูปไข่ ใบประดับที่ฐานดอกติดกันคล้ายรูปถ้วย กลีบเลี้ยง 4 กลีบ กลีบดอก 4 กลีบ ร่วงง่าย ผลคล้ายรูปไข่กลับสีน้ำตาลคล้ำ ผิวค่อนข้างขรุขระ ลำต้นใต้ใบเลี้ยงรูปทรงกระบอก เรียวโค้งเล็กน้อย มีขนาดโตขึ้นที่ส่วนปลาย ผิวเป็นมัน สีเขียวหรือเขียวอมม่วง ค่อนข้างเรียบหรือมีตุ่มขรุขระกระจัดกระจาย

โกงกางใบใหญ่ เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ มีรากเสริมออกมาเหนือโคนต้น รากค้ำยันแตกแขนงระเกะระกะ เรือนยอดรูปกรวยคว่ำแคบๆ ใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ใบคู่ล่างๆ จะหลุดร่วงไปเหลือกลุ่มใบที่ปลายกิ่ง ใบรูปรีถึงรีกว้าง มีติ่งแหลมเล็ก แข็ง สีดำ ที่ปลายใบ แผ่นใบหนา มีจุดเล็ก ๆ สีดำกระจัดกระจายทั่วไปทางด้านล่าง ช่อดอกออกตามง่ามใบที่ใบติดอยู่หรือร่วงไป ดอกตูมรูปไข่ มีใบประดับรองรับที่ฐานดอก กลีบเลี้ยง 4 กลีบ กลีบดอก 4 กลีบ ร่วงง่าย ผลคล้ายรูปไข่ปลายคอดสีน้ำตาลอมเขียว ลำต้นใต้ใบเลี้ยงรูปทรงกระบอก เรียว ค่อนข้างตรง ปลายเรียวแหลมยาว ผิวเป็นมัน สีเขียว มีตุ่มขรุขระทั่วไป

โกงกาง ไม้ย้อมสีธรรมชาติ

ส่วนที่ใช้ : เปลือก

สีที่ได้: น้ำตาล

เทคนิควิธีการย้อมสี: การย้อมสีน้ำตาลแก่จากเปลือกไม้โกงกาง นำเอาเปลือกไม้โกงกางที่แห้งพอหมาด มาล้างน้ำให้สะอาด แช่น้ำไว้ 1 คืน แล้วต้มเคี่ยวไว้ 2 วัน กรองเอาแต่น้ำย้อมใส่สารเคมีไฮโดรเจนซัลไฟต์ ผสมลงในน้ำย้อมเล็กน้อย เพื่อให้สีติดดีขึ้น เอาเส้นฝ้ายที่ชุบน้ำพอหมาดจุ่มลงในน้ำย้อม ตั้งไฟต้มนาน 30 นาที ยกเส้นฝ้ายขึ้นซักน้ำ บิดให้แห้ง กระตุกเส้นฝ้ายให้กระจายตากแดด