สถานีรถไฟอุบลราชธานี

สถานีรถไฟอุบลราชธานี โทร. 1690 ตั้งอยู่ที่อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี  เดิมชื่อสถานีวารินทร์ เป็นสถานีสุดท้ายของเส้นทางรถไฟสายอีสานใต้ รถไฟสายนี้ทำให้ประเทศไทยเกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้เดินทาง รวมทั้งการขนส่งและการกระจายสินค้า วิถีชีวิตของคนอีสานเปลี่ยนแปลงจากการทำเกษตรเพื่อบริโภคในครัวเรือนกลายเป็นการผลิตเพื่อขาย และมีอาชีพใหม่ ๆ เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน

ด้านหน้าสถานีรถไฟอุบลราชธานี
ด้านหน้าสถานีรถไฟอุบลราชธานี
สถานีรถไฟอุบลราชธานี
สถานีรถไฟอุบลราชธานี

ความเป็นมาและความสำคัญของรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ

การก่อสร้างรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือมีเหตุผล 2 ประการ คือ เหตุผลด้านเศรษฐกิจและด้านความมั่นคงของประเทศ กล่าวคือ ช่วยอำนวยความสะดวกรวดเร็วในหารขนส่งผู้คนและสินค้าระหว่างเมืองหลวงกับภาคอีสาน ส่วนด้านความมั่นคงนั้น ด้วยเวลานั้นฝรั่งเศสได้ครอบครองเพื่อนบ้านที่ติดกับไทย คือ ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ฝรั่งเศสได้แสดงท่าทีและพฤติกรรมที่คุกคามไทยหลายครั้ง นำมาสู่ความขัดแย้ง จนกระทั่งไทยต้องเสียดินแดนสิบสองจุไทให้แก่ฝรั่งเศสใน พ.ศ.2431 จากเหตุการณ์นี้ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสเสื่อมลงตามลำดับ ทำให้ประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมในการสร้างทางรถไฟและนำมาสู่การก่อสร้างทางรถไฟสายภาคตะวันออกเฉียงเหนือในเวลาต่อมา

หัวรถจักรที่แสดงไว้หน้าสถานีรถไฟอุบลราชธานี
หัวรถจักรที่แสดงไว้หน้าสถานีรถไฟอุบลราชธานี
ภายในสถานีรถไฟอุบลราชธานี
ภายในสถานีรถไฟอุบลราชธานี

railway-stationrailway-station3

การก่อสร้างเส้นทางรถไฟจากนครราชสีมา-อุบลราชธานี

การก่อสร้างเส้นทางรถไฟมาถึงจังหวัดอุบลราชธานีนั้น เกิดขึ้นหลังจากการก่อสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพ-นครราชสีมาแล้วเสร็จและเปิดการเดินรถ ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2443 จนถึงปี พ.ศ. 2460 จึงได้เริ่มทำการก่อสร้างทางรถไฟต่อไปยังสถานีอุบลราชธานี โดยเป็นทางกว้าง 1.00 เมตร เพื่อให้สอดคล้องกับ ขนาดทางรถไฟจากกรุงเทพ – นครราชสีมา ซึ่งเดิมได้วางเอาไว้ขนาดกว้าง 1.435 เมตร และอยู่ในระหว่างการปรับเปลี่ยนให้มีความกว้าง 1.00 เมตร เท่ากับเส้นทางสายใต้

การก่อสร้างเส้นทางสายนี้ค่อนข้างราบรื่น เพราะเป็นพื้นที่ราบลุ่ม ใช้เจ้าหน้าที่และคนงานทั้งหมดเป็นคนไทย ไม่มีชาวต่างด้าว กรมรถไฟหลวงยังคงได้รับความร่วมมือจากกองทหารช่างให้มาช่วยทำการวางรางจากสถานีนครราชสีมาผ่านสถานีชุมทางถนนจิระถึงสถานีท่าช้าง รวมระยะทาง 21 กิโลเมตร เปิดการเดินรถได้เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2465 เป็นต้นมา การก่อสร้างได้ดำเนินต่อไป และสามารถเปิดการเดินรถได้ เป็นช่วง ๆ ตามลำดับ ดังต่อไปนี้

  • 1 เมษายน พ.ศ. 2468 เปิดเดินรถจาก สถานีท่าช้าง ถึง สถานีบุรีรัมย์ ระยะทาง 91 กิโลเมตร
  • 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2469 เปิดเดินรถจาก สถานีบุรีรัมย์ ถึง สถานีสุรินทร์ ระยะทาง 44 กิโลเมตร
  • 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2470 เปิดเดินรถจาก สถานีสุรินทร์ ถึง สถานีห้วยทับทัน ระยะทาง 61 กิโลเมตร
  • 1 สิงหาคม พ.ศ. 2471 เปิดเดินรถจาก สถานีห้วยทับทัน ถึง สถานีศรีสะเกษ ระยะทาง 34 กิโลเมตร
  • 1 เมษายน พ.ศ. 2473 เปิดเดินรถจาก สถานีศรีสะเกษ ถึง สถานีอุบลราชธานี ระยะทาง 61 กิโลเมตร

รวมระยะทางทั้งหมดจากนครราชสีมา – อุบลราชธานี 312 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างเส้นทางรถไฟจากกรุงเทพ-สถานีอุบลราชธานี ทั้งหมด 39 ปี (พ.ศ.2434-2473) ระยะทางรวม 575 กิโลเมตร และเนื่องจากสถานีปลายทางที่อุบลราชธานีนี้ อยู่ในเขตอำเภอวารินชำราบ ห่างจากฝั่งแม่น้ำมูล กรมรถไฟจึงได้วางทางแยกจากสถานีบุ่งหวาย ระยะทาง 7 กิโลเมตร ไปยังสถานีโพธิ์มูลซึ่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมูล เพื่อความสะดวกในการรับส่งสินค้า ที่มาจากทางเรือในแม่น้ำมูล

สถานีรถไฟอุบลราชธานี
สถานีรถไฟอุบลราชธานี
สถานีรถไฟอุบลราชธานี
สถานีรถไฟอุบลราชธานี

railway-station2

ผลของการสร้างทางรถไฟสายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ประเทศไทยเกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม รถไฟกลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์สำหรับการคมนาคม มีผู้คนเดินทางไปต่างพื้นที่มากขึ้น รวมทั้งปริมาณและประเภทสินค้าที่เข้าและออกจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน จังหวัดหรือพื้นที่ที่เป็นทางผ่านกลายเป็นเส้นทางสำคัญในการขนส่งและกระจายสินค้า วิถีชีวิตของผู้คนอีสานเปลี่ยนแปลงจากการทำเกษตรเพื่อบริโภคในครัวเรือนกลายเป็นการผลิตเพื่อขาย และมีอาชีพใหม่ ๆ เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน

แต่เดิม สถานีรถไฟอุบลราชธานีนั้นมีชื่อว่า “สถานีวารินทร์” เนื่องจากตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอวารินชำราบ จนถึงปี พ.ศ.2485 จึงได้เปลี่ยนชื่อจากสถานีวารินทร์ เป็น “สถานีอุบลราชธานี” จนถึงปัจจุบัน

สถานีรถไฟวารินทร์
สถานีรถไฟวารินทร์

สถานีรถไฟอุบลราชธานีนั้นมีเรื่องราวที่น่าสนใจให้ย้อนระลึกถึงบทบาทและความสำคัญในอดีตที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่างในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะพื้นที่อีสานตอนใต้ และยังคงความสำคัญอยู่จนถึงปัจจุบัน

ตารางกำหนดเวลาเดินรถเที่ยวล่องสถานีอุบลราชธานี
ตารางกำหนดเวลาเดินรถเที่ยวล่องสถานีอุบลราชธานี

ที่ตั้ง สถานีรถไฟอุบลราชธานี

ตำบลคำน้ำแซบ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี โทร.1690

พิกัดภูมิศาสตร์ สถานีรถไฟอุบลราชธานี

15.200529, 104.858639

บรรณานุกรม

สถานีรถไฟอุบลราชธานี, วันที่ 22 สิงหาคม 2559. https://www.facebook.com/สถานีรถไฟอุบลราชธานี

สุนันทา เจริญปัญญายิ่ง. ทางรถไฟสายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน), วันที่ 22 สิงหาคม 2559. http://www.tri.chula.ac.th/triresearch/neast/neast.html

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง