Loading
งานข้อมูลท้องถิ่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

การสร้างสรรค์สื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลท้องถิ่น

งานข้อมูลท้องถิ่นและจดหมายเหตุ เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการบริหารจัดการสารสนเทศท้องถิ่นอีสาน โดยได้ดำเนินการรวบรวม เรียบเรียง และพัฒนาสารสนเทศที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นขึ้น มีการนำเสนอสารสนเทศหลากหลายรูปแบบ อาทิ เว็บไซต์สารสนเทศท้องถิ่นอีสาน ณ อุบลราชธานี ภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองอุบล องค์ความรู้จากงานศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี  และมุ่งเน้นให้บริการบนระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นช่องทางที่สอดคล้องกับพฤติกรรมการเข้าถึงข้อมูลของคนในยุคปัจจุบันที่ผู้ใช้สามารถเข้าใช้งานได้อย่างสะดวก โดยไม่จำกัดสถานที่ เวลา และอุปกรณ์

เพื่อเป็นการส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการเข้าถึงสารสนเทศที่ให้บริการ งานข้อมูลท้องถิ่นฯ จึงได้จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์งานข้อมูลท้องถิ่นและชี้แหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นขึ้น โดยมีการสร้างสรรค์สื่อประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการได้รับรู้ข้อมูล ข่าวสาร กิจกรรมและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ตลอดจนเผยแพร่สารสนเทศศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นออกสู่สาธารณะให้กว้างขวางมากขึ้น

งานข้อมูลท้องถิ่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

กลุ่มเป้าหมายในการใช้สื่อนี้ คือ ผู้ที่เข้ามาศึกษา เยี่ยมชมงานข้อมูลท้องถิ่นและจดหมายเหตุ ได้แก่ นักศึกษา นักเรียน อาจารย์ บุคลากรจากหน่วยงานต่าง ๆ และผู้สนใจทั่วไป จึงได้จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ขึ้น 3 รูปแบบ ได้แก่ ใบปลิว โปสการ์ด และโปสเตอร์

1.ใบปลิวเป็นการปรับประยุกต์แผ่นพับให้มีขนาดเล็กลง เป็นใบปลิวขนาด 9.5×21 ซม. ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการหยิบจับ และลดค่าใช้จ่ายในการจัดทำ ใบปลิวจะพิมพ์ 4 สี ด้วยกระดาษอาร์ต 120 แกรม

รายละเอียดในใบปลิวจะเป็นการแนะนำภารกิจ สถานที่ตั้ง และช่องทางการติดต่อของงานข้อมูลท้องถิ่นและจดหมายเหตุ มีทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

งานข้อมูลท้องถิ่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

2.โปสเตอร์ เป็นการออกแบบและพิมพ์ภาพ 4 สี ขนาด11.7×16.5 นิ้ว (A3) ด้วยกระดาษอาร์ต 120 แกรม สามารถนำไปติดผนัง กำแพง บอร์ด หรือที่ ๆ กำหนดไว้ได้ เพื่อสร้างความสนใจและสื่อสารข้อมูล มีทั้งหมด 20 แบบ

รายละเอียดการนำเสนอจะใช้ภาพที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญา ประกอบด้วยข้อความสาระสำคัญของศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น แนะนำเว็บไซต์ หรือฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อการเรียนรู้เพิ่มเติม และแนะนำงานข้อมูลท้องถิ่นและจดหมาย ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

งานข้อมูลท้องถิ่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ในการออกแบบใบปลิวและโปสเตอร์ มีองค์ประกอบหลักที่ใช้ คือ

รูปภาพ (Picture) เป็นส่วนที่ให้ความสำคัญในการทำสื่อ เพราะรูปภาพจะช่วยให้สื่อนั้นสะดุดตา น่าสนใจ น่าประทับใจ และสื่อความหมายได้ ในการออกแบบจึงนำรูปภาพเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานี มานำเสนอให้โดดเด่นเพื่อดึงดูดความสนใจ เช่น ต้นเทียนพรรษา หัตถกรรมเครื่องทองเหลือง ตุงใยแมงมุม หน้าบันไม้ฉลุลาย หอไตรคู่ ผ้าลายประสาทผึ้งหัวจกดาว การทำปราสาทผึ้ง ฮูปแต้ม หนังประโมทัย เป็นต้น

าดหัว (Headline) จะเป็นข้อความที่มีขนาดโตหรือโดดเด่นในพื้นที่สื่อ เพื่อสร้างจุดสนใจและสะดุดตา ด้วยข้อความสั้น ๆ กะทัดรัด ตรงไปตรงมา ชวนให้น่าคิดหรือน่าติดตามอ่าน ข้อความเด่นด้วยสีสัน มองเห็นได้ชัดเจน ในการออกแบบสื่อนี้ข้อความส่วนใหญ่จะบอกว่ารูปภาพที่นำเสนอนี้คือภาพอะไร เป็นข้อความ

ข้อความบอกรายละเอียด (Body text) จะเป็นข้อความที่ใช้อธิบายรายละเอียดต่าง ๆ ในสิ่งที่ต้องการสื่อสาร ในการจัดทำสื่อนี้จะใช้ข้อความสั้น ๆ กระชับ เพื่อให้พื้นที่สื่อมีความโปร่ง ดูสบายตา เน้นข้อความด้วยสีเข้มและสีอ่อน และใช้ข้อความเพื่ออธิบายสาระสำคัญของรูปภาพและเรื่องที่ต้องการสื่อสาร ด้วยภาษาง่าย ๆ บ้างก็ใช้ภาษาที่มีความคล้องจองกัน เพื่อสร้างจุดสนใจและเข้าใจได้โดยไม่ต้องใช้เวลานาน มีข้อความบอกรายละเอียดช่องทางการเข้าถึงข้อมูลหรือเว็บไซต์เพื่อการศึกษาและเรียนรู้เพิ่มเติม

ผู้จัดทำ เป็นส่วนที่ใช้ระบุหน่วยงานที่จัดทำ ช่องทางการติดต่อ ในที่นี้คือ งานข้อมูลท้องถิ่นและจดหมายเหตุ และช่องทางการติดต่อสื่อสารผ่านทางเว็บไซต์ ข้อความจะปรากฏบริเวณด้านล่างสุดของสื่อ

3.โปสการ์ด หรือไปรษณียบัตร จัดทำในขนาด 5×7 นิ้ว มีทั้งหมด 5 แบบ พิมพ์ 4 สีด้วยกระดาษอาร์ตขนาด 260 แกรม เป็นสื่อที่สามารถส่งไปให้ผู้รับอื่น ๆ ทางไปรษณีย์ได้

รายละเอียดการทำโปสการ์ด ด้านหนึ่งของโปสการ์ด จะนำเสนอภาพที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่โดดเด่นเพียงภาพเดียว ประกอบด้วยข้อความที่สื่อความหมายดี ๆ เช่น คำสอนของพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) ผญาอีสาน ซึ่งมีทั้งภาษาอีสาน ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ และข้อความสั้น ๆ อธิบายรูปภาพ โปสการ์ดอีกด้านหนึ่งแบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนสำหรับให้ผู้ส่งกรอกชื่อ ที่อยู่ของผู้รับ ติดแสตมป์ และส่วนที่เป็นพื้นที่สำหรับใส่ข้อความสั้น ๆ ซึ่งด้านล่างของส่วนนี้จะใส่ที่อยู่ของเว็บไซต์ (URL) เพื่อนำเสนอช่องทางในการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับภาพที่นำเสนอ และประชาสัมพันธ์งานข้อมูลท้องถิ่นฯ

งานข้อมูลท้องถิ่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

แนวทางในการออกแบบสื่อประชาสัมพันธ์

  1. นำเสนอรูปภาพเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน ส่วนใหญ่จะนำเสนอเพียงภาพเดียว เป็นภาพที่มีมุมมองแปลกใหม่ ไม่ค่อยได้เห็นในสื่อทั่ว ๆ ไป เพื่อให้มีความโดดเด่นและสร้างจุดสนใจ
  2. ใช้ข้อความกะทัดรัด ชัดเจน อ่านและเข้าใจได้ง่าย
  3. การออกแบบมีลักษณะโปร่ง สบายตา มีสัดส่วนดี สร้างจุดสนใจ ดึงดูดสายตาเพื่อสร้างความน่าสนใจ
  4. ตัวอักษรที่ใช้เลือกใช้อักษรที่คล้ายกับลายมือเขียน เพื่อให้ดูสบายตา ไม่เป็นทางการและเข้ากับกลุ่มเป้าหมาย
  5. ภาษาที่ใช้ มีทั้งภาษาไทย ภาษาอีสาน และภาษาอังกฤษ เพื่อให้การสื่อสารที่เข้าใจได้อย่างกว้างขวาง
  6. การใช้ QR Code มาช่วยชี้แหล่งข้อมูลหรือช่องทางการเข้าถึงเว็บไซต์ ช่วยอำนวยความสะดวกให้กลุ่มเป้าหมายสามารถเข้าใช้งานได้ง่าย

บรรณานุกรม  :            

มายด์โฟโต้บุ๊ค. โปสการ์ด, ไปรษณียบัตร. เข้าถึงเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2561, http://www.mindphotobook.com/Theme/24

ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 2 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม. คู่มือการทำสื่อประชาสัมพันธ์. เข้าถึงเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2561, http://www.stou.ac.th/offices/Oce/kmoce1/เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม.pdf