ก่อร่าง..สร้างบ้านสมพรรัตน์

บ้านสมพรรัตน์ ชื่อเดิม บ้านโคกเอ่น ภายหลังเมื่อประมาณปี 2511 โดยพระธุดงค์ที่เดินทางมาบำเพ็ญบุญ ณ บริเวณหมู่บ้านเห็นว่าชื่อเดิมนั้นไม่ไพเราะ จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านให้ใหม่ ว่า “บ้านสมพรรัตน์” ชาวบ้านสมพรรัตน์ส่วนใหญ่ย้ายและอพยพมาจาก อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ เนื่องจากประสบปัญหาแหล่งที่อยู่เดิมนั้นมีน้ำท่วมขังทุกปี ทำเกษตรกรรมไม่ได้ อาชีพดั้งเดิมของชาวบ้านคือการทำนาและการทอผ้า เมื่อได้โยกย้ายมาที่บ้านสมพรรัตน์แล้วก็ยังคงดำรงชีวิตและประกอบอาชีพดั้งเดิมอยู่

ภูมิปัญญาและศิลปวัฒนธรรมการทอผ้าไหมของบ้านสมพรรัตน์นั้น ได้รับการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษรุ่นแล้วรุ่นเล่ามาจนถึงปัจจุบัน ชาวบ้านยังคงรักษาภูมิปัญญาการทอผ้าไหมแบบพื้นบ้านไว้ได้เป็นอย่างดีแทบทุกหลังคาเรือน จากที่เคยทอผ้าไหมไว้ใช้ในครัวเรือน ปัจจุบันการทอผ้าไหมนี้ได้สร้างรายได้และชื่อเสียงให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก ซึ่งส่วนหนึ่งนั้นเป็นเพราะชาวบ้านได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากโครงการส่งเสริมศิลปาชีพ ของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ

การทอผ้าไหม บ้านสมพรรัตน์ อุบลราชธานี
เยาวชนคนเก่งบ้านสมพรรัตน์
การทอผ้าไหม บ้านสมพรรัตน์ อุบลราชธานี
ผ้าไหมลายบัวขาว ลายเอกลักษณ์ของอำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี

ความเป็นมาของโครงการส่งเสริมศิลปาชีพฯ อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุุบลราชธานี

วันที่ 16 พฤศจิกายน 2537 สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ ทรงเยี่ยมราษฎร ณ โรงเรียนบ้านขอนแป้น ตำบลคอแลน อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี ได้มีกลุ่มราษฎรทูลเกล้าฯ ถวายผลิตภัณฑ์ผ้าไหมและผลิตภัณฑ์จักสาน รวม 52 ราย และในวันนั้นพระองค์ท่านได้ทรงพระราชทานเงินเพื่อเป็นทุนแก่กลุ่มราษฎรนั้นและทรงรับไว้เป็นสมาชิกของโครงการส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

การทอผ้าไหม บ้านสมพรรัตน์ อุบลราชธานี

วันที่ 22 พฤศจิกายน 2539 สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงเสด็จฯ เยี่ยมราษฎร บ้านยางน้อย ตำบลก่อเอ้ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี มีสมาชิกโครงการส่งเสริมศิลปาชีพฯ อำเภอบุณฑริก เข้าทูลเกล้าฯ ถวายผ้าไหม และขอพระราชทานอนุญาตเพิ่มจำนวนสมาชิกโครงการศิลปาชีพ พระองค์ท่านทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้ ร.6 พัน 1 พิจารณาเพิ่มสมาชิกได้ จึงมีสมาชิกเพิ่มขึ้นอีก 92 ราย เพิ่มสมาชิกกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหม 149 ราย รวมทั้งสิ้น 293 ราย

วันที่ 21 พฤศจิกายน 2544 ทรงเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรอีกครั้ง ณ ศูนย์การพัฒนาพื้นที่ชายแดน บ้านค้อ ตำบลโดมประดิษฐ์ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ได้มีสมาชิกโครงการฯ และ ราษฎรจาก อำเภอน้ำยืน อำเภอนาจะหลวย อำเภอบุณฑริก อำเภอเดชอุดม และ อำเภอสำโรง จังหวัดอุบลราชธานี เข้าร่วมต้อนรับเสด็จและทูลเกล้าถวายผ้าไหม พร้อมขอพระราชทานเพิ่มจำนวนสมาชิก โดยให้ กอ.โครงการพิเศษ ร.๖ ซึ่งเป็นหน่วยรับผิดชอบในพื้นที่ดำเนินการรับราษฎรเข้าเป็นสมาชิกโครงการส่งเสริมศิลปาชีพฯ อำเภอบุณฑริก จำนวน 229 ราย จากเดิมมีสมาชิก 293 ราย รวมทั้งสิ้น 522 ราย

ปัจจุบันโครงการส่งเสริมศิลปาชีพ อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานีนั้น ตั้งอยู่ ณ บ้านสมพรรัตน์ หมู่ที่ 10 ตำบลหนองสะโน อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี พิกัด WB 288280 มีหน่วยงานที่รับผิอชอบโครงการคือ สปร.ร.6 และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานโครงการจาก ร.6 พัน.1 กิจกรรมที่ดำเนินการ จะประกอบด้วย กลุ่มทอผ้า กลุ่มจักสาน กลุ่มปักลายผ้า และกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหม รายได้สมาชิกเฉลี่ยอยู่ที่ 2518 บาท/6 เดือน

หากสนใจติดต่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับโครงการส่งเสริมศิลปาชีพอำเภอบุณฑริก สามารถติดต่อได้ที่คุณนริศรา เรืองสูง โทร.080-168-3713