กี่ (หูก)

กี่ หรือ หูก เป็นเครื่องทอผ้าพื้นบ้านที่พัฒนามาจากการทอผ้าโดยผูกด้ายเส้นยืนกับต้นไม้หรือเสาเรือน มาเป็นโครงสี่เหลี่ยม มีไม้คานกี่เป็นโครงด้านบนเพื่อรับไม้คานหาบที่รับน้ำหนักของฟืมด้วยเชือก และมีสายเชือกโยงไม้ขัดร่องเขาที่หัวท้าย มีไม้กำสำหรับยึดเส้นด้ายยืน โครงสร้างและส่วนประกอบของกี่ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อให้เกิดความสะดวกในการทอผ้า ส่วนใหญ่ทำด้วยไม้

กี่ทอผ้ามีทั้งกี่พุ่งซึ่งจะใช้กระสวยพุ่งเส้นด้ายเส้นนอนหรือเส้นพุ่งด้วยมือ และกี่กระตุกที่พุ่งเส้นกระสวยด้วยการกระตุกสายบังคับให้กระสวยวิ่งกลับไปกลับมาอย่างรวดเร็ว

กี่ทอผ้าในภาคอีสานส่วนใหญ่เป็นแบบขาตั้ง เป็นรูปแบบที่ใช้กันอยู่ทั่วไปในท้องถิ่น นิยมทำจากไม้เนื้อแข็ง มีส่วนประกอบต่าง ๆ ดังนี้

1.เสาหลักขาตั้งหูก เป็นเสาทรงสี่เหลี่ยม ขนาดความสูงเท่ากันทั้ง 4 ต้น

2.ไม้คานหูก เป็นคานไม้พาดเชื่อมต่อระหว่างเสาหลักทั้ง 4 ต้น เครือเส้นด้ายยืนพาดบนไม้คานด้านหน้าและโยงมาผูกไม้คานด้านหลังดึงเส้นยืนให้ตรง

3.ไม้รองนั่ง เป็นแผ่นไม้ที่พาดไว้บนคานไม้ด้านล่างด้านคนทอ เพื่อให้คนทอนั่งคนทอนั่งและวางอุปกรณ์การทอ เช่น ตะกร้าใส่ด้าย ใส่หวี

4.ไม้ม้วนผ้า หรือไม้กำพั่น หรือไม้กำพัน เป็นท่อนไม้สี่เหลี่ยมที่ปลายทั้งสองข้างเสียบเข้าเดือยที่หลักไม้ด้านใกล้กับผู้ทอเพื่อม้วนเก็บผ้าที่ทอเสร็จเรียบร้อยเอาไว้

5.ไม้หาบหูก เป็นไม้ไผ่ทรงกระบอกขนาดกลางยาวพาดคานไม้ เพื่อใช้ผูกเชือกโยงฟืมและรอกที่พยุงตะกอหรือเขาเอาไว้

6.ไม้เหยียบหูก เป็นไม้ไผ่ลำขนาดเล็ก ยาวประมาณ 1 เมตร ผูกโยงกับตะกอหรือเขาสำหรับเหยียบเพื่อบังคับการสลับขึ้นลงของเครือเส้นด้ายยืน จำนวนไม้เหยียบขึ้นกับจำนวนตะกอที่ใช้ทอผ้า

7.ตะกอหรือเขา เป็นแผงเส้นด้ายที่ถักเกี่ยวเครือเส้นด้ายยืนเอาไว้ โดยใช้ไม้ไผ่ 2 ซี่เป็นคาน ถ้าเป็นผ้าทอแบบสองตะกอก็จะมีตะกอหรือเขา 2 อัน ซึ่งจะคัดเก็บเครือเส้นด้ายยืนสลับกันเส้นต่อเส้น เพื่อยกเส้นด้ายยืนขึ้นลง ให้กระสวยเส้นด้ายพุ่งผ่านไปสานทอขัดเพื่อให้เกิดลวดลายบนผืนผ้า

8.ฟืม (ฟันหวี) เป็นอุปกรณ์การทอที่สำคัญที่อยู่หน้าตะกอหรือเขา ใช้กระทบเส้นด้านพุ่งให้สานทอกับเส้นด้ายยืนเป็นผืนผ้า หน้าฟืมจะมีทั้งขนาดยาวและขนาดสั้น ขึ้นกับว่าจะทอผ้าหน้าแคบหรือกว้างสามารถถอดเปลี่ยนได้

9.รอก เป็นอุปกรณ์ช่วยพยุงตะกอหรือเขา โดยผูกโยงไว้กับไม้คานหูก


จำนวน : 1 ชิ้น


กี่ จำลอง

ลักษณะ : เป็นโครงไม้สี่เหลี่ยม ทำจากไม้เนื้ออ่อน

ขนาด : ความสูง 25.5 เซนติเมตร ความยาว 33 เซนติเมตร ความกว้าง 20 เซนติเมตร

กี่ หูก กี่ หูก กี่ หูก กี่ หูก


บรรณานุกรม :

วิบูลย์ ลี้สุวรรณ. (2546). พจนานุกรมหัตถกรรมเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ

สิทธิชัย สมานชาติ. (2553). เอกสารประกอบการสอนรายวิชา 2007 108 มรดกสิ่งพิมพ์. อุบลราชธานี: คณะศิลปประยุกต์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.