นภดล ดวงพร ตำนานแห่งเพชรพิณทอง

นายณรงค์ พงษ์ภาพ หรือ นภดล ดวงพร ชาวอุบลราชธานี ผู้มีผลงานด้านศิลปะพื้นบ้านอีสานและผู้สร้างตำนานวงดนตรีเพชรพิณทอง วงดนตรีที่ใช้ภาษาไทยอีสานเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ใช้แคนและพิณเป็นเครื่องดนตรีหลักของวง โดยมีจุดประสงค์การตั้งวงดนตรีเพื่อรักษาและสืบทอดเอกลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่นอีสานไว้

นภดล ดวงพร หรือ นายณรงค์ พงษ์ภาพ ศิลปินพื้นบ้านอีสาน
นภดล ดวงพร หรือ นายณรงค์ พงษ์ภาพ ศิลปินพื้นบ้านอีสาน ภาพจาก google.com
นภดล ดวงพร ตำนานเพชรพิณทอง
นภดล ดวงพร ตำนานเพชรพิณทอง

ผลงานและการเผยแพร่ ของนภดล ดวงพร

นภดล ดวงพร มีผลงานด้านศิลปะพื้นบ้านอีสานมาตั้งแต่เด็ก เพราะมีพ่อเป็นหมอลำและนักแต่งกลอนลำ ด้วยความสนใจและความกล้าแสดงออกทำให้ได้ขึ้นเวทีลำกลอนกับหมอลำหญิงหลายครั้งตั้งแต่ยังเด็ก และได้ประกวดร้องเพลงหลายเวที แม้จะไม่เคยชนะการประกวด แต่ก็ไม่ย่อท้อ ด้วยจิตใจที่รักการแสดง จึงไปสมัครอยู่กับ “วงดนตรีพิพัฒน์บริบูรณ์” ของศักดิ์ศรี ศรีอักษร ได้ตำแหน่งแบกกลองและขนสัมภาระในวง ต่อมาได้ออกไปอยู่กับ “วงดนตรีจุฬารัตน์” มีโอกาสเป็นพิธีกรและเล่นตลก โดยไม่ได้รับค่าตอบแทน แต่เพื่อน ๆ ในวงแบ่งปันเงินให้ใช้บ้าง หลังจากนั้นได้ออกจากวงจุฬารัตน์กลับมาอยู่บ้านที่จังหวัดอุบลราชธานี ได้จัดรายการวิทยุกระจายเสียงทางสถานีวิทยุทหารอากาศ 08 (ทอ.08) จังหวัดอุบลราชธานี โดยจัดรายการแสดงหมอลำ ตามคำขอและตอบจดหมาย ได้รับความนิยมจากแฟนเพลงเป็นจำนวนมาก

ผลงานของนภดล ดวงพร ในนามของวงดนตรีเพชรพิณทอง
ผลงานของนภดล ดวงพร ในนามของวงดนตรีเพชรพิณทอง

วงดนตรีเพชรพิณทอง

ในปี พ.ศ. 2514 นภดล ดวงพร ได้ตั้งวงดนตรีขึ้น ให้ชื่อว่า “เพชรพิณทอง” เป็นวงดนตรีที่ใช้ภาษาไทยอีสานในการสื่อสารเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในวงมีการใช้แคนและพิณเป็นเครื่องดนตรีหลักของวง โดยมีจุดประสงค์ในการตั้งวงดนตรีเพื่อรักษาและสืบทอดเอกลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่นอีสานไว้ และในขณะเดียวกันก็ได้พยายามพัฒนา ปรับปรุงดนตรีให้เข้ากับสมัยนิยม ได้คิดค้นวิธีทำพิณให้มีเสียงดังโดยใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าเหมือนกับกีตาร์ได้สำเร็จ และได้ใช้งานมาโดยตลอด วงดนตรีเพชรพิณทอง ของนภดล ดวงพร ได้รับความนิยมมากจนเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป จากความนิยมดังกล่าวทำให้ได้รับคัดเลือกจากกรมประชาสัมพันธ์ให้แสดงต่อหน้าพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงได้ตรัสชมว่า “เพชรของเขาดีจริง ๆ” ยังความปลาบปลื้มในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้แก่นภดล ดวงพรและลูกวงดนตรีเพชรพิณทอง

นภดล ดวงพรให้การสนับสนุน นายทองใส ทับถนน มือพิณของวงเพชรพิณทองให้พัฒนาฝีมือจนได้เป็นมือพิณอันดับหนึ่งของเมืองไทยเป็นที่นิยมและรู้จักของคนทั่วไปจนทุกวันนี้

นภดล ดวงพร และทองใส ทับถนน มือพิณของวงดนตรีเพชรพิณทอง
นภดล ดวงพร และทองใส ทับถนน มือพิณของวงดนตรีเพชรพิณทอง

นอกจากผลงานด้านวงดนตรีแล้ว นภดล ดวงพร ยังได้แสดงภาพยนตร์อีกหลายเรื่อง และเรื่องที่ทำให้ผู้คนรู้จักมาก คือ เรื่อง ครูบ้านนอก จากบทตลกในภาพยนตร์ทำให้เขามีความคิดทำเทปตลกออกจำหน่ายและได้รับความนิยมเป็นอย่างยิ่ง เทปตลกที่เขาทำออกจำหน่ายมีมากกว่า 20 ชุด ที่เป็นที่นิยมและโด่งดัง ได้แก่ หนิงหน่องย่านเมีย บวชลุงแนบ สามใบเถา เป็นต้น เนื่องจากยอดจำหน่ายเทปสูงสุดจึงได้รับรางวัลโล่เกียรติคุณในฐานะที่ทำรายได้จากการขายเทป ใน พ.ศ. 2529

นภดล ดวงพร ได้บริหารจัดการวงดนตรีเพชรพิณทองอย่างเป็นระบบ จัดสวัสดิการหอพักสำหรับให้ลูกวงอาศัย โดยแยกชายหญิง มีแม่ครัวจัดเตรียมอาหารให้ มีกฎห้ามลูกวงดื่มสุรา ห้ามเล่นการพนันทั้งนอกและในเวลาแสดง การจัดระบบบริหารภายในวงดนตรีของนภดล ดวงพรได้รับการยกย่องเป็นที่ยอมรับจนเป็นแบบอย่างในการบริหารงานของวงดนตรีอีกหลายคณะ

นภดล ดวงพร ในฐานะผู้ถ่ายทอดและเผยอพร่องค์ความรู้ด้านศิลปการแสดงพื้นบ้านอีสาน
นภดล ดวงพร ในฐานะผู้ถ่ายทอดและเผยอพร่องค์ความรู้ด้านศิลปการแสดงพื้นบ้านอีสาน
นภดล ดวงพร และอังคนางค์ คุณไชย ศิลปินพื้นบ้านอีสาน
นภดล ดวงพร และอังคนางค์ คุณไชย ศิลปินพื้นบ้านอีสาน

ผลงานการแสดงของนภดล ดวงพร

นายณรงค์ พงษ์ภาพ มีผลงานการแสดงภาพยนตร์ หลายเรื่อง เช่น ครูบ้านนอก หนองหมาว้อ 7 สิงห์ตะวันเพลง จักกังกรรมกรเต็มขั้น ผู้ใหญ่มากับทุ่งหมาเมิน นักสืบฮาร์ด ครูข้าวเหนียว คนกลางแดด 15 ค่ำเดือน 11 ฯลฯ และการแสดงละครโทรทัศน์ เช่น โคกคูณตระกูลไข่ แคนลำโขง เพลงรักริมฝั่งโขง เทวดาสาธุ น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์ ฯลฯ

เกียรติคุณที่นภดล ดวงพรได้รับ

นภดล ดวงพร ได้ทำงานด้วยความทุ่มเท บากบั่น ต่อสู้อุปสรรคต่าง ๆ จนประสบผลสำเร็จ และได้รับเกียรติคุณและรางวัลมากมาย เช่น

  • พ.ศ. 2514 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ นำวงดนตรีเพชรพิณทอง แสดงต่อหน้าพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ณ เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น
  • พ.ศ. 2521 ประกาศเกียรติคุณดาราตุ๊กตาทองยอดนิยม จัดโดยนิตยสารดารารัตน์จากพระองค์เจ้าฯ เฉลิมพล ทิฆัมพร
  • พ.ศ.2524 โล่ประกาศยกย่องจากคณะกรรมการอำนวยการจัดงานปีคนพิการสากล พ.ศ. 2524 ในการช่วยเหลือให้การสนับสนุนและช่วยเหลือในการจัดหาทุนช่วยเหลือคนพิการ
  • พ.ศ. 2527 โล่ประกาศเกียรติคุณจากศูนย์ประชาสัมพันธ์ เขต 1 กรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ให้ความร่วมมือช่วยเหลือราชการศูนย์ประชาสัมพันธ์ เขต 1
  • พ.ศ. 2528 โล่ประกาศเกียรติคุณในฐานะนักจัดรายการโทรทัศน์ดีเด่น ด้านส่งเสริมดนตรีเยาวชนและศิลปะพื้นบ้าน มอบอุปกรณ์และสนับสนุนกิจกรรมเพื่อการประชาสัมพันธ์ของรัฐอย่างดียิ่ง จากกรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี
  • พ.ศ. 2529 โล่เกียรติคุณในฐานะที่ทำรายได้ในการจำหน่ายเทปสูงสุด
  • พ.ศ. 2533 โล่จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเพื่อเชิดชูเกียรติคุณ เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาศิลปะการแสดงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำปี 2532
  • พ.ศ. 2534 โล่เกียรติคุณจากกระทรวงสาธารณสุข ในการเป็นคณะทำงานประสานการรณรงค์อีสานไม่กินปลาดิบ โดยสื่อมวลชนและศิลปินท้องถิ่น, ประกาศเกียรติคุณจากกรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะให้การสนับสนุนโครงการควบคุมโรคใบไม้ในตับ
  • พ.ศ. 2535 โล่ประกาศเกียรติคุณจากกรมควบคุมโรคติดต่อ ในฐานะผู้ให้การสนับสนุนโครงการรณรงค์อีสานไม่กินปลาดิบ
  • พ.ศ. 2536 โล่เชิดชูเกียรติในฐานะผู้ให้การสนับสนุนรณรงค์การไม่สูบบุหรี่ของจังหวัดกาฬสินธุ์
  • พ.ศ. 2539 โล่ประกาศเกียรติคุณจากกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะร่วมกิจกรรมการรณรงค์ส่งเสริมการไม่สูบบุหรี่
  • พ.ศ. 2541 โล่ประกาศเกียรติคุณ จาก จังหวัดอุบลราชธานี ในฐานะผู้สนับสนุนกิจกรรมวันแม่แห่งชาติ
  • พ.ศ. 2546 รางวัลนักแสดงนำฝ่ายชายยอดเยี่ยมปี 2545 จากภาพยนตร์เรื่อง 15 ค่ำ เดือน 11 ของชมรมวิจารณ์บันเทิง
  • พ.ศ. 2546 รางวัลนักแสดงนำฝ่ายชายยอดเยี่ยม ปี 2545 จากภาพยนตร์เรื่อง 15 ค่ำ เดือน 11 ของงานประกาศผลรางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ จัดโดยสมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 12
  •  พ.ศ. 2557 ได้รับยกย่องเชิดชูเป็นมูนมังเมืองอุบลราชธานี
นภดล ดวงพร และอาจารย์ปัญญา แพงเหล่า มูนมังความรู้ของเมืองอุบลราชธานี
นภดล ดวงพร และอาจารย์ปัญญา แพงเหล่า มูนมังความรู้ของเมืองอุบลราชธานี

บรรณานุกรม

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุบลราชธานี. (2552). อุบลราชธานี เมืองนักปราชญ์. อุบลราชธานี: สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุบลราชธานี.

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง