โบราณสถานโนนแก แหล่งโบราณคดีอารยะธรรมขอม

โบราณสถานโนนแก อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี พบซากปรักหักพังของอาคาร ซึ่งคาดว่าจะเป็นศาสนสถานและเครื่องปั้นดินเผาในพิธีกรรมฝังศพ เป็นแหล่งเรียนรู้ทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์ อารยะธรรมขอม

ป้ายทางเข้าโบราณสถานโนนแก
ป้ายทางเข้าโบราณสถานโนนแก

สภาพทั่วไปของโบราณสถานโนนแก อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

สภาพทั่วไปของโบราณสถานโนนแกก่อนการขุดแต่ง มีสภาพเป็นเนินดินสูงขนาดใหญ่ ปกคลุมด้วยต้นไม้และวัชพืชขึ้นรกทึบ ประกอบด้วย ต้นมะขาม ต้นมะละกอ ต้นตาล ต้นกล้วย ไม้เลื้อย หญ้าและวัชพืชต่าง ๆ

ด้านทิศใต้ติดกับสวนยูคาลิปตัส ส่วนด้านทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันออก จะติดกับพื้นที่ทำกินของชาวบ้านคือที่นาและพื้นที่ปลูกพืชผักชนิดต่าง ๆ เช่น กล้วย มะขาม และมะละกอ

ส่วนทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเนินโบราณสถานจะเป็นเนินดินสูงมีป่าไม้ขึ้นรกทึบอีกเนินหนึ่งด้วย

นอกจากตัวโบราณสถานแล้วยังพบหนองน้ำ สันนิษฐานว่ามีอายุสมัยเดียวกับโบราณสถาน คือ หนองน้อย เป็นหนองน้ำขนาดเล็กรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ยังมีหนองน้ำสมัยเขมร อีกแห่งหนึ่งรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าอยู่ห่างจากโบราณสถานไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 1 กิโลเมตร

โบราณสถานโนนแก อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
โบราณสถานโนนแก อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

การศึกษาโบราณสถานโนนแก

ผลจากการขุดแต่งศึกษาโบราณสถานโนนแก และผลจากการขุดค้นพื้นที่บริเวณโบราณสถานและบริเวณใกล้เคียง โดยสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 8 อุบลราชธานี พบสิ่งก่อสร้างขนาดแตกต่างกันและหลายรูปแบบก่อสร้างด้วยหินแลงหรือศิลาแลง เป็นวัสดุหลัก อิฐ และทราย ลักษณะหินแลงมีขนาดเล็กกว่าโบราณสถานแบบขอมที่พบแพร่หลายในเขตอีสานใต้ และมีขนาดไม่สม่ำเสมอหรือใกล้เคียงกัน คือ มีขนาดตั้งแต่ 20x40x10 เซนติเมตร จนถึงขนาด 40x80x20 เซนติเมตร เป็นต้น

หินแลงที่นำมาก่อสร้างโบราณสถานนี้ ถูกตัดเป็นก้อนเหลี่ยมมาประกอบกันขึ้นเป็นโบราณสถานตามเทคนิคการก่อสร้างแบบนิยมในปราสาทของ คือ หินแต่ละก้อนจะมีร่องรอยของบ่าหินที่ถูกสกัดเป็นรอยไว้เพื่อนำหินก้อนต่อไปมาประกอบให้สนิทและต่อเนื่องกัน เทคนิคการก่อแบบนี้ได้พบในการก่อโบราณสถานโนนแกด้วย

โบราณสถานโนนแก
โบราณสถานโนนแก

สิ่งก่อสร้างที่พบ มีแผนผังคือ มีแนวกำแพงสร้างด้วยศิลาแลง ล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 40×50 เมตร มีร่องรอยของบันไดทางขึ้นที่กึ่งกลางด้านทิศตะวันออกภายในกำแพงมีโบราณสถานอยู่ 4 หลัง คือ

1.อาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 9×12.50 ก่อสร้างด้วยศิลาแลงสูง 50 เซนติเมตร จากระดับพื้นดินเดิม แกนอาคารด้านยาววางอยู่ในแนวทิศตะวันออก-ทิศตะวันตก อันเป็นทิศสำคัญของโบราณสถาน ภายในขอบเขตของฐานมีแนวเสาไว้วางอยู่ตามแกนทิศสำคัญนี้อยู่ 4 แถว ๆ ละ 6 ต้น เสาแถวในรองรับหลังคาเครื่องบน เสาแถวนอกรองรับโครงสร้างหลังคาปีกนก ผนังทั้ง 4 ด้านเปิดโล่ง มีบันไดทางขึ้นทางด้านหน้า (ทิศตะวันออก) อาคารนี้น่าจะใช้ประโยชน์เป็นวิหารโถง หลังคาเครื่องไม้มุงด้วยกระเบื้องเผา ที่มีรูปแบบเหมือนกับกระเบื้องดินเผาที่พบในกลุ่มโบราณสถานแบบศิลปเขมร

2.อาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 4.50×10 เมตร สันนิษฐานว่ามีความสูง 6.30 โครงสร้างฐานล่างก่อด้วยศิลาแลงผิวภายนอกฉาบปูน ก่อขึ้นสูง 1 เมตรจากพื้นผิวดิน ด้านหน้ามีบันไดทางเข้าโดยก่อเป็น ห้องมุข มีปลัง 3 ด้านเปิดโล่ง ยกเว้นทางด้านทิศตะวันตกจะเป็นผนังไม้ มีประตูทางเข้าสู่ตัวอาคาร ๆ มีผนัง 4 ด้าน สร้างด้วยไม้ โครงสร้างหลังคาเป็นเครื่องไม้รองรับกระเบื้องมุงหลังคาดินเผา ซึ่งหลังคาจะรองรับด้วยเสาไม้ภายในอาคารจำนวน 2 แถว ๆ ละ 4 ต้น และมุขหน้ามีเสารองรับหลังคาอีก 2 ต้น สันนิษฐานว่าผนังด้านหลังของอาคารจะสร้างติดกับแท่นฐานชุกชีประดิษฐานพระประธาน โดยก่อด้วยศิลาแลงฉาบปูน สูงประมาณ 70 เซนติเมตร

อาคารนี้เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมประเภทหนึ่งของสิม เป็นสิมทึบ สร้างด้วยไม้ กล่าวคือ เป็นสิมที่ทำผนังปิดทึบทั้ง 4 ด้าน ยกเว้นช่วงประตูและหน้าต่าง

3.อาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 6×9.80 เมตร สันนิษฐานว่ามีความสูง 6.70 เมตร สร้างหันด้านหน้าไปทางทิศตะวันตกชนกับก้านหน้าของอาคารหลังที่ 2 โครงสร้างฐานล่างก่อด้วยศิลาแลงฉาบปูนผนังก่อด้วยศิลาแลงหรืออิฐและฉาบปูน ด้านหน้ามีหน้าบันไดทางเข้าโดยก่อเป็นห้องมุข มีผนัง 3 ด้านเปิดโล่ง ยกเว้นทางด้านตะวันออก เป็นผนังของตัวอาคารซึ่งมีประตูทางเข้าสู่อาคาร ผนังอีก 3 ด้านของอาคารก่อทึบ มีช่องลมอยู่ทางด้านเหนือและด้านใต้โครงสร้างหลังคาเป็นเครื่องไม้รองรับกระเบื้องมุงหลังคาดินเผา ซึ่งหลังคาจะรองรับด้วยเสาไม้ภายในอาคารจำนวน 2 แถว ๆ ละ 3 ต้น และทางด้านหลังติดกับฐานพระจะมีเสาเพิ่มอีก 1 ต้น ตรงกลาง ทางด้านหน้ามีเสา 4 ต้น รองรับโครงหลังมุข

โบราณสถานโนนแก
โบราณสถานโนนแก

จากรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่วิเคราะห์ออกมา ซึ่งพิจารณาจากหลักฐานที่เหลืออยู่หลังการขุดแต่งเป็นสำคัญ หลักฐานใบเสมาหินที่พบทั้ง 7 คู่ ลักษณะการวางตำแหน่งใบเสมา จะหันหน้าเข้าหาอาคารหลังที่ 2 และ 3 และใบเสมาที่พบ 1 คู่ วางตำแหน่งซ้อนอยู่บนแนวอาคารหลังที่ 1 คงจะหมายถึงการเลิกประโยชน์จากอาคารหลังที่ 1 และให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากอาคารหลังที่ 2 และ 3 ซึ่งรูปแบบของอาคารที่เรียกว่า สิม ซึ่งปรากฏพบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

4. เป็นซากโบราณสถานที่เกิดจากการรื้อย้ายหินแลงมาสร้างอาคารหลังที่ 1-3 หรือโบราณสถานอื่น ๆ หรือเกิดจากการลักขุดหาโบราณวัตถุ ทำให้ไม่สามารถศึกษารูปแบบของโบราณสถานหลังนี้ได้ เนื่องจากหินแลงที่เหลือสภาพอยู่ไม่มีขอบเขตและมีการเรียงตัวอยู่เลย อย่างไรก็ดีหลุมขุดตรวจฐานรากอาคารพบว่ามีร่องรอยการก่อสร้างฐานรากในสมัยเดียวกับอาคารหลังที่ 1 จึงอาจกล่าวได้ว่า มีการก่อสร้างศาสนสถานประธานขึ้นในกลุ่มซากปรักหักพังของหินแลงได้ ประกอบกับตำแหน่งที่พบฐานรากเป็นตำแหน่งกึ่งกลางของแกนหลักของโบราณสถานด้วย

รูปแบบของการสร้างอาคารวิหารด้านข้างปราสาทประธาน และมีกำแพงล้อมรอบนี้เหมือนกับปราสาทโดนตวล ที่อำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ

โบราณสถานโนนแก
โบราณสถานโนนแก

หลักฐานโบราณวัตถุที่พบจากการขุดแต่งโบราณสถานโนนแก

ประกอบด้วย

1.หลักฐานกระเบื้องมุงหลังคาดินเผาชนิดกระเบื้องตัวผู้ กระเบื้องตัวเมีย หลักฐานกระเบื้องเชิงชายดินเผา ชิ้นส่วนบราลีดินเผา และตะปูปลิงโลหะเหล็ก หลักฐานเหล่านี้พบจาการขุดแต่งบริเวณกลุ่มอาคารหลังที่ 1-3 อธิบายได้ว่า อาคารทั้ง 3 หลัง มีโครงสร้างหลังคาเป็นเครื่องไม้รองรับกระเบื้องดินเผา ตะปูปลิงเป็นตัวยึดเครื่องไม้กระเบื้องตัวผู้และตัวเมีย วางซ้อนเรียงกันไปเป็นผืน มีกระเบื้องเชิงชายคามุมอยู่ริมชายคา ทำหน้าที่กันนกหรือค้างคาวมุดเข้าไปจนถึงเพดานหรือในอาคารได้ และบริเวณสันกลางหลังคาจะประดับด้วยบราลีสันหลังคา

2.หลักฐานประเภทภาชนะและเศษภาชนะดินเผา พบหลักฐานที่มีอายุสมัยในพุทธศตวรรษต่าง ๆ ได้แก่

  • หลักฐานเศษภาชนะดินเผาที่มีอายุร่วมสมัยกับทวารวดี ช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-16 เป็นเศษภาชนะดินเผาเนื้อธรรมดา ตกแต่งลวดลายเชือกทาบ ลวดลายจุด
  • หลักฐานเศษภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาเผาบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ ช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-18 เป็นเศษภาชนะดินเผาประเภทเนื้อแกร่ง เคลือบสีน้ำตาล เคลือบสีเขียว และไม่เคลือบ
  • หลักฐานเศษภาชนะดินเผาเครื่องถ้วยจีน สมัยราชวงศ์ซุ้ง ช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-18 เป็นเครื่องถ้วยเคลือบขาว
  • หลักฐานเศษภาชนะดินเผาที่มีอายุร่วมสมัยกับสมัยอยุธยา ช่วงพุทธศตวรรษที่ 19-24 เป็นเศษภาชนะดินเผาเนื้อดินธรรมดา ตกแต่งลายกลีบบัว ลาดกดประทับเป็นรูปข้าวหลามตัด ลายจุดประในร่องคู่
โบราณสถานโนนแก
โบราณสถานโนนแก

พัฒนาการของชุมชนและโบราณสถานโนนแก

จากหลักฐานต่าง ๆ สามารถอธิบายสรุปถึงลำดับพัฒนาการของชุมชนและโบราณสถาน ดังนี้

สมัยที่ 1 ชุมชนโบราณน่าจะเป็นการอยู่อาศัยระยะเริ่มแรกในช่วงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ถึงสมัยหัวเลี้ยวหัวต่อประวัติศาสตร์ หรือประมาณ 2000-1500 ปีมาแล้ว ปรากฏพบหลักฐานการฝังศพในภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ หรือเรียกว่าการฝังศพครั้งที่ 2 คล้ายคลึงกับแหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลือง จังหวัดอุบลราชธานี กำหนดอายุอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 2000 ปีมาแล้ว และพบหลักฐานเศษภาชนะดินเผาที่มีเนื้อหยาบผสมแกลบข้าว สีส้มนวล สีขาวนวล หรือเรียกว่า กลุ่มร้อยเอ็ดนั้น มีการกำหนดอายุประมาณ 2000-1300 ปีมาแล้ว

หลักฐานอื่น ๆ ที่พบร่วมสมัยกันได้แก่ กำไลสำริด ซึ่งพบร่วมกับกระดูกในภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ หลักฐานภาชนะดินเผาขนาดเล็ก เป็นภาชนะประเภทหม้อ รูปทรงแป้น ปาดผายออก ก้นมีเชิง ผิวสีส้ม ตกแต่งลวดลายเชือกทาบ ภาชนะประเภทหม้อ รูปทรงคล้ายน้ำเต้า ก้นกลม ปากโค้งเข้า ผิวสีส้ม ตกแต่งลวดลายเชือกทาบ

สมัยที่ 2 ชุมชนโบราณน่าจะมีอายุการอยู่อาศัยต่อเนื่องมาจากการอาศัยในระยะเริ่มแรก อยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-14 หรือประมาณ 1400-1200 ปีมาแล้ว ตรงกับช่วงสมัยทวารวดี หลักฐานที่ชัดเจนในสมัยนี้ ได้แก่ เศษภาชนะดินเผาประเภทหม้อรูปทรงต่าง ๆ หม้อปากแคบ หม้อปากผาย อ่าง แจกันหรือคนโท เศษภาชนะดินเผาที่พบในชั้นนี้มีการเตรียมดินที่ดีขึ้น เนื้อค่อนข้างละเอียด เผาด้วยอุณหภูมิที่ดีขึ้น ผิวสีส้มแดง ตกแต่งลวดลายเชือกทาบเป็นส่วนมาก ลักษณะของแจกันหรือคนโทที่พบมีลักษณะเหมือนกันกับที่พบในชุมชนเมืองฟ้าแดดสงยาง สมัยหัวเลี้ยวหัวต่อประวัติศาสตร์-ทวารวดี

สมัยที่ 3 ชุมชนโบราณน่าจะมีการอยู่อาศัยต่อเนื่องมาจากการอยู่อาศัยสมัยที่สอง อยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15-19 หรือประมาณ 1100 ปีมาแล้ว ตรงกับช่วงอิทธิพลอารยธรรมเขมรในประเทศไทย โบราณสถานโนนแก สมัยที่ 1 ก็คงสร้างขึ้นในสมัยนี้ตามลักษณะศิลปะเขมร และมีการใช้ประโยชน์จากโบราณสถานช่วงนี้ ดังปรากฏหลักฐานเศษภาชนะดินเผาประเภทต่าง ๆ จากแหล่งเตาจังหวัดบุรีรัมย์ กำหนดอายุพุทธศตวรรษที่ 15-18 หลักฐานเครื่องถ้วยจีน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16-19 และปรากฏร่องรอยของบารายหรือสระน้ำสมัยเขมรอีกแห่งหนึ่งรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า อยู่ห่างจากโบราณสถานไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 1 กิโลเมตร

กิจกรรมการถลุงโลหะที่พบในสมัยนี้ เป็นการถลุงโลหะเหล็ก ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ 2 กรณี คือ กรณีที่ 1 เป็นการถลุงโลหะเหล็กเพื่อใช้ในชุมชน หรือกรณีที่ 2 เป็นการถลุงโลหะเหล็กเพื่อใช้ในโบราณสถาน จากหลักฐานและร่องรอยที่พบในหลุมขุดค้น ข้อมูลที่ได้ในขณะนี้ยังไม่พบหลักฐานหรือร่องรอยสำคัญ ที่จะแสดงให้เห็นว่ากิจกรรมถลุงโลหะเหล็กที่นี่จะเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้ แต่หากมีการขุดค้นศึกษาเพิ่มเติมต่อไปในอนาคต อาจจะได้ข้อมูลใหม่ที่เปลี่ยนแปลงสมมุติฐานได้

ประเด็นปัญหาสำคัญของโบราณสถานโนนแก คือ การกำหนดอายุสมัยที่แน่นอน เพราะจากการขุดแต่งไม่ได้พบหลักฐานที่สามารถกำหนดอายุได้ ทั้งโบราณวัตถุและรูปแบบทางสถาปัตยกรรม การขุดบุกรุกทำลายโบราณสถานขนเคลื่อนย้ายศิลาแลงออกไปจากโบราณสถาน การปล่อยทิ้งร้างผุพังไปตามธรรมชาติ ทำให้ข้อมูลขาดหายไป และปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งคือ คติความเชื่อทางศาสนาในการสร้างโบราณสถาน ไม่ได้พบหลักฐานจากการขุดแต่งเช่นเดียวกัน ดังนั้นข้อมูลโบราณสถานโนนแกจึงทราบได้เพียงว่า มีการสร้างขึ้นในช่วงพุทธสตวรรษที่ 15-19 ตรงกับช่วงอิทธิพลอารยธรรมเขมรในประเทศไทย และมีการใช้ประโยชน์ต่อเนื่องมาจนพุทธศตวรรษที่ 18-19 จึงถูกทิ้งร้างไป

อย่างไรก็ดี รูปแบบโบราณสถานหลังจากขุดแต่งในสมัยนี้ทั้งแผนผังที่มีกำแพงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ล้อมรอบปราสาทประธาน และวิหารที่อยู่ด้านข้างปราสาทประธานนี้ อาจเทียบได้กับแผนผังของปราสาทโดนตวล (พ.ศ.1545) บ้านภูมิซรอล อำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ ที่สร้างด้วยหินแลงเป็นส่วนฐานหรือเรือนธาตุบนอิฐ การก่อหินแลงและอิฐที่โบราณสถานโนนแกนี้มีเทคนิคการเตรียมฐานรากด้วยดินบดอัด และมีการถากหินหรือฝนอิฐให้มีบ่า เพื่อประกอบหินหรืออิฐให้เข้ากันได้สนิท เทคนิคนี้จะพบมากจนอาจกล่าวได้ว่าเป็นแบบเฉพาะของการก่อสร้างปราสาทแบบศิลปะเขมร ต้นเหตุแผนผังดังกล่าวยังไม่เคยปรากฏในปราสาทหลังอื่น นอกจาก 2 หลังนี้ แม้ว่าโบราณสถานโนนแกจะเป็นเพียงซากอาคาร แต่ก็อาจสันนิษฐานได้ว่า มีปราสาทประธาน ก่อด้วยหินแลงปนอิฐ ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานที่พบจากการขุดแต่งด้วย

สมัยที่ 4 สมัยสุดท้าย น่าจะมีการอยู่อาศัยหลังจากที่โบราณสถานโนนแกถูกทิ้งร้างไป หลังจากพุทธศตวรรษที่ 19 เมื่อเขมรหมดอำนาจในประเทศไทย ชุมชนมีการเข้ามาปฏิสังขรณ์โบราณสถานโนนแกอีกครั้ง ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 24 สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น–ตอนกลาง โบราณสถานเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนา มีรูปแบบสถาปัตยกรรมตามนิยมในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เป็นศาสนาคารที่เรียกว่า สิม มีความหมายอย่างเดียวกันกับ โบสถ์ หรือ อุโบสถ

โบราณสถานโนนแก
โบราณสถานโนนแก

ที่ตั้ง โบราณสถานโนนแก

บ้านคูเมือง หมู่ 7 ตำบลคูเมือง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ โบราณสถานโนนแก

15.095366, 104.877329

บรรณานุกรม

ห้างหุ้นส่วนจำกัดปุราณรักษ์. (2540). รายงานการขุดแต่งเพื่อการบูรณะโบราณสถานโนนแก บ้านคูเมือง ตำบลคูเมือง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัดปุราณรักษ์

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง