ศูนย์สารนิเทศอีสานสิรินธร (Sirindhorn Isan InformationCenter) เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 โดยจัดเป็นมุมบริการสารสนเทศ ต่อมาได้พัฒนางานเป็น "ศูนย์เอกสารอีสาน"  ปี พ.ศ. 2525 ได้รับเกียรติจากคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี มอบรางวัลการผลิตผลงานเพื่อเยาวชน ประเภทสื่อชาวบ้าน และได้เปลี่ยนชื่อเป็น "ศูนย์สารนิเทศอีสาน" ในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2536 ได้รับพระกรุณาจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานนามให้ว่า "ศูนย์สารนิเทศอีสานสิรินธร" นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงยิ่ง และวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2538 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เปิดศูนย์สารนิเทศอีสานสิรินธรนำความปลาบปลื้มมายังพสกนิกร ชาวภาคอีสานอย่างล้นพ้น

ศูนย์สารนิเทศอีสานสิรินธรเป็นแหล่งการเรียนรู้และให้บริการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสานไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ศึกษาค้นคว้าวิจัย

ศูนย์สารนิเทศอีสานสิรินธร มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานดังต่อไปนี้

  1. เพื่อจัดหา รวบรวม และให้บริการสารสนเทศที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทุกประเภททั้งวัสดุตีพิมพ์และวัสดุไม่ตีพิมพ์ โดยรวบรวมเนื้อหาอีสานในทุกๆ ด้าน ได้แก่ ด้านวัฒนธรรมพื้นบ้าน ความเป็นอยู่และประเพณี การศึกษา ความเชื่อ วรรณกรรม ภาษา ศิลปะ การละเล่นพื้นบ้าน การพัฒนาชนบท และการเมืองการปกครอง ฯลฯ
  2. เพื่อจัดระบบการจัดเก็บและค้นคืนสารสนเทศ โดยให้ผู้ใช้บริการสามารถค้นหาสารสนเทศที่เกี่ยวกับอีสานได้ตรงตามความต้องการอย่างสะดวกและรวดเร็ว
  3. เพื่อเป็นแหล่งสารสนเทศให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา อาจารย์ นักวิจัย และประชาชน ผู้สนใจทั่วไป ได้ศึกษาเรื่องราวของภาคอีสาน อันก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้า
  4. เป็นศูนย์กลางการศึกษาค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับภาคอีสานในทุก ๆ ด้าน
  5. เพื่อดำรงรักษาเรื่องราวของชาวอีสานไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป
  6. เพื่อเผยแพร่และแลกเปลี่ยนสารสนเทศระหว่าง ภาคอีสานกับภาคอื่น ๆ ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ

ขอบเขตข้อมูล

ศูนย์สารนิเทศอีสานสิรินธร เป็นแหล่งจัดหา รวบรวม และให้บริการสารสนเทศ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือในทุกๆ ด้านและทุกรูปแบบ ครอบคลุม 20 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บึงกาฬ บุรีรัมย์ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี และอุบลราชธานี ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการสนับสนุน การศึกษา ค้นคว้า วิจัย ของภูมิภาคอีสาน อีกทั้งเป็นหน่วยประสานงานเครือข่ายสารสนเทศท้องถิ่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อมุ่งที่จะดำรง รักษา อนุรักษ์ ส่งเสริม เผยแพร่ และสืบทอดเรื่องราววัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นอีสานของชาวอีสานไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป

ประเภทของข้อมูล

ให้บริการทรัพยากรสารสนเทศทั้งวัสดุตีพิมพ์ วัสดุไม่ตีพิมพ์ รวมทั้งสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีหลายประเภทได้แก่หนังสือ รายงานงานวิจัย วิทยานิพนธ์ ปริญญานิพนธ์ การศึกษาค้นคว้าอิสระ สารนิพนธ์ บทความ กฤตภาค จุลสาร สิ่งพิมพ์รัฐบาล ภาคนิพนธ์/ปัญหาพิเศษ หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น วัสดุจำลองและของตัวอย่าง แผนที่ รูปภาพ แถบบันทึกเสียงแถบบันทึกภาพ ไมโครฟิล์ม สไลด์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

การบริการ

  1. บริการยืม- คืน สารสนเทศอีสาน เพื่อศึกษาค้นคว้าและวิจัย  
  2. บริการตอบคำถามและช่วยค้นคว้าสารสนเทศอีสาน
  3. บริการสืบค้นสารสนเทศอีสานจาก Web OPAC
  4. บริการรวบรวมบรรณานุกรมอีสานเฉพาะเรื่อง
  5. บริการเสนอข่าวอีสานที่น่าสนใจ 
  6. จัดนิทรรศการเกี่ยวกับเรื่องน่ารู้ของภาคอีสาน
  7. บริการฐานข้อมูลสารสนเทศอีสานออนไลน์ ได้แก่

เว็บไซต์หน่วยงาน : http://nadoon.msu.ac.th/web/

เวลาให้บริการ

วันจันทร์-เสาร์ เวลา 8.00-20.00 น.

วันอาทิตย์ เวลา 8.00-18.00 น.

วันหยุดนักขัตฤกษ์ ปิด