วัดป่านานาชาติ ร่มสาขาวัดหนองป่าพง

วัดป่านานาชาติ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี วัดสายวิปัสสนากรรมฐานและยึดปฏิปทาพร้อมทั้งข้อวัตรปฏิบัติของพระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท) เป็นหลัก เป็นวัดสาขาที่ 19 ของวัดหนองป่าพงที่พระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท) สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นที่จำวัดและศึกษาธรรมวินัยในรูปแบบภาษาอังกฤษ เพื่อเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้าใจพระธรรมวินัยจนสามารถที่จะออกบวชเป็นพระภิกษุและปฏิบัติตามข้อวัตรสายวัดป่าได้

ป้ายบอกทางเข้าวัดป่านานาชาติ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
ป้ายบอกทางเข้าวัดป่านานาชาติ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

ประวัติและความเป็นมาของวัดป่านานาชาติ

วัดป่านานาชาติ เป็นวัดสาขาที่ 19 ของวัดหนองป่าพง ก่อตั้งโดยมีพระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท) เจ้าอาวาสวัดหนองป่าพง เมื่อปี พ.ศ. 2518 เดิมชื่อว่า วัดอเมริกาวาส และมาเปลี่ยนชื่อเป็น วัดป่านานาชาติ ในภายหลัง โดยมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า WAT PAH NANACHAT, BUNG WAI FOREST MONASTERY ซึ่งเป็นวัดที่มีพระภิกษุชาวต่างชาติ เช่น อังกฤษ อเมริกัน ออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่น เป็นต้น มาจำพรรษาอยู่มิได้ขาด เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการตั้งวัดป่านานาชาติขึ้น คือ การเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติเข้ามาศึกษาพระธรรมวินัยในรูปแบบภาษาอังกฤษ เพื่อให้เข้าใจพระธรรมวินัยจนสามารถที่จะออกบวชเป็นพระภิกษุและปฏิบัติตามข้อวัตรสายวัดป่าได้

เมื่อปี พ.ศ. 2510 พระสุเมโธ (ปัจจุบันคือ พระราชสุเมธาจารย์) ชาวอเมริกัน ได้มาอยู่กับพระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท) เป็นครั้งแรก หลังจากนั้นก็ได้มีพระต่างชาติทยอยกันเดินทางเข้ามาอยู่กับท่านมากขึ้น พ.ศ. 2518 วัดหนองป่าพงจึงมีพระสงฆ์ทั้งพระไทยและพระต่างชาติจำพรรษาอยู่เป็นจำนวนมาก อีกทั้งฟืนสำหรับบ่มบาตรก็หายาก พระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท) จึงได้อนุญาตให้พระชาวต่างชาติบางรูปออกมาหาฟืนที่ป่าช้าบ้านบุ่งหวาย ซึ่งมีต้นไม้อยู่มากทำให้มีฟืนมากด้วย

ชาวบ้านบุ่งหวายมีจิตศรัทธาในพระสงฆ์วัดหนองป่าพง จึงได้นิมนต์คณะพระภิกษุสามเณรชุดแรกซึ่งมี 6 รูป ไปบ่มบาตรที่ป่าช้าบ้านบุ่งหวายและปักกลด พักวิเวกปฏิบัติธรรมต่อ เมื่ออยู่ได้ 3 วัน ญาติโยมได้ช่วยกันสร้างศาลามุงหญ้าคาพอหลบฝนให้ หลังจากนั้นไม่นานชาวบ้านบุ่งหวายได้ไปกราบพระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท) ขอนิมนต์ให้พระเณรอยู่จำพรรษาต่อ ซึ่งท่านก็เมตตาให้สร้างสำนักสงฆ์ขึ้นและมอบหมายให้พระอาจารย์สุเมโธเป็นหัวหน้าสำนัก ญาติโยมได้แบ่งกันเป็นเจ้าภาพในการสร้างกุฏิและเพิงมุงหญ้าคา

ในพรรษาแรกนั้นมีพระทั้งหมด 10 รูป และผ้าขาว 1 คน ต่อมาปี พ.ศ. 2519 คณะศรัทธาญาติโยมได้นำกฐินมาทอดและได้สร้างศาลาใหม่

ในปี พ.ศ. 2528 เริ่มสร้างวิหาร (พระอุโบสถ) ในตำแหน่งที่พบเสมาเก่าเพื่อให้พระสงฆ์ใช้สวดทำสังฆกรรมต่าง ๆ ซึ่งสร้างเสร็จในอีกสองปีต่อมา พ.ศ. 2530 ได้รับการประกาศตั้งเป็นวัดในพระพุทธศาสนา

อุโบสถวัดป่านานาชาติ
อุโบสถวัดป่านานาชาติ
อุโบสถวัดป่านานาชาติ
ลักษณะภายนอกและภายในอุโบสถของวัดป่านานาชาติ เป็นศิลปะสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ตามปรัชญาพระป่าสายพระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท) โดดเด่นด้วยการออกแบบตกแต่งที่ว่างภายในและการใช้วัสดุเทคโนโลยีการก่อสรา้งแบบสมัยใหม่ มีการหยิบยืมสัญลักษณ์ของพระธาตุที่อ้างอิงมาจากพระธาตุวัดหนองป่าพงมาใช้ในส่วนยอดอาคาร

เนื่องจากพระชาวต่างชาติมีเพิ่มมากขึ้นทุกปี ญาติโยมจึงได้มีจิตศรัทธาถวายที่ดินเพิ่ม ปี พ.ศ. 2558 วัดมีเนื้อที่ทั้งหมด 343 ไร่ มีกุฏิ 52 หลัง ในปี พ.ศ. 2536 ได้ทำกำแพงล้อมรอบวัดและได้มีการปลูกป่าทดแทนขึ้นจากเดิมที่เป็นไร่ปอที่ถูกทิ้งร้างไว้ ปัจจุบันได้กลายเป็นป่าที่สมบูรณ์ขึ้นมา ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2541 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา และเดือนเมษายน พ.ศ. 2553 ได้สร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่ ทดแทนหลังเดิมโดยพระราชภาวนาวิกรม (เลี่ยม ฐิตธัมโม) เป็นผู้ออกแบบและดูแลควบคุมการดำเนินงานตลอดการก่อสร้าง โดยในครั้งนี้มีชาวบ้านบุ่งหวาย ร่วมกับพระภิกษุสามเณรทั้งจากวัดหนองป่าพงและวัดป่านานาชาติ ได้ร่วมแรงสามัคคีช่วยกันก่อสร้าง จนเสร็จในเดือนมกราคม พ.ศ. 2554 ศาลาหลังใหม่นี้มีชื่อว่า “ฐิตะธรรมศาลา”

ฐิตธรรมศาลา ศาลาการเปรียญของวัดป่านานาชาติ
ฐิตธรรมศาลา ศาลาการเปรียญของวัดป่านานาชาติ
ภายในฐิตธรรมศาลา ศาลาการเปรียญของวัดป่านานาชาติ
ภายในฐิตธรรมศาลา ศาลาการเปรียญของวัดป่านานาชาติ

วัดป่านานาชาติมีวัดสาขา 2 แห่ง คือ สำนักสงฆ์ภูจ้อมก้อม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี และ สำนักสงฆ์เต่าดำ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี

สำหรับผู้ที่จะเข้ามาบวชที่วัดป่านานาชาติ ไม่ว่าจะอายุเท่าใดต้องมาเป็นผ้าขาวหรือผู้ที่นุ่งห่มผ้าขาวก่อน 4-6 เดือน ตามด้วยการเป็นสามเณร 1 ปี เพื่ออบรมบ่มนิสัยให้เหมาะแก่สมณะเพศ ก่อนที่จะบวชเป็นพระภิกษุได้ เมื่อได้ประสบการณ์ในการปฏิบัติแล้วและได้ศึกษาระบบพระธรรมวินัยพอสมควร คือ ระยะเวลาห้าพรรษา ก็สามารถช่วยเผยแผ่ศาสนาในวัดสาขาที่ต่างประเทศได้ ด้วยว่าการสื่อสารใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ผู้ที่ตั้งใจจะบวชที่วัดป่านานาชาติต้องมีความรู้ภาษาอังกฤษพอสมควร

พระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท) ยังมีความมุ่งหมายที่จะให้วัดป่านานาชาติ เป็นที่ฝึกพระภิกษุให้มีคุณสมบัติเป็นผู้นำสงฆ์และปกครองวัดด้วย จึงมีพระภิกษุที่เคยจำพรรษาที่วัดป่านานาชาติหลายรูปไปตั้งสำนักสงฆ์สาขาในต่างประเทศขึ้น ซึ่งกระจายอยู่ในประเทศอังกฤษ เยอรมัน อิตาลี โปรตุเกส สวิสเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อเมริกา แคนาดา และมาเลเซีย เพื่อให้กำลังใจแก่ญาติโยมในการปฏิบัติทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ จำนวนพระภิกษุที่ผ่านการอบรมจากวัดป่านานาชาติและยังครองเพศบรรพชิตอยู่ปัจจุบันมีประมาณ 100 กว่ารูปทั่วโลก

หน้าที่พิเศษอีกอย่างหนึ่งของวัดป่านานาชาติ คือ การแนะนำชีวิตบรรพชิตให้ชาวต่างชาติ และให้การศึกษาด้านศาสนาพุทธแก่ญาติโยมชาวต่างชาติทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยว นักการศาสนาต่าง ๆ ผู้มาแวะเยี่ยมเยือน ผู้ที่มีความสนใจด้านการวิปัสสนากรรมฐาน ปฏิบัติธรรม ภาวนา นั่งสมาธิ โดยอาจจะเข้าพักในวัด 3 วัน 1 สัปดาห์ หรือมากกว่านั้น ตามความสนใจของแต่ละบุคคล และตามข้อกำหนดในกฎระเบียบการเข้าพักของวัด ซึ่งระหว่างที่พักอยู่ในวัดต้องนุ่งขาวห่มขาว ถือศีลแปด ประพฤติพรหมจรรย์ ทานอาหารมื้อเดียว และในแต่ละวันก็จะมีตารางกิจกรรมต่าง ๆ ให้ทำควบคู่ไปกับการศึกษาพระธรรมวินัย รับการอบรมกรรมฐาน ฟังพระธรรมเทศนาและการสนทนาธรรม แลกเปลี่ยนความคิดความเห็น

วัดป่านานาชาติยึดเอาพระวินัยเป็นแม่แบบในการปฏิบัติข้อวัตรต่าง ๆ เป็นหลัก จึงให้ความสำคัญในการแนะนำข้อวินัยบัญญัติต่อผู้ที่ต้องการลองเข้ามาศึกษารูปแบบชีวิตในผ้าเหลืองตั้งแต่แรก และเน้นการอบรมศึกษาด้านพระวินัยสำหรับเหล่าพระสงฆ์ที่บวชแล้ว ทางวัดได้จัดหลักสูตรการเรียนพระวินัยเป็นภาษาอังกฤษขึ้น ที่มีการร่วมกันศึกษาอภิปรายและแลกเปลี่ยนความเข้าใจอย่างละเอียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลาสามเดือนในพรรษาทุก ๆ ปี

นอกจากนั้น ทางวัดยังทำหน้าที่ในการแปลและแจกหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนาเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อเผยแพร่ออกไปสู่ระดับสากล รวมถึงบทเรียนธรรมศึกษาเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อใช้ในการสอนพระปริยัติธรรมเบื้องต้นแก่พระภิกษุสามเณรชาวต่างชาติ ตามปกติวัดป่านานาชาติยังเป็นสถานที่สำหรับให้นักเรียน นักศึกษา ชาวบ้าน บุคคลทั่วไป ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่มีความสนใจในพระพุทธศาสนา ได้สดับฟังพระธรรมเทศนา รักษาอุโบสถศีล และสนทนาธรรมโดยตลอดเรื่อยมา พร้อมทั้งมีการจัดห้องสมุดทางพระพุทธศาสนา

ด้านการสาธารณสงเคราะห์ วัดป่านานาชาติได้เล็งเห็นและให้ความสำคัญกับการศึกษา ทางวัดจึงได้ให้การสนับสนุนและส่งเสริมด้วยการบรรยายธรรม รวมทั้งมอบทุนการศึกษาให้กับ นักเรียน โรงเรียน สถานศึกษา โรงเรียนพระปริยัติธรรม อีกทั้งให้การสนับสนุนด้านงบประมาณกับหน่วยงานราชการต่างๆ เช่น องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาล มูลนิธิ กองทุนต่าง ๆ วัดอื่น ๆ นอกเหนือจากสายวัดป่า โดยต่อเนื่องเรื่อยมา การปฏิบัติดังนี้เป็นการถ่ายทอดสืบต่อซึ่งข้อวัตรปฏิบัติปฏิปทาของหลวงปู่ชาเอาไว้

ในฐานะที่วัดป่านานาชาติเป็นวัดสายวัดป่า ทางวัดให้ความสำคัญมากในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาก ทั้งวัดป่านานาชาติและสำนักสาขาทั้งสองซึ่งอยู่ในอุทยานแห่งชาติจึงมีความร่มรื่นและเต็มไปด้วยไม้ยืนต้นหลากหลายพรรณ

สิ่งก่อสร้างที่กลมกลืนไปกับธรรมชาติ บรรยากาศร่มรื่นภายในวัดป่านานาชาติ
สิ่งก่อสร้างที่กลมกลืนไปกับธรรมชาติ บรรยากาศร่มรื่นภายในวัดป่านานาชาติ
อาคารโรงครัว วัดป่านานาชาติ
อาคารโรงครัว วัดป่านานาชาติ
ห้องสุขา วัดป่านานาชาติ
ห้องสุขา วัดป่านานาชาติ

ลำดับเจ้าอาวาสของวัดป่านานาชาติ

  1. พระราชสุเมธาจารย์ (หลวงพ่อสุเมโธ) ชาวอเมริกัน พ.ศ. 2518-2519
  2. พระอาจารย์ปภากโร ชาวอเมริกัน พ.ศ. 2520-2521
  3. พระอาจารย์ชาคโร ชาวออสเตรเลีย พ.ศ.2522-2524
  4. พระอาจารย์ปสันโน ชาวแคนาดา พ.ศ. 2525-2539
  5. พระอาจารย์ชยสาโร ชาวอังกฤษ พ.ศ. 2540-2544
  6. พระอาจารย์ญาณธัมโม ชาวออสเตรเลีย พ.ศ. 2545-2550
  7. พระครูอุบลภาวนาวิเทศ (เฮ็นนิ่ง เกวลี) ชาวเยอรมัน พ.ศ. 2551 – ปัจจุบัน
พระอาจารย์เกวลี วัดป่านานาชาติ
พระครูอุบลภาวนาวิเทศ (เฮ็นนิ่ง เกวลี) เจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ

การขอเข้าปฏิบัติธรรม ณ วัดป่านานาชาติ

  1. เขียนจดหมายขออนุญาต guest monk (พระผู้ดูแลแขก) ล่วงหน้า แจ้งชื่อ ที่อยู่ เป็นใคร มาจากไหน ปฏิบัติแนวไหน จะพักกี่วัน (เป็นภาษาอังกฤษ) ส่งไปตามที่อยู่วัด แล้วรอจดหมายตอบรับก่อน
  2. ถ้าไม่สะดวกจริง ๆ ในการจะขออนุญาตล่วงหน้า ก็สามารถเดินทางไปที่วัดก่อน แล้วค่อยขออนุญาต guest monk ก็ได้ เพราะปกติท่านมักจะให้อนุญาตอยู่แล้ว
  3. ผู้ชายอยู่ได้ไม่เกิน 3 วัน ถ้าจะอยู่เกิน 3 วัน ต้องโกนผม (คือ เป็นอนาคาริก สวมชุดขาว ถือศีล 8 โกนผม) เพื่อป้องกันนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มาพัก เพราะต้องการประหยัดค่าที่พัก สำหรับผู้หญิงอยู่ได้นานเท่าไหร่ก็ได้ตามแต่เจ้าอาวาสจะอนุญาต

แนวปฏิบัติของวัดป่านานาชาติ

  • แนวทางการปฏิบัติ คือ วิปัสสนากรรมฐาน เจริญสติปัฏฐาน เน้นให้มีสติสัมปชัญญะสม่ำเสมอ ฝึกสมาธิแบบอานาปานสติ แบบภาวนาพุทโธตามแนวปฏิบัติของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และอานาปานสติแบบไม่มีคำภาวนา กำหนดสภาวะความรู้สึกตัวล้วน ๆ อย่างเดียวแบบพระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท) สำหรับผู้มาปฏิบัติธรรมชั่วคราว ถือศีล 8 เน้นให้ปฏิบัติด้วยตนเอง ไม่มีคอร์ส (สำหรับผู้เคยผ่านคอร์สอานาปานสติ 16 ขั้นสายสวนโมกข์ สามารถนำมาใช้ร่วมได้) และไม่มีผู้นำปฏิบัติ ให้ปฏิบัติส่วนตัวกันเอง จึงเหมาะสำหรับผู้มีพื้นฐานการปฏิบัติอยู่แล้ว ทางวัดไม่ถึงกับให้ปิดวาจา แต่ก็ไม่ควรจับกลุ่มคุยกันหรือชวนใครพูดด้วย อันเป็นการรบกวนการปฏิบัติธรรมของผู้อื่น
  • การแต่งกาย ผู้ชาย (อุบาสก) สวมเสื้อและกางเกงสีขาวทั้งชุด ผู้หญิง (อุบาสิกา) เสื้อสีขาว ผ้าถุงสีดำ ทางวัดมีให้ยืม แต่ควรเตรียมไปเองจะดีกว่า
  • ภาษา ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางในการสื่อสาร และสวดมนต์ แต่อย่างไรก็ตาม พระภิกษุหลายรูปสามารถพูดภาษาไทยกลาง และไทยอีสานได้ จึงไม่ต้องกังวลเรื่องปัญหาในการสื่อสาร
  • ที่พัก มีทั้งกุฏิเดี่ยวและกุฏิรวมอยู่ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป มีน้ำ ไฟ ห้องน้ำ พัดลม มีที่ซักผ้า ตากผ้า สำหรับผู้หญิง ที่พักแบ่งออกเป็น 2 โซน โซนที่ 1 กุฏิจะอยู่ใกล้กัน มีเสาไฟเปิดตอนกลางคืน โซนที่ 2 กุฏิจะอยู่ห่างกันแทบมองไม่เห็นกัน ตอนกลางคืนจะมืดมากเพราะไม่มีเสาไฟเปิด ส่วนผู้ชายส่วนใหญ่จะนอนรวมกันที่ชั้น 2 ของโรงครัว หรือกุฏิเดี่ยวหากมีกุฏิว่าง สำหรับผู้ที่พักระยะสั้นก็ให้พักศาลารวม แต่ผู้ที่พักอยู่ระยะเวลานานก็จะได้อยู่กุฏิแยกเป็นส่วนตัว
  • การรับประทานอาหาร รับประทานอาหารวันละ 1 มื้อ จะมีภาชนะที่เป็นเหมือนกะละมังเล็ก ๆ ให้ตักอาหาร อาหารมีทั้งอาหารท้องถิ่น และทางฝั่งประเทศตะวันตก เช่น ขนมปัง แซนด์วิช ปะปนกันไปหลากหลายมาก และทานน้ำปานะพร้อมกันอีกครั้งในเวลา 16.00 น.
  • สิ่งของจำเป็นที่ควรนำติดตัวไปขณะไปปฏิบัติธรรม ได้แก่ ไฟฉาย ยาทากันยุง เนื่องจากเป็นวัดป่าที่มีต้นไม้ใหญ่มาก มียุง แมลง และมดคันไฟมาก คนที่แพ้ยุง แมลง มด ก็ควรหายาเตรียมยาไปด้วย ของใช้ส่วนตัว เช่น สบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ยาสระผม ยารักษาโรคประจำตัว เนื่องจากหน้าวัดไม่มีร้านขายของชำใกล้ ๆ วัด ดังนั้น ควรจัดเตรียมของใช้ส่วนตัวให้เรียบร้อยก่อนออกเดินทางไปวัด
  • ทางวัดมีเวลาปิดประตูวัดประมาณ 18.00 น. ดังนั้น ควรเดินทางมาถึงวัดก่อนเวลาดังกล่าว

ตารางกิจวัตรประจำวัน ของวัดป่านานาชาติ

  • เวลา 03.00 น.   ตีระฆัง สวดมนต์ทำวัตรเช้าและนั่งสมาธิร่วมกันที่ศาลา
  • เวลา 05.00 น.   ภิกษุเตรียมตัวออกบิณฑบาต ส่วนอุบาสก อุบาสิกา ทำความสะอาดโบสถ์และกวาดใบหญ้าบริเวณรอบ ๆ
  • เวลา 07.00 น.   หากประสงค์ก็สามารถไปช่วยจัดอาหารที่โรงครัวได้ เนื่องจากที่วัดไม่มีแม่ชีประจำ ไม่มีการทำครัว ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะเอาอาหารมาร่วมทำบุญ หรือเอาวัตถุดิบมาปรุงอาหารในเช้าวันนั้นเลย
  • เวลา 08.00 น.   รับประทานอาหาร
  • เวลา 15.00 น.   ตีระฆัง กวาดลานวัด
  • เวลา 16.00 น.   ดื่มน้ำปานะ
  • เวลา 18.15 น.   ตีระฆัง นั่งสมาธิ สวดมนต์ทำวัตรเย็นและฟังธรรม ร่วมกันที่ศาลา
  • เวลา 21.00 น.   เข้าที่พักเพื่อนอนพักผ่อน

เวลาที่เหลือจะทำกิจวัตรส่วนตัว และปฏิบัติธรรมด้วยตัวเอง

บรรยากาศภายในวัดป่านานาชาติ
บรรยากาศภายในวัดป่านานาชาติ
ธรรมะจากต้นไม้ภายในวัดป่านานาชาติ
ธรรมะจากต้นไม้ภายในวัดป่านานาชาติ

ที่ตั้ง วัดป่านานาชาติ

บ้านบุ่งหวาย ตำบลบุ่งหวาย อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เว็บไซต์ : www.watpahnanachat.org

Facebook : watpahnanachat

พิกัดภูมิศาสตร์ วัดป่านานาชาติ

15.164462, 104.775771

บรรณานุกรม

Wat Pah Nanachat (WPN) The International Forest Monastery , 24 August 2016http://www.watpahnanachat.org/

ติ๊ก แสนบุญ. (2558). โบสถ์สมัยใหม่…ไทยประยุกต์…แรกมีในสยามประเทศ. อุบลราชธานี: สาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะศิลปประยุกต์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

วัดป่านานาชาติ, วันที่ 24 สิงหาคม 2559. https://www.facebook.com/watpahnanachat

อุบลราชธานี: สถานที่ปฏิบัติธรรม , วันที่ 24 สิงหาคม 2559. http://www.dhammajak.net/

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง