สวิง บุญเจิม

ครูสวิง บุญเจิม ชาวอุบลราชธานีเป็นผู้มีภูมิปัญญาพื้นบ้านที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับบทกลอนทั้งการลำ การขับร้องสรภัญญะ การสู่ขวัญ การแต่งผญา เป็นต้น ได้รับการยกย่องให้เป็น “ปรัชญาเมธีอีสาน” ผู้อนุรักษ์และสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่น ถ่ายทอดความรู้โดยการเผยแพร่ทางรายการวิทยุและโทรทัศน์ เป็นวิทยากรอบรมสัมมนา รวมทั้งเขียนหนังสือเผยแพร่มากกว่า 10 เรื่อง โดยเฉพาะหนังสือ “มรดกอีสาน” พิมพ์เผยแพร่แล้ว ประมาณ 200,000 เล่ม

ครูสวิง บุญเจิม ปรัชญาเมธีเมืองอุบลราชธานี
ครูสวิง บุญเจิม ปรัชญาเมธีเมืองอุบลราชธานี
ตัวอย่างหนังสือของครูสวิง บุญเจิม
ตัวอย่างหนังสือของครูสวิง บุญเจิม

ประวัติครูสวิง บุญเจิม ปรัชญาเมธีแห่งเมืองอุบลราชธานี

ครูสวิง บุญเจิม บรรพชาเป็นสามเณรและอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ ศึกษา เรียนรู้ โดยสอบได้นักธรรมเอกและเปรียญธรรม 9 ประโยค รวมทั้งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาปรัชญาและศาสนาจากประเทศอินเดีย ขณะที่ศึกษาอยู่ประเทศอินเดีย ได้ศึกษาปรัชญาอินเดียและปรัชญาตะวันตกซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับผญาภาษิตของอีสานจึงได้หันมาศึกษา ค้นคว้าความรู้เกี่ยวกับปรัชญา ศาสนา และประเพณีอีสานเพิ่มเติมอย่างจริงจัง ลึกซึ้งจากหนังสือผูกและหนังสือในลานที่มีในวัดของภาคอีสานโดยทั่วไป ทดลองเผยแพร่ความรู้โดยการเขียนหนังสือและตำราเอกสารต่าง ๆ จำหน่าย ได้รับความนิยมและใช้เป็นเอกสารอ้างอิงในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและประเพณีอีสานทั่วประเทศ นำความรู้ที่ค้นพบถ่ายทอดให้แก่นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน และผู้สนใจ ในรูปแบบต่าง ๆ

การถ่ายทอด และเผยแพร่องค์ความรู้ของครูสวิง บุญเจิม

การศึกษาร่ำเรียนตำราโบราณทำให้ครูสวิงมีความเข้าใจหลักปรัชญาและศาสนาชัดเจน รวมทั้งที่มาของขนบธรรมเนียม ประเพณี คำสอน สุภาษิต ตำรายา และสมุนไพรเป็นอย่างดี  ครูสวิงพิจารณาแล้วเห็นว่าองค์ความรู้เหล่านี้ถ้าไม่มีการสืบสานไว้ก็จะหมดสิ้นไปวิธีที่ดีที่สุดก็คือการเขียนเป็นตำราเผยแพร่ให้มีผู้ศึกษาในวงกว้าง ตำราที่เขียนและเผยแพร่ได้แก่ มรดกอีสานหรือมูลมังอีสาน, เสียเคราะห์ตนเองและผู้อื่น, ผญา, สรภัญญะอีสาน, กาละนับมือส่วย, ตำรายาสมุนไพรอีสาน, นิทานพื้นบ้านอีสานเล่ม 1, ธรรมสร้อยสายคำ (ว่าด้วยกำเนิดประเพณี), ความผูกแขน ความสอนปู่ย่า – ตายาย สะใภ้เขย, ความสอย – ความทวย, ปู่สอนหลาน หลานสอนปู่, ปรัชญาเมธีอีสาน, ประวัติและของดีสำเร็จลุน ฯลฯ เป็นต้น

ครูสวิง บุญเจิม
ครูสวิง บุญเจิม

นอกจากการถ่ายทอดความรู้เป็นตำราแล้วครูสวิงได้รับเชิญไปสอนในสถาบันการศึกษาและไปบรรยายตามสถานที่ราชการและเอกชนต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาให้แก่นักศึกษาปริญญาโท จากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ รวมทั้งตรวจวิทยานิพนธ์ จัดทำโครงการฝึกอบรมผู้นำทางศาสนาและประเพณี โครงการศาสนานำชีวิตเพื่อฝึกสมาธิจิตเยาวชนในโรงเรียน ให้คำปรึกษากับผู้สนใจทั้งทางโทรศัพท์ ทางจดหมายและไปพบเพื่อปรึกษาหารือที่บ้านให้ความรู้แก่พระนิสิต มหาวิทยาลัยสงฆ์ สามเณรโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม – บาลี และแผนกสามัญศึกษา รวมทั้งวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมดให้ใช้ตำราของท่านเป็นคู่มือในการแนะนำชาวบ้านเกี่ยวกับประเพณีต่าง ๆ ตามฮีต 12 คอง 14 รวมถึงการใช้เป็นคู่มือประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ

ผลงานด้านการเขียนและวรรณกรรมที่ตีพิมพ์เผยแพร่ ของครูสวิง บุญเจิม

  • ตำรามรดกอีสานหรือมูนมังอีสาน (พิมพ์ปี 2534)
  • เสียเคราะห์ตนเองและผู้อื่น (ปีพิมพ์ 2535)
  • กาละนับมื้อส่วย (ปีพิมพ์ 2536)
  • ทำนายฝัน (ปีพิมพ์ 2535)
  • ผญา หรือปัญญา (ปีพิมพ์ 2536)
  • ปู่สอนหลาน หลานสอนปู่ (ปีพิมพ์ 2537)
  • สรภัญอีสาน (ปีพิมพ์ 2537)
  • ธรรมสร้อยสายคำ ว่าด้วยกำเนิดประเพณีต่าง ๆ (ปีพิมพ์ 2538)
  • ของฮักษา (ปีพิมพ์ 2539)
  • ภูมิปัญญาชาวบ้านอีสาน ยาสมุนไพรพื้นบ้าน (ปีพิมพ์ 2540)
  • นิทานพื้นบ้าน เล่ม 1 (ปีพิมพ์ 2540)
  • ความผูกแขน ความสอนปู่ย่า ตายาย สะไภ้และเขย (ปีพิมพ์ 2542)
  • ความสอยความทวย (ทาย) (ปีพิมพ์ 2542)
  • ประวัติและของดีสำเร็จลุน (ปีพิมพ์ 2544)
  • ปรัชญาเมธีอีสาน เล่ม 1 (ปีพิมพ์ 2545)
  • คมวาทะ การพูดในงานต่าง ๆ (ปีพิมพ์ 2546)
  • ตำราเรียนอักษรโบราณอีสาน (ปีพิมพ์ 2548)
  • ความกล่อมลูก (ปีพิมพ์ 2548)
  • ตำราเรียนอักษรขอม (ปีพิมพ์ 2549)
  • กลอนลำประวัติศาสตร์ไทยและประวัติเวียงจันทน์ (ปีพิมพ์ 2549)
  • มูลกัจจายนสูตร เล่ม 1 (ปีพิมพ์ 2549)
  • มูลกัจจายนสูตร เล่ม 2 (ปีพิมพ์ 2549)
  • นิทานแม่โพสพ (วัตถุข้าว) (ปีพิมพ์ 2551)
  • อานิสงค์ข้าวประดับดิน (ปีพิมพ์ 2551)
  • สุดยอดอวยพร (ปีพิมพ์ 2551)
  • ภูมิปัญญาอีสานปริทัศน์ เรื่อง ท้าวเสียวสวาสดิ์ธัมมิกบัณฑิต (ปีพิมพ์ 2551)
  • ลำมหาชาติอักษรธรรมอักษรไทย
  • หนังสือแก้อุบาทว์ 8 ประการ
  • หนังสือท้าวกาฬเกษ
  • ปัญญาบารมี อุณหัสสวิชัย สฬากริวิชชาสูตร
  • คู่มือการเรียนและการสอนอักษรธรรม
  • มนต์พิธีแปล

เกียรติคุณที่ครูสวิง บุญเจิมได้รับ

  • พ.ศ. 2539 ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม สาขาวรรณศิลปะระดับเขตการศึกษา จากสํานักพัฒนา การศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม เขตการศึกษา 10
  • พ.ศ. 2542 “รางวัลเสาเสมาธรรมจักร” ในฐานะผู้ทําคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา สาขาการแต่งหนังสือทางพระพุทธศาสนาจากกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ
  • พ.ศ. 2545 ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 2 ด้านปรัชญาศาสนาและประเพณีจาก สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติสํานักนายกรัฐมนตรี
  • พ.ศ.2548 ได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็น “คนดีศรีสยาม” จากมหามงกุฎราชวิทยาลัย วิทยาเขตจังหวัดแพร่
  • พ.ศ. 2550 ได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็น “ต้นแบบความดีด้านวัฒนธรรมประเพณี” จากสมัชชาคุณธรรมภาคอีสาน
  • พ.ศ. 2554 ได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็น “ศิลปินมรดกอีสาน” จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น

บรรณานุกรม

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. (2545). ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ.

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง