วัดหนองป่าพง

วัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี วัดป่าสายวิปัสสนากรรมฐาน ที่ปฏิบัติบำเพ็ญสมณธรรมของพระธุดงค์กรรมฐานสายพระอาจาย์มั่น ภูริทัตโต ซึ่งพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) ได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นสถานที่สำหรับปฏิบัติ ฝึกฝน อบรมพระภิกษุ-สามเณร ผู้มุ่งสู่ความพ้นทุกข์ ให้เป็นผู้มักน้อย สันโดษ เสียสละ พากเพียรเพื่อมรรคผลนิพพาน และนำพาไปสู่การเป็นสมณะที่งดงาม ด้วยการรักษาวัตรปฏิบัติตามธรรมวินัย อันจะเป็นเหตุให้เกิดความเลื่อมใสแก่ผู้พบเห็น ร่วมประคองค้ำชูพระศาสนาให้มีอายุยืนยาว เจริญรุ่งเรือง กระทั่งต่อมาได้เป็นศูนย์กลางการอบรมสั่งสอน ตามหลักแห่งพระพุทธศาสนา ให้กับนักปฏิบัติธรรมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ จนเป็นแรงศรัทธาเกิดสาขาขยายไปยังประเทศทั่วโลก

วัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
วัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

ประวัติความเป็นมาของวัดหนองป่าพง

วัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี มีเนื้อที่ประมาณ 300 ไร่ เป็นวัดที่มีบรรยากาศร่มรื่นเงียบสงบ เหมาะแก่การเล่าเรียนพระธรรมวินัยและปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน  เมื่อ พ.ศ. 2497 พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) ได้ทำการบุกเบิกปรับปรุงพื้นที่ให้เหมาะสมแก่การปฏิบัติธรรมและได้จัดตั้งเป็นสำนักสงฆ์ขึ้นและเปลี่ยนสภาพเป็นวัดในโอกาสต่อมา

วัดหนองป่าพงเป็นต้นแบบของวัดป่ากว่า 100 แห่งในประเทศไทย และอีกหลายประเทศทั่วโลก ทั้งออสเตรเลีย ฝรั่งเศส แคนาดา เยอรมัน อิตาลี มาเลเซีย นิวซีแลนด์ สวิสเซอร์แลนด์ อังกฤษ สหรัฐอเมริกาพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) เป็นตัวอย่างของพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ แม้จะมีศาสนิกชนมากมายแต่ก็ไม่สร้างความแตกแยกให้เกิดนิกาย หรือเข้าไปพัวพันกับการเมืองจนเป็นเรื่องแตกแยก วัดจะเน้นความเรียบง่าย ใกล้ชิดธรรมชาติ ไม่ฟุ่มเฟือยหรือสะสม คงความเป็นพุทธ คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน อย่างแท้จริง

วัดหนองป่าพง เปิดให้เข้าชมตอนเช้า เวลา 10.30-12.00 น. ตอนบ่าย เวลา 14.00-18.00 น.  

แผนผังวัดหนองป่าพง
แผนผังวัดหนองป่าพง

อาจาริยบูชาพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) 

พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) ขณะมีชีวิตอยู่ท่านได้อุทิศชีวิตเพื่อการปฏิบัติธรรมและเผยแผ่พุทธศาสนา ทั้งแก่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ ซึ่งบังเกิดผลงานที่เป็นประโยชน์อเนกอนันต์แก่พระศาสนา ทั้งที่เป็นพระธรรมเทศนา และสำนักปฏิบัติธรรมในนามวัดสาขาวัดหนองป่าพงมากมาย ซึ่งแม้ท่านจะมรณภาพไปนานแล้ว แต่ศิษยานุศิษย์ของท่านก็ยังคงรักษาแนวทางปฏิบัติธรรมที่ท่านได้สั่งสอนไว้จนถึงปัจจุบัน

วัดหนองป่าพงจะมีการจัดงานปฏิบัติธรรมประจำปี ในระหว่างวันที่ 12-17 มกราคม ของทุกปี เพื่อเป็นอาจาริยบูชา และรำลึกถึงพระคุณของพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) โดยมีพระภิกษุสงฆ์และสามเณรที่เป็นศิษยานุศิษย์จากทั่วโลก รวมถึงญาติโยมที่มีความศรัทธาในคำสอนของหลวงปู่ชา มาร่วมแสดงความเคารพพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) ผู้เปรียบเสมือนพ่อแม่ครูอาจารย์ของศิษยานุศิษย์สายวัดหนองป่าพง

เพิ่มเติม : 16 มกราคม 2535 หลวงปู่ชา แห่งวัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลฯ มรณภาพ

งานอาจาริยบูชาของวัดหนองป่าพง
พระสงฆ์ลูกศิษย์ของพระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท ) รอรับประเคนอาหารของผู้มาถวายในงานอาจาริยบูชาของวัดหนองป่าพง
ภัตตาหารที่ผู้เลื่อมใสศรัทธานำมาถวายในงานอาจาริยบูชาของวัดหนองป่าพง
ภัตตาหารที่ผู้เลื่อมใสศรัทธานำมาถวายในงานอาจาริยบูชาของวัดหนองป่าพง
งานอาจาริยบูชาวัดหนองป่าพง
ผู้มาปฏิบัติธรรมช่วยกันเตรียมภัตตาหารในงานอาจาริยบูชาวัดหนองป่าพง
ผู้มาปฏิบัติธรรมในงานอาจาริยบูชาวัดหนองป่าพง
ผู้มาปฏิบัติธรรมในงานอาจาริยบูชาวัดหนองป่าพง

ข้อปฏิบัติของผู้ที่มีความประสงค์จะมาพักปฏิบัติธรรมที่วัดหนองป่าพง

  1. ควรปฏิบัติตามกฎกติกาสงฆ์ และกฎระเบียบที่ทางวัดตั้งไว้
  2. ให้ลงทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในวันแรกที่มาพำนัก อนุญาตให้พักได้ 3 วัน ถ้ามีความประสงค์จะอยู่ต่อต้องมีผู้รับรองนำฝากเป็นพยาน
  3. ดูแลรักษาทำความสะอาดที่พักที่สงฆ์จัดให้ ช่วยกันประหยัดน้ำและไฟฟ้า ปิดไฟทุกครั้งหลังจากเวลา 21.00-02.30 น.
  4. ผู้มาพักปฏิบัติให้รับประทานอาหารพร้อมกันที่โรงฉันวันละ 1 มื้อ
  5. ห้ามสูบบุหรี่ กินหมาก และยาเสพติดทุกชนิด
  6. ในระหว่างที่พำนักอยู่ในวัด ถ้ามีกิจธุระออกไปภายนอกวัด ให้แจ้งลาต่อเจ้าอาวาสหรือเจ้าหน้าที่รับผิดชอบทุกครั้ง
  7. เมื่อกิจของสงฆ์เกิดขึ้นให้พร้อมกันทำ เมื่อเลิกให้พร้อมกันเลิก
  8. ควรเก็บรักษาของมีค่าไว้ให้ดี ทางวัดไม่รับผิดชอบหากเกิดการสูญหาย

พระอุโบสถวัดหนองป่าพง

พระอุโบสถวัดหนองป่าพง เป็นศิลปะสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์-ร่วมสมัย เกิดจากแนวความคิดของพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) ที่ว่า โบสถ์ คือ บริเวณหรืออาคารที่พระสงฆ์ใช้เป็นที่ทำสังฆกรรม ให้สร้างพอคุ้มแดดคุ้มฝน ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องประดับให้สิ้นเปลือง ท่านได้วางแนวทางไว้ว่า “ตั้งอยู่บนเนินดินคล้ายภูเขา ให้พื้นโบสถ์ยกลอยสูงขึ้นจำพื้นดิน พื้นโบสถ์ส่วนที่ลอยนี้ใช้เป็นถังเก็บน้ำฝนขนาดใหญ่ สร้างให้เข้ากับธรรมชาติที่สุด มีความเรียบง่าย แข็งแรง ทนทาน ประหยัด มีขนาดใหญ่เพียงพอสำหรับพระภิกษุสงฆ์ใช้ร่วมลงสังฆกรรมได้อย่างน้อย 200 รูป และให้มีเครื่องตกแต่งสิ้นเปลืองน้อยที่สุด ไม่ควรมีช่อฟ้าใบระกา ไม่ต้องมีผนัง มีประตู หน้าต่าง และฝนสาดไม่ถึง”

อุโบสถวัดหนองป่าพง
อุโบสถวัดหนองป่าพง
อุโบสถวัดหนองป่าพง
อุโบสถวัดหนองป่าพง

พระอุโบสถหลังนี้ดำเนินการเขียนแบบโดย อาจารย์บำเพ็ญ พันธ์รัตนอิสระ อาจารย์แผนกสถาปัตยกรรมศาสตร์ วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา จังหวัดนครราชสีมา ท่านเป็นทั้งสถาปนิกและวิศวกรอำนวยการก่อสร้าง ท่านได้เขียนแบบตามแนวความคิดของพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) โดยไม่คิดค่าเขียนแบบและคำนวณโครงสร้าง รูปแบบอาคารได้พยายามดึงเอาส่วนที่เป็นเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรม ศิลปกรรมพื้นเมืองทางอีสานเข้ามาผสมเพื่อเป็นการสืบทอดเจตนารมณ์ทางวัฒนธรรม เสาอาคารและผนังบางส่วนประดับด้วยเครื่องปั้นดินเผาจากบ้านด่านเกวียน โดยมอบให้อาจารย์พิศ ป้อมสินทรัพย์ เป็นช่างปั้นและเผาสุก ภาพปั้นมีทั้งหมด 8 ภาพ เป็นภาพเกี่ยวกับปูชนียสถานสำคัญทางพุทธศาสนาของประเทศไทย 4 ภาพ และเป็นภาพปั้นแสดงเรื่องราวของหลวงพ่อที่กำลังธุดงค์อีก 4 ภาพ พระอุโบสถนี้มีความแตกต่างจากพระอุโบสถทั่ว ๆ ไป คือ

  1. พื้นอาสนะอยู่บนเนินดินสูงจากระดับพื้นดินเดิม 4 เมตร
  2. ตัวพระอุโบสถสูงจากเนินดิน 17 เมตร เป็นทรงแหลมหลังคาเป็นโดมสูง ด้านหน้าหลังคา 3 ชั้น ด้านหลัง 2 ชั้น ใต้โดมเป็นที่ประดิษฐานพระประธาน หลังคาคอนกรีตเปลือย
  3. ในเนินดินใต้พระอุโบสถเป็นถังน้ำขนาดใหญ่ 2 ถัง ขนาดความกว้าง 5.5 เมตร ยาว 5.5 เมตร สูง 3.5 เมตร ทั้งสองถึงจุน้ำรวมกัน 211,750 ตารางเมตร มีน้ำพอใช้ตลอดฤดูกาล
  4. มีอาสนะ 3 อาสนะใหญ่มีพื้นที่ทั้งหมด 160 ตารางเมตร
  5. ไม่มีฝาผนัง ประตู หน้าต่าง และเครื่องประดับลวดลาย ลดค่าใช้จ่าย การก่อสร้างมุ่งประโยชน์เป็นสำคัญ
  6. การไม่มีฝาผนังทำให้ทุกคนได้มองเห็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นในพระอุโบสถ ผู้ร่วมกิจกรรมรู้สึกได้ร่วมกิจกรรมไปพร้อม ๆ กัน
ภายในอุโบสถวัดหนองป่าพง
ภายในอุโบสถวัดหนองป่าพง
ภายในอุโบสถวัดหนองป่าพง
ภายในอุโบสถวัดหนองป่าพง

เจดีย์พระโพธิญาณเถร วัดหนองป่าพง

เจดีย์พระโพธิญาณเถร วัดหนองป่าพง
เจดีย์พระโพธิญาณเถร วัดหนองป่าพง

บริเวณที่สร้างเจดีย์พระโพธิญาณเถรนี้เป็นสถานที่ใช้ประกอบงานพิธีพระราชทานเพลิงศพของพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) ซึ่งท่านได้มรณภาพลงเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 มกราคม 2535 เวลา 05.20 น. เริ่มแรกนั้นได้สร้างแค่ฐานไว้ หลังจากประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพเสร็จจึงได้สร้างเจดีย์นี้ขึ้นเป็นการถาวร เพื่อบรรจุอัฐิของพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) เจดีย์นั้นเป็นรูปแบบผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมอีสานกับล้านช้าง องค์เจดีย์เป็นบัวเหลี่ยมสีเหลืองทองตั้งอยู่บนฐานกลม มีบันไดทางขึ้นและทางเข้าสี่ทิศ ภายในมีเจดีย์แก้วยอดเงินบรรจุอัฐิพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) ไว้ ตั้งอยู่ ณ บริเวณใจกลางสถูปเจดีย์ สร้างโดยเหล่าศิษยานุศิษย์และผู้มีจิตศรัทธาที่เลื่อมใสในพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท)

ภายในเจดีย์พระโพธิญาณเถร วัดหนองป่าพง
ภายในเจดีย์พระโพธิญาณเถร วัดหนองป่าพง

พิพิธภัณฑ์พระโพธิญาณเถร

พิพิธภัณฑ์พระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท) วัดหนองป่าพง เป็นอาคารสามชั้นทรงไทยประยุกต์ มีโถงบันไดอยู่ตรงกลาง ซึ่งได้จัดแสดงประวัติของหลวงปู่ชา สุภทฺโท เครื่องอัฐบริขารของท่าน รวมทั้งโบราณวัตถุและสิ่งของต่าง ๆ หลากหลายประเภท และที่ชั้น 3 ยังเป็นที่ประดิษฐานหุ่นขี้ผึ้งพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) ซึ่งเปิดให้ผู้เลื่อมใสศรัทธาเข้าไปสักการะบูชาได้ประหนึ่งท่านยังมีชีวิตอยู่

พิพิธภัณฑ์พระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท) วัดหนองป่าพง
พิพิธภัณฑ์พระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท) วัดหนองป่าพง

ศูนย์เผยแพร่มรดกธรรมพระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา สุภทฺโท)

ศูนย์เผยแพร่มรดกธรรมพระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา สุภทฺโท) เป็นแหล่งรวบรวมและเผยแพร่คำสอนของพระโพธิญาณเถร (ชา  สุภัทฺโท) เกิดขึ้นโดยพระราชภาวนาวิกรม (เลี่ยม ฐิตธัมโม) เจ้าอาวาสวัดหนองป่าพง เห็นว่ามรดกธรรมคำสอนอันล้ำค่าของพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) นั้น  เป็นแนวทางการประพฤติปฏิบัติ ที่ควรเผยแผ่แก่สาธุชนทั่วไปแต่หากไม่มีการดูแลที่เหมาะสมจะเกิดความผิดพลาดและผิดเพี้ยนจากเนื้อหาอันควรจะเป็นได้  เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมย์ของพระเดชพระคุณพระโพธิญาณเถร (ชา  สุภัทฺโท)  จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่ง ประกอบด้วยพระเถระและศิษยานุศิษย์ เพื่อวางระเบียบการจัดการศาสนสมบัติ อันเป็นมรดกธรรมของพระโพธิญาณเถร (ชา  สุภัทฺโท) ขึ้น  และเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทิตา  โดยได้จัดตั้ง “ศูนย์เผยแผ่มรดกธรรมพระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา สุภทฺโท) นี้  ให้เป็นแหล่งเผยแผ่ผลงานของท่าน ตลอดจนเป็นแหล่งรวบรวมผลงานและเก็บรักษาต้นฉบับหนังสือ  เทปธรรมะ  คำสอน  ซีดี  และวิดีโอ ที่เกี่ยวข้องกับพระเดชพระคุณพระโพธิญาณเถร (ชา  สุภัทฺโท)  เพื่อเผยแผ่จรรโลงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนาต่อไป

ศูนย์เผยแพร่มรดกธรรมพระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา สุภทฺโท)
ศูนย์เผยแพร่มรดกธรรมพระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา สุภทฺโท)

ศูนย์เผยแผ่มรดกธรรมพระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา สุภทฺโท) นี้ได้เปิดดำเนินงานเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 ภายใต้นโยบายและความดูแลของวัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี และคณะกรรมการมรดกธรรมพระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา สุภทฺโท) โดยมีกิจกรรมดังนี้

  1. รวบรวมและเก็บรักษาต้นฉบับหนังสือ เทปคาสเซ็ท ซีดี เอ็มพี3 วิดีโอ และสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับพระธรรมคำสอนของพระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทฺโท) โดยจัดเป็นระบบห้องสมุด
  2. แจกจ่ายหนังสือธรรมะคำสอนของพระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทฺโท) แก่ผู้สนใจ
  3. จัดทำและประสานงานเพื่อให้การผลิตสื่อธรรมะต่าง ๆ ของพระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทฺโท) มีความถูกต้องเหมาะสม ไว้เผยแพร่แก่ผู้สนใจเป็นเจ้าของ หรือนำไปแจกจ่ายเป็นธรรมทานในโอกาสต่าง ๆ สำหรับงบประมาณของเจ้าภาพที่จัดทำมรดกธรรมจะนำไปสมทบเป็นทุนในการผลิตต่อไป
  4. จัดกิจกรรมอื่น ๆ ทางศาสนา อาทิ การกราบนิมนต์พระอาจารย์มาแสดงธรรม หรือนำการนั่งสมาธิ ประมาณเดือนละครั้ง แก่สมาชิก ผู้สนใจในธรรมและการปฏิบัติ
  5. บริการข่าวสาร เกี่ยวกับกิจกรรมของศูนย์ หนังสือพระธรรมคำสอนของหลวงพ่อที่จัดพิมพ์ใหม่ และอื่นๆ ทั้งในรูปของจดหมาย และเว็บไซต์ (www.ajahn-chah.org, www.watnongpahpong.org)

ที่ตั้ง วัดหนองป่าพง

บ้านพงสว่าง หมู่ที่ 10 ตำบลโนนผึ้ง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี โทร 0-4526-7563, 0-4526-8084 http://www.watnongpahpong.org/

พิกัดภูมิศาสตร์ วัดหนองป่าพง

15.161624, 104.829382

บรรณานุกรม

ติ๊ก แสนบุญ. (2558). โบสถ์สมัยใหม่…ไทยประยุกต์…แรกมีในสยามประเทศ. อุบลราชธานี: สาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะศิลปประยุกต์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

วัดหนองป่าพง, 25 สิงหาคม 2559. http://www.watnongpahpong.org/

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง