วัดบ้านนาควาย สิมอีสาน งานจิตรกรรมฝาผนัง

วัดบ้านนาควาย อุบลราชธานี ภายในวัดมีโบราณสถานที่สำคัญคือ สิมหรืออุโบสถ สิมวัดบ้านนาควายมีลักษณะเป็นสิมทึบก่ออิฐถือปูน เป็นงานสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างศิลปะไทยและพื้นถิ่นอีสาน ผนังทั้งด้านนอกและด้านในของสิมมีงานจิตรกรรมฝาผนังพุทธประวัติและวิถีชีวิต

อุโบสถวัดบ้านนาควาย อุบลราชธานี
อุโบสถวัดบ้านนาควาย อุบลราชธานี

ประวัติวัดบ้านนาควาย

วัดบ้านนาควาย จังหวัดอุบลราชธานี เป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ตามประวัติวัดระบุก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2410 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2420 และ พ.ศ.2538

ตามประวัติศาสตร์ท้องถิ่นกล่าวว่าวัดบ้านนาควายแห่งนี้ สร้างหลังจากเมืองอุบลราชธานีไม่นานนัก โดยเมื่อ พ.ศ.2325 พระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (ท้าวคำผง) ให้สร้างเมืองอุบลราชธานี ชาวบ้านกว่าสิบหลังคาเรือนก็ออกมาหาที่ทำเกษตรกรรมที่ใกล้กับแหล่งน้ำ เช่น บึง หนองต่าง ๆ เมื่ออยู่รวมกันเป็นหมู่บ้านพอสมควรแล้ว ชาวบ้านก็หาทำเลสร้างวัดขึ้น เรียกว่า “วัดบ้านนาควาย” สร้างกุฏิให้พระสงฆ์อยู่อาศัย มีเจ้าอาวาสรูปแรกคือ หลวงปู่แดง

ต่อมาเจ้าอาวาสรูปที่ 2 คือ พระอาจารย์ทา หรือชาวบ้านเรียกว่า ญาคูทา ได้ชักชวนชาวบ้านก่อสร้างโบสถ์หรือสิม เป็นสิมทึบที่มีขนาด 11 ศอก 1 คืบ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก โดยญาคูทาเป็นช่างก่อสร้าง และอาศัยแรงงานจากชาวบ้านทั้งหมด วัสดุในการก่อสร้างส่วนฐานจะก่ออิฐถือปูน แต่ปูนที่ใช้ในสมัยนั้นอาศัยบ่อปูนตามท้องห้วยหลายแห่ง แม้ปูนจะไม่ขาวมากนัก แต่มีคุณภาพดีมาก เสาไม้ใช้ไม้ในท้องถิ่น เช่น ไม้เต็ง ไม้มะค่าแต้ ไม้แดง โครงหลังคาเป็นเครื่องไม้ รวมทั้งเครื่องมุงก็เป็นไม้ ที่เรียกว่า แป้นมุง ใช้เวลาก่อสร้าง 3-4 ปี จึงเสร็จ และได้ใช้งานมาตลอดจนถึงปัจจุบัน ส่วนปีที่สร้างสิมนั้นไม่สามารถระบุแน่ชัดได้

พระประธานในศาลาการเปรียญวัดบ้านนาควาย
พระประธานในศาลาการเปรียญวัดบ้านนาควาย
หอระฆังวัดบ้านนาควาย
หอระฆังวัดบ้านนาควาย
พระพุทธรูปที่ประดิษฐานภายในสิมวัดบ้านนาควาย
พระพุทธรูปที่ประดิษฐานภายในสิมวัดบ้านนาควาย
พระพุทธรูปที่ประดิษฐานภายในสิมวัดบ้านนาควาย
พระพุทธรูปที่ประดิษฐานภายในสิมวัดบ้านนาควาย

สิมวัดบ้านนาควาย

โบราณสถานสำคัญของวัดบ้านนาควาย ได้แก่ สิม ตั้งอยู่ในตำแหน่งเกือบกึ่งกลางของวัด ลักษณะเป็นอาคารทึบก่ออิฐถือปูน มีขนาดเล็ก แผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 3 ห้อง ขนาดกว้าง 5.5 เมตร ยาว 9 เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ทางขึ้นมีเพียงด้านหน้าด้านเดียว มีมุขโถงด้านหน้า เสาด้านหน้าเป็นเสาไม้กลม 2 ต้นรองรับโครงสร้างหลังคา ในส่วนของมุขด้านหน้ามีพนักล้อมรอบ ตรงกลางพนักด้านหน้าเว้นช่องว่างสำหรับทางขึ้นและมีบันไดอยู่ด้านหน้า ด้านหน้าสิมมีการสร้างเพิงต่อออกมา (พบมากในสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอีสาน เรียกว่า เกย) คาดว่าน่าจะสร้างขึ้นภายหลังเพื่อให้ผู้หญิงสามารถเข้าไปอยู่ใกล้สิมได้แต่ไม่สามารถเข้าไปด้านในได้ ภายในสิมมีฐานชุกชีเป็นแท่นสี่เหลี่ยมยาวติดกับผนังด้านหลัง ประดิษฐานพระประธานบนฐานชุกชีก่ออิฐฉาบปูน

สิมวัดบ้านนาควาย
สิมวัดบ้านนาควาย
ด้านหน้าสิมวัดบ้านนาควาย
ด้านหน้าสิมวัดบ้านนาควาย

ส่วนฐานสิมเป็นฐานเอวขันธ์ หรือฐานบัวงอนแบบล้านช้าง ดูเรียบง่ายและบึกบึน ฐานล่างสุดเป็นฐานเขียง 3 ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวคว่ำ ท้องไม้คาดลูกแก้วอกไก่ เหนือขึ้นไปเป็นบัวหวายและต่อด้วยบัวคว่ำ โดยไม่มีท้องไม้คั่น และจบด้วยเส้นรองรับผนังสิม ลักษณะยอดบัวทั้งหมดสะบัดปลายงอน

ฐานเอวขันธ์ สิมวัดบ้านนาควาย
ฐานเอวขันธ์ สิมวัดบ้านนาควาย

ผนังสิมที่ด้านข้างทั้ง 2 ด้าน มีการเจาะช่องหน้าต่างด้านละ 1 ช่อง บานหน้าต่างเป็นไม้สลักลวดลายดอกไม้ที่อกเลา ผนังด้านหลังก่อทึบทั้งหมด ผนังด้านหน้ามีประตูทางเข้าตรงกลาง 1 ช่อง บานประตูเป็นไม้สลักลวดลายดอกไม้ที่อกเลาเช่นกัน จากประวัติการศึกษาระบุว่าผนังด้านในสิมทั้ง 4 ด้านและผนังด้านนอกด้านหน้ามีภาพจิตรกรรมเล่าเรื่องพุทธประวัติ

ด้านข้างของสิมวัดบ้านนาควาย
ด้านข้างของสิมวัดบ้านนาควาย

ภาพจิตรกรรมที่ผนังด้านนอกปรากฏอยู่บริเวณส่วนที่ติดกับหลังคามุขลงมาจนถึงครึ่งบนของประตูสิม ภาพจิตรกรรมส่วนใหญ่เขียนด้วยสีดำและสีเหลือง (พบสีเขียวเล็กน้อย) สภาพลางเลือนไปบางส่วน มีตัวอักษรไทยน้อย 6 บรรทัด เขียนอยู่เหนือประตู รวมถึงแทรกไว้ประปรายอยู่กับภาพจิตรกรรม

ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่อยู่เหนือประตูทางเข้าสิมวัดบ้านนาควาย
ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่อยู่เหนือประตูทางเข้าสิมวัดบ้านนาควาย

หลังคาสิมเป็นหลังคาจั่วชั้นเดียว เดิมมุงด้วยแป้นมุงหรือแป้นเกล็ด ปัจจุบันมุงด้วยกระเบื้องดินเผา แบบเกล็ดเต่า รูปแบบหลังคาไม่มีการแอ่นลาด แสดงถึงอิทธิพลสถาปัตยกรรมจากภาคกลาง

แป้นลมมีลักษณะเป็นแผ่นไม้เรียบตรง ทอดตัวยาวตามแนวหลังคาทรงจั่ว เรียกว่า ตัวรวย และมีการประดับด้วยใบระกา

ช่อฟ้าหรือโหง่เป็นไม้แกะสลักตามรูปแบบช่อฟ้าของภาคกลาง แต่มีลักษณะสะบัดโค้งส่วนปลายมากกว่า แสดงถึงรูปแบบศิลปะลาวที่มีเอกลักษณ์เรื่องความอ่อนช้อยและโค้งงอน

สีหน้าหรือหน้าบัน เป็นกรอบขื่อลายไม้ตั้ง ซึ่งพบมากในเรือนพื้นถิ่นอีสาน

ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ในส่วนหลังคาของสิมวัดบ้านนาควาย
ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ในส่วนหลังคาของสิมวัดบ้านนาควาย
ค้นทวยไม้ สิมวัดบ้านนาควาย
ค้นทวยไม้ สิมวัดบ้านนาควาย

แขนนางหรือคันทวย ประดับอยู่ผนังสิมทั้ง 2 ด้าน ด้านละ 5 ตัว เป็นคันทวยแบบไม้แผง มีลักษณะเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมยาว บริเวณส่วนกลางตกแต่งด้วยลายกาบบนและกาบล่าง ส่วนบนและส่วนล่างสลักเป็นลวดบัวคว่ำและบัวหงาย การทำคันทวยแบบไม้แผง เป็นเอกลักษณ์ของศิลปะพื้นบ้านอีสานที่ลักษณะค่อนข้างหนาหนัก

จิตรกรรมฝาผนังในสิมวัดบ้านนาควาย

จิตรกรรมฝาผนังในสิมวัดนาควายไม่มีประวัติว่าผู้ใดเขียน และเขียนขึ้นเมื่อใด ภาพจิตรกรรมที่ผนังทั้งด้านนอกและด้านในสิม โดยผนังด้านนอกมีภาพที่บริเวณผนังเหนือกรอบประตูทางเข้า ส่วนด้านในมีจิตรกรรมฝาผนังทั้ง 4 ด้าน

จิตรกรรมฝาผนังที่เขียนอยู่ด้านนอกเหนือกรอบประตูนั้น เป็นการเขียนภาพบนพื้นขาว ขอบภาพเขียนโดยใช้สีดำ สีเดิมหรือระบายเป็นสีเหลืองนวล เขียว และดำ ลักษณะการเขียนภาพเป็นภาพผสมผสานระหว่างพุทธประวัติและวิถีชีวิต โดยภาพหลักของผนังส่วนบน เป็นภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ จิตรกรเขียนเป็นภาพพระพุทธเจ้าประทับปางสมาธิ มีพระแม่ธรณีบีบมวยผม เพื่อให้น้ำมาขับไล่ทั้งยักษ์ มารที่เข้ามาผจญก่อกวนพระพุทธองค์ ก่อนที่พระโพธิสัตย์จะทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ส่วนภาพด้านล่างเป็นภาพวิถีชีิวิต มีภาพชาวอีสานเป่าแคนและฟ้อนรำ และภาพวงปี่พาทย์ของภาคกลางอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีภาพบุคคลที่เป็นเอกเทศ ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวใดน่าสนใจจำนวน 3 กลุ่ม คือ หนึ่ง สตรีสวมชฎาเดินเรียงกัน 3 บุคคล ซึ่งอาจหมายถึง นางฟ้าอยู่ด้านทิศใต้ และสตรีหลังค่อมถือไม้เท้า แสดงถึงความชราภาพเดินเรียงกัน 3 บุคคลเช่นกัน ที่น่าสังเกตคือ สตรีผู้เฒ่านั้นสวมชฎาเช่นเดียวกันอยู่ด้านทิศเหนือ สองเป็นภาพบุคคลที่นั่งอยู่ในปราสาท และสาม บุคคลที่แต่งตัวคล้ายเป็นคนเชื้อสายจีน

ภาพจิตรกรรมฝาผนังด้านนอกสิมวัดบ้านนาควาย
ภาพจิตรกรรมฝาผนังด้านนอกสิมวัดบ้านนาควาย
ภาพจิตรกรรมฝาผนังด้านนอกสิมวัดบ้านนาควาย
ภาพจิตรกรรมฝาผนังด้านนอกสิมวัดบ้านนาควาย

นอกจากภาพเขียนแล้ว ตัวอักษรที่ปรากฏบนฝาผนังก็นับว่าเป็นหลักฐานที่น่าสนใจทำให้เข้าใจอะไรเกี่ยวกับผู้เขียนภาพหรือจิตรกรได้บางส่วน กล่าวคือ ตัวอักษรที่เขียนบรรยายนั้น เป็นการเขียนโดยใช้อักษรธรรมอีสาน แม้ว่าจะลบเลือนจนไม่สามารถจับใจความได้ ส่วนผนังด้านในส่วนใหญ่เป็นอักษรไทย และยังมีตัวอักษรที่จุดหนึ่งซึ่งมีความน่าสนใจ ตัวอักษรที่เขียนบริเวณภาพพุทธประวัติ ตอนพระพุทธเจ้าปรินิพพาน เป็นการเขียนโดยใช้อักษรไทยแต่กลับมีลักษณะกลมมนอย่างอักษรธรรมอีสาน เมื่อพิจารณาจากภาพวาด ซึ่งมีทั้งวงดนตรีปี่พาทย์ของทางภาคกลาง วงแคนของทางอีสาน ผนวกกับตัวอักษรที่พบบนจิตรกรรรมฝาผนัง อาจจะสามารถกล่าวได้ว่า ผู้เขียนภาพนี้น่าจะมีทั้งจิตรกรหรือช่างจากกรุงเทพฯ และช่างท้องถิ่น

ภาพจิตรกรรมฝาผนังด้านในสิมวัดบ้านนาควาย
ภาพจิตรกรรมฝาผนังด้านในสิมวัดบ้านนาควาย
ภาพจิตรกรรมฝาผนังด้านในสิมวัดบ้านนาควาย
ภาพจิตรกรรมฝาผนังด้านในสิมวัดบ้านนาควาย

ที่ตั้ง วัดบ้านนาควาย

บ้านนาควาย ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ วัดบ้านนาควาย  

15.261712, 104.852040

บรรณานุกรม 

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล. (2559). วัดบ้านนาควาย. http://www.sac.or.th/databases/archaeology/archaeology/วัดบ้านนาควาย, 9 สิงหาคม 2559

พรรณธิพา สุวรรณี. (2556). สิมพื้นบ้านแบบภาคอีสานในเขตเมืองอุบลราชธานี. สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (ประวัติศาสตร์ศิลปะ) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง