พิพิธภัณฑ์วัดศรีอุบลรัตนาราม สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน

พิพิธภัณฑ์วัดศรีอุบลรัตนาราม จังหวัดอุบลราชธานี เป็นการปรับปรุงอาคารหอแจกหรือศาลาการเปรียญของวัดศรีอุบลรัตนารามให้เป็นพิพิธภัณฑ์แหล่งเรียนรู้ของชุมชน เริ่มตั้งแต่อาคารหอแจกที่รูปแบบงานสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน เช่น งานไม้แกะสลักช่อฟ้าหรือโหง่ หางหงส์ ประตู หน้าต่างของหอแจก ภายในเก็บรวบรวมและจัดแสดงพระพุทธรูป สิ่งของเครื่องใช้ทางพระพุทธศาสนา เช่น ตู้พระไตรปิฏก ผ้าห่อคัมภีร์ใบลาน

พิพิธภัณฑ์วัดศรีอุบลรัตนาราม
พิพิธภัณฑ์วัดศรีอุบลรัตนาราม

ประวัติความเป็นมาของการสร้างพิพิธภัณฑ์วัดศรีอุบลรัตนาราม 

อาคารหอแจกหรือศาลาการเปรียญของวัดศรีอุบลรัตนาราม จังหวัดอุบลราชธานี ได้ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็น พิพิธภัณฑ์วัดศรีอุบลรัตนาราม ในปี 2545 จากเดิมที่เป็นอาคารไม้ยกสูงมีสภาพทรุดโทรม จึงได้มีการบูรณะอาคารหอแจกขึ้นใหม่แต่ยังคงใช้วัสดุและการตกแต่งแบบเดิม ชั้นบนของอาคารเป็นที่ประดิษฐานพระประธานในหอแจก ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยพระเทวธัมมี (ม้าว) เป็นเจ้าอาวาส เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย นั่งขัดสมาธิเพชร แกะสลักจากไม้กันเกรา หน้าตักกว้าง 1.30 เมตร สูง 1.40 เมตร ลงรัก ทาชาดสีแดงปิดทองคำเปลวทั้งองค์ ประดิษฐานอยู่ภายในบุษบกไม้ทั้งหลัง ที่สร้างขึ้นพร้อมกันกับพระพุทธรูปไม้แกะสลักองค์นี้ และมีบุษบกไม้ชนิดเดียวกันมีขนาดลดหลั่นกันลงมากระหนาบอยู่ทั้งสองข้าง และภายในบุษบกประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งสองบุษบก

พระพุทธรูปไม้กันเกราแกะสลัก ประดิษฐานภายในพิพิธภัณฑ์วัดศรีอุบลราชธานี
พระพุทธรูปไม้กันเกราแกะสลัก ประดิษฐานภายในพิพิธภัณฑ์วัดศรีอุบลราชธานี

นอกจากนั้นแล้วภายในพิพิธภัณฑ์ยังมีการจัดแสดงวัตถุโบราณต่าง ๆ ซึ่งมีอายุนับร้อยปี ที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา เช่น พระพุทธรูปขนาดเล็กหลายองค์ที่ส่วนใหญ่มีพุทธลักษณะแบบล้านช้าง พบภายใต้ฐานพระพุทธรูปเมื่อคราวเคลื่อนย้ายซ่อมแซมหอแจก ตู้ลายรดน้ำปิดทองที่ใช้สำหรับเก็บพระไตรปิฎกที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 6 รวมถึงตู้หนังสือซึ่งเป็นฝีมือของช่างท้องถิ่นทั้งเทคนิคการแกะสลัก ลายรดน้ำ และลายกระแหนะรักปั้น ลงรักปิดทอง ที่สะท้อนศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น หนังสือผูก คัมภีร์ใบลาน ผ้าห่อคัมภีร์ใบลาน ซึ่งเดิมผู้คนแถบนี้นำมาถวายให้กับทางวัด เป็นผ้าชิ้นใหม่ที่ยังไม่ผ่านการใช้งานแต่นำมาถวายเพื่อเป็นสมบัติของพระศาสนา พระภิกษุจะนำไปใช้ห่อเก็บคัมภีร์เพื่อรักษาไว้ให้อยู่ได้นาน ๆ ซึ่งมีทั้งผ้าซิ่นสำหรับสตรี มีส่วนของหัวซิ่น ตัวซิ่น และตีนซิ่นครบถ้วน บางผืนขาดวิ่นไปตามกาลเวลา แต่นับว่าเป็นแหล่งข้อมูลอันทรงคุณค่าสำหรับผู้สนใจศึกษาผ้าโบราณพื้นเมืองอีสาน เนื่องจากคาดว่ามีเกือบครบทุกประเภท

ตู้พระคัมภีร์ ภายในพิพิธภัณฑ์วัดศรีอุบลรัตนาราม
ตู้พระคัมภีร์ ภายในพิพิธภัณฑ์วัดศรีอุบลรัตนาราม
งานไม้แกะสลักในพิพิธภัณฑ์วัดศรีอุบลรัตนาราม
งานไม้แกะสลักในพิพิธภัณฑ์วัดศรีอุบลรัตนาราม
คนโทน้ำในพิพิธภัณฑ์วัดศรีอุบลรัตนาราม
คนโทน้ำในพิพิธภัณฑ์วัดศรีอุบลรัตนาราม
ผ้าห่อคัมภีร์ในพิพิธภัณฑ์วัดศรีอุบลรัตนาราม
ผ้าห่อคัมภีร์ในพิพิธภัณฑ์วัดศรีอุบลรัตนาราม
บาตรพระในพิพิธภัณฑ์วัดศรีอุบลรัตนาราม
บาตรพระในพิพิธภัณฑ์วัดศรีอุบลรัตนาราม

ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เสด็จทรงเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์วัดศรีอุบลรัตนาราม เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2549 พิพิธภัณฑ์จะเปิดให้เข้าชม ในวันพุธ-วันอาทิตย์ ระหว่างเวลา 09.00-16.00 น. โดยไม่คิดค่าบริการ

ที่ตั้ง พิพิธภัณฑ์วัดศรีอุบลรัตนาราม

วัดศรีอุบลรัตนาราม ถนนอุปราช ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ พิพิธภัณฑ์วัดศรีอุบลรัตนาราม

15.228056, 104.856088

บรรณานุกรม

มะลิวัลย์ สินน้อย, ผู้รวบรวม. (2553). ฐานข้อมูลการท่องเที่ยวในจังหวัดอุบลราชธานี, 18 มกราคม 2558. http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/ubontravel

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง