วัดบ้านตำแย คันทวยไม้บนสิมงาม

วัดบ้านตำแย อุบลราชธานี มีโบราณสถานที่สำคัญ คือ สิมทึบก่ออิฐถือปูน งานสถาปัตยกรรมท้องถิ่นที่ผสมระหว่างศิลปะกรรมของภาคกลางและพื้นถิ่นอีสาน สิมนี้มีความโดดเด่นงดงามด้วยคันทวยไม้แกะสลักรูปพญานาคมีปีก ผนังด้านหน้าทางเข้าสิมมีภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังและจารึกอักษรไทยน้อยแบบโบราณอีสาน

พระประธานในศาลาการเปรียญวัดบ้านตำแย อุบลราชธานี
พระประธานในศาลาการเปรียญวัดบ้านตำแย อุบลราชธานี
วัดบ้านตำแย อุบลราชธานี
วัดบ้านตำแย อุบลราชธานี

ประวัติวัดบ้านตำแย อุบลราชธานี 

วัดบ้านตำแย จังหวัดอุบลราชธานี ตั้งอยู่ใกล้กับวัดสระประสานสุข หรือวัดหลวงปู่บุญมี บ้านนาเมือง พื้นที่ตั้งวัดอยู่ติดกับกับกองบิน 21 อุบลราชธานี วัดบ้านตำแย เป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ไม่ปรากฏหลักฐานการก่อตั้งวัดที่แน่ชัด แต่จากตัวอักษรไทยน้อย ภาษาอีสานผสมกับภาษาบาลีที่เขียนอยู่ผนังด้านนอกเหนือประตูทางเข้าสิมระบุว่า สิมหลังนี้สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ.2417 โดยญาคูทา สมเด็จชาดา ภิกษุ สามเณร และอุบาสก ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2533

สิมวัดบ้านตำแย

สิมวัดบ้านตำแย เป็นโบราณสถานสำคัญของวัดบ้านตำแย ลักษณะโดยทั่วไปของสิมเป็นอาคารทึบขนาดเล็กก่ออิฐถือปูน แผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 3 ห้อง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ด้านหน้ามีมุขโถงที่มีพนักล้อมรอบ ยกเว้นตรงกลางพนักหน้าที่เว้นช่องสำหรับเป็นบันไดซึ่งเป็นทางขึ้นลงเดียวของสิมหลังนี้ ด้านหน้ามีเสา 2 ต้นรองรับส่วนหลังคา ลักษณะเป็นเสาไม้กลม

สิมวัดบ้านตำแย
ด้านหน้าของสิมวัดบ้านตำแย

ส่วนฐานสิมเป็นฐานเอวขันธ์หรือบัวงอนแบบล้านช้าง แต่ลักษณะไม่อ่อนช้อยดังเช่นศิลปะล้านช้าง จึงสันนิษฐานว่าเป็นรูปแบบของท้องถิ่น ฐานล่างสุดเป็นฐานเรียงซ้อนกัน 3 ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวคว่ำ ท้องไม้คาดลูกแก้วอกไก่ ถัดขึ้นไปเป็นบัวหงาย บัวคว่ำ (ไม่มีท้องไม้) และจบด้วยเส้นรองรับผนังสิม ลักษณะปลายลวดบัวทั้งหมดสะบัดปลายงอน

ฐานเอวขันธ์ของสิมวัดบ้านตำแย
ฐานเอวขันธ์ของสิมวัดบ้านตำแย

ผนังด้านข้างของสิมทั้ง 2 ด้านมีการเจาะช่องด้านหน้าต่างด้านละ 1 ช่อง ผนังด้านหลังก่อทึบ ผนังด้านหน้ามีประมาณทางเข้าตรงกลาง 1 ช่อง บานหน้าต่างและประตูทั้งหมดเป็นบานไม้ ไม่มีลวดลาย แต่มีการสลักลวดลายดอกไม้ที่อกเลา (ที่นมบน นมกลาง และนมล่าง)

ด้านข้างและด้านหลังของสิมวัดบ้านตำแย
ด้านข้างและด้านหลังของสิมวัดบ้านตำแย

ผนังด้านหน้าเหนือกรอบประตูทางเข้า (ด้านนอก) ปรากฏการเขียนตัวอักษรไทยน้อย ซึ่งจากการศึกษาของผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านมาทำให้ได้ข้อมูลว่าเป็นการกล่าวถึงผู้สร้างและปีที่สร้างพระพุทธรูปประธานของวัดและการสร้างสิม (พรรณธิพา สุวรรณี 2556 : 41-48)

อักษรที่จารึกไว้บนผนังทางเข้าสิมวัดบ้านตำแย
อักษรที่จารึกไว้บนผนังทางเข้าสิมวัดบ้านตำแย ข้อความที่ 1
อักษรที่จารึกไว้บนผนังทางเข้าสิมวัดบ้านตำแย ข้อความที่ 2
อักษรที่จารึกไว้บนผนังทางเข้าสิมวัดบ้านตำแย ข้อความที่ 2

หลังคาสิมเป็นหลังคาทรงจั่วเพียงชั้นเดียว ส่วนปลายจั่วมีลักษณะแอ่นโค้งเล็กน้อยคล้ายศิลปะลาว มุงด้วยแผ่นกระเบื้องดินเผา แบบกระเบื้องเกล็ดปลา (เดิมมุงด้วยแป้นเกล็ด)

แป้นลมมีลักษณะเป็นแผ่นไม้เรียบตรงทอดตัวยาวตามแนวหลังคาทรงจั่ว เรียกว่า ตัวรวย (แสดงถึงอิทธิพลศิลปะลาว) และประดับด้วยใบระกา (อิทธิพลภาคกลาง)

ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ สิมวัดบ้านตำแย
ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ สิมวัดบ้านตำแย

ช่อฟ้า หรือโหง่ เป็นไม้แกะสลัก มีรูปแบบอย่างช่อฟ้าในสถาปัตยกรรมไทยภาคกลาง แต่มีลักษณะสะบัดโค้งส่วนปลายมากกว่า ส่วนคันดกหรือหางหงส์พบวางอยู่ข้างบันไดทางขึ้นสิม 3 ชิ้น เป็นไม้แกะสลักเป็นรูปพญานาค

สีหน้าหรือหน้าบัน มีลักษณะเป็นหน้าบันไม้ลายไม้ตั้ง ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับลายพื้นถิ่นอีสาน

แขนนางหรือคันทวย ประดับผนังด้านข้าง ๆ ละ 5 ตัว เป็นคันทวยไม้แกะสลักรูปพญานาคมีปีก ลักษณะม้วนคดโค้งไปมา เศียรพญานาคอยู่ด้านล่าง หางอยู่ด้านบนสลักเป็นลายกนก ตามลำตัวพญานาคมีการสลักครีบตามลำตัว มีเต้ารับด้านล่าง (พรรณธิพา สุวรรณี 2556 : 41-48)

คันทวยไม้แกะสลักสิมวัดบ้านตำแย
คันทวยไม้แกะสลักสิมวัดบ้านตำแย

ภายในสิมแห่งนี้ไม่มีฐานชุกชี ผนังทั้งด้านในและด้านนอกไม่มีภาพจิตรกรรม ยกเว้นการเขียนตัวอักษรที่ผนังด้านนอกหน้าสิมดังที่กล่าวข้างต้น

วัดบ้านตำแย ถือเป็นวัดเก่าแก่อีกแห่งในจังหวัดอุบลราชธานี สิมวัดบ้านตำแยแห่งนี้ กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนสิมวัดบ้านตำแยเป็นโบราณสถานของชาติในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 114 ตอนพิเศษ 80ง วันที่ 12 กันยายน 2540 และได้ดำเนินการบูรณะเมื่อปี พ.ศ. 2545

กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนสิมวัดบ้านตำแยเป็นโบราณสถานของชาติ
กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนสิมวัดบ้านตำแยเป็นโบราณสถานของชาติ

ที่ตั้ง วัดบ้านตำแย

บ้านตำแย ตำบลไร่น้อย อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ วัดบ้านตำแย

15.269014, 104.865330

บรรณานุกรม

ทะนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล. (2559). วัดบ้านตำแย, วันที่ 8 สิงหาคม 2559. http://www.sac.or.th/databases/archaeology/archaeology/วัดบ้านตำแย

พรรณธิพา สุวรรณี. (2556). สิมพื้นบ้านแบบภาคอีสานในเขตเมืองอุบลราชธานี. สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (ประวัติศาสตร์ศิลปะ) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง