เสี่ยว..เพื่อนแท้ ไม่ใช่เพื่อนเล่น

เสี่ยว คือ เพื่อนแท้ เพื่อนตาย กุศโลบายที่ทำให้คนอีสานมีความรักใคร่กลมเกลียวกัน เป็นเพื่อนที่คอยช่วยเหลือเกื้อกูลกันเมื่อคราวตกยากหรือเมื่อมีปัญหาต่าง ๆ เกิดขึ้น เป็นความผูกพันกันตั้งแต่รุ่นพ่อแม่จนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน หลักของความเป็นเสี่ยวทำให้เกิดความซื่อสัตย์ ความเสียสละ ความสามัคคี และความเชื่อถือจริงใจต่อกันในสังคม 

คำว่า “เสี่ยว” เป็นภาษาอีสาน หมายถึง มิตร เพื่อน หรือเกลอที่เป็นมิตรแท้ เพื่อนแท้ หรือเพื่อนตายที่มีความรัก ความซื่อสัตย์ ความจริงใจต่อกัน มีความผูกพันทางด้านจิตใจกันอย่างจริงใจและเต็มใจ และไม่มีอำนาจใด ๆ จะมาพรากให้จากกันได้ คนโบราณจึงสอนลูกหลานให้ผูกมิตรหรือผูกเสี่ยวไว้ทุกบ้านทุกเมือง ดังคำสอนที่ว่า “ให้เจ้าปันเฮือไว้หลายลำแฮท่า ให้เจ้าหม่าข้าวไว้เต็มบ้านทั่วเมือง

กว่าจะเป็นเสี่ยว

แม้ปัจจุบันคำว่า “เสี่ยว” จะถูกตีความหมายไปในทางที่ว่า เชย เปิ่น ไม่ทันสมัย หากเรียนรู้ความเป็นมาอย่างลึกซึ้งแล้ว กว่าจะเป็นเสี่ยวกันได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โบราณอีสานว่าจะต้องคัดเลือกเสียก่อน เรียกว่า “แฮก” จะต้องเลือกให้ดี เพื่อมิให้เกิดความขัดใจแตกแยกกันได้ง่าย ๆ เสี่ยวบางคู่ต้องดูใจกันเป็นเวลานานพอสมควร เพราะหากภายหลังเกิดความร้าวฉานอาจจะเกิดความอาฆาตเคียดแค้นกันขึ้น ซึ่งถือว่าขะลำ (ผิดจารีต) มากที่สุด โดยเกณฑ์พื้นฐานที่คนโบราณอีสานใช้ในการเลือกเสี่ยวตามที่ปรีชา พิณทอง (2532) ได้บันทึกไว้ คือ

  • มีรูปร่างคล้ายคลึงกัน หมายถึง คนที่มีรูปพรรณสัณฐานใกล้เคียงหรือคล้ายคลึงกัน สมควรแฮกเอาเป็นเสี่ยว
  • มีความคิดจิตใจคล้ายคลึงกัน หมายถึง คนที่มีนิสัยใจคอคล้ายกัน เช่น คนที่มีจิตใจทรหดเข็มแข็งเหมือนกัน ขยันหมั่นเพียรเหมือนกัน สุภาพอ่อนโยนเหมือนกัน รักสวยรักงามเหมือนกัน ชอบความเป็นระเบียบเหมือนกัน มีเหตุผลเหมือนกัน สมควรแฮกเอาเป็นเสี่ยว
  • มีอายุไล่เลี่ยกัน หมายถึง คนที่ไม่อ่อนไม่แก่กว่ากันจนเกินไป สมควรแฮกเอาเป็นเสี่ยว แต่ไม่ถือเป็นสำคัญ
  • มีเพศเดียวกัน โดยโบราณอีสานนั้นเชื่อว่า คนเพศเดียวกันย่อมไม่เป็นศัตรูกันทางเพศ แต่ถ้าต่างเพศชอบพอกันจะเป็นเสี่ยวกันก็ได้

เมื่อเลือกคนที่จะเป็นเสี่ยวได้แล้ว ก็จะต้องมีการผูกกันเป็นเสี่ยว คู่เสี่ยวจะมีธรรมเนียมปฏิบัติต่อกันอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ความเป็นเสี่ยวนั้นมั่นคงและแน่นแฟ้น 

ผูกเสี่ยว อีสาน

การผูกเสี่ยว

พิธีการผูกเสี่ยวทางภาคอีสานไม่มีแบบตายตัว อาจจะเริ่มจากวิธีง่ายที่สุด คือ เมื่อมีความตั้งใจจริงต่อกัน มีความถูกอกถูกใจซึ่งกันและกันหรือจิตใจตรงกัน ทั้งสองฝ่ายก็ทำความตกลงลั่นวาจาหรือแสดงออกถึงเจตนาที่จะเป็นเสี่ยวกันได้เลย อาจจะกล่าวคำมั่นสัญญาต่อกันว่า “ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปเราสองคนจะเป็นเสี่ยวกัน จะรักจะแพงกัน (จะรักจะดูแลกัน) จะไปมาหาสู่กัน จะร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน จะช่วยเหลือเกื้อกูลอุดหนุนกันตลอดจนวันตาย” 

ส่วนพิธีกรรมในการผูกเสี่ยวนั้นอาจจะจัดให้มีก็ได้ เช่น ให้มีการใช้ด้ายฝ้ายผูกแขน โดยในมือของคู่เสี่ยวจะถือข้าวเหนียวปั้นและไข่หน่วย (ไข่ต้ม 1 ฟอง) แล้วแบ่งกันกิน หรืออาจจะมีการรับประทานอาหารร่วมกัน หรือมีการทำพิธีบายศรีสู่ขวัญก็ทำได้ แต่การสาบานโดยวิธีแช่งน้ำสาบานไม่ค่อยนิยม

เมื่อนาย ก เป็นเสี่ยวกับ นาย ข ต่อมานาย ข ไปเป็นเสี่ยวกับ นาย ค นาย ค ก็จะมีฐานะเป็นเสี่ยวกับนาย ก ด้วย โดยทุกคนจะต้องมีความผูกมัดผูกพันกันตามธรรมเนียมที่เสี่ยวจะต้องปฏิบัติต่อกัน แบบนี้เรียกว่า “เสี่ยวต่อเสี่ยว” การผูกเสี่ยวจึงทำให้เกิดความผูกพันกันในวงกว้างออกไป 

ผูกเสี่ยว

พระวิสุทธิธีรพงศ์ วิเชียร อภิปญฺโญ (2561) กล่าวว่า การผูกเสี่ยว ตามประเพณีของชาวอีสาน ที่มุ่งเน้นเรื่องการคบกันเป็นเพื่อนที่สนิทแนบแน่นเป็นพิเศษ  มีความรักความผูกพันกันพึ่งพาอาศัยกัน สามารถตายแทนกันได้ เป็นประเพณีที่ส่งเสริมความสามัคคีและการผูกมิตรไมตรี ตั้งแต่พ่อ แม่ ลูก จัดเป็นสายสัมพันธ์ที่แนบแน่น สร้างสายใยแห่งความรักความสามัคคี ทั้งยังเป็นการเพิ่มจำนวนญาติพี่น้องให้มีมากยิ่งขึ้น เป็นภูมิปัญญาไทยที่ใช้ความจริงใจเป็นคุณธรรมเบื้องต้น และอาศัยหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนา คือ กัลยาณธรรม ทิศ 6 สังคหวัตถุ ความสามัคคี ความยุติธรรม เป็นต้น 

มะยุรี วงค์กวานกลม(2561) กล่าวว่า การผูกเสี่ยวเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม เป็นการนําประเพณีผูกมิตรของชาวอีสานมาใช้ในการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิต ทําให้ผู้สูงอายุมีแหล่งสนับสนุนทางสังคม มีที่ปรึกษา สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในวัยสูงอายุ และมีความสุขในการดํารงชีวิต

จังหวัดขอนแก่นได้มีการอนุรักษ์และสืบสานประเพณีผูกเสี่ยวไว้ โดยมีการรื้อฟื้นการผูกเสี่ยวแบบโบราณอีสานให้เป็นประเพณีสำคัญประจำจังหวัด เมื่อปี พ.ศ.2523 

ธรรมเนียมปฏิบัติของเสี่ยว

จารุบุตร เรืองสุวรรณ (2523) กล่าวถึง ธรรมเนียมปฏิบัติของคู่เสี่ยวที่โบราณอีสานควรถือเป็นแนวทางให้เสี่ยวปฏิบัติต่อกันอย่างสม่ำเสมอ ดังนี้ 

1.เมื่อเป็นเสี่ยวกันแล้วจะต้องมีสิทธิ์และรับภาระหน้าที่แทนกันได้ทุกกรณี เว้นแต่เป็นผัวเป็นเมียซึ่งถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละบุคคลโดยแท้จริง จะต้องยอมรับนับถือให้อยู่ในเครือญาติวงศ์สกุลโดยมีฐานะเดียวกันกับเสี่ยวอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้นจึงมีคำเรียกชื่อว่า พ่อเสี่ยว แม่เสี่ยว น้าเสี่ยว พี่เสี่ยว น้องเสี่ยว เป็นต้น ถ้าเป็นคนต่างวัยอาจจะผูกกันเป็น พ่อฮัก แม่ฮัก น้องฮักอีกก็ได้

2.การถือวิสาสะ เมื่อถือว่าเสี่ยวต่อเสี่ยวมีฐานะคล้ายกับเป็นบุคคลเดียวกันที่สุด การหยอกล้อกันหรือล้อเลียนกันย่อมไม่มีการถือโกรธ ถ้าหากมิได้เป็นเสี่ยวกันแล้วไปเย้าแหย่บุคคลอื่นจนเขาโกรธ เขาอาจจะพูดจาประท้วงเอาว่า “ข้อยบ่แม่นเสี่ยวเจ้า อย่ามาล้อข้อยเล่น”

3.ร่วมเป็นร่วมตาย (ฮ่วมเป็นฮ่วมตาย) ถ้าเสี่ยวฝ่ายหนึ่งตกทุกข์ได้ยาก หรือมีความเดือดร้อน เช่น การเกิด (มีบุตร) การเจ็บไข้ การตาย หรือประสบภัยอันตราย เมื่อเสี่ยวอีกฝ่ายหนึ่งได้ทราบข่าวแล้วจะต้องเสียสละอุทศตนเข้าช่วยเหลือจนเต็มความสามารถ จนถึงขั้นที่เรียกว่า อาจตายแทนกันได้

4.ไปมาหาสู่ (ไปมาหาต้อน) เสี่ยวต่อเสี่ยวจะต้องมีการติดต่อกันอยู่เสมอมิให้ขาดได้ โดยการไปมาหาสู่กัน ซึ่งตามธรรมเนียมที่ถือกันมามักจะมีของฝาก “ของต้อน” ติดไปด้วย เพื่อแสดงออกซึ่งน้ำใจไมตรี แม้แต่เพียงเล็กน้อยก็ยังดี

5.ไปหามาแวะ หากมีกิจธุระจำเป็นจะต้องเดินทางผ่านที่อยู่ของเสี่ยวอีกฝ่ายหนึ่ง จะต้องแวะเสี่ยวของตนเสียก่อน หากผ่านไปโดยไม่แวะเยี่ยม หรือไม่บอกกล่าวกันแล้ว จะทำให้มิตรไมตรีที่มีต่อกันไม่ค่อยมั่นคง ถ้าหากได้รับการบอกกล่าวขอร้องให้เดินทางร่วมกัน เช่น การเดินทางไปในที่เสี่ยงอันตราย จะต้องเสียสละหยุดงานส่วนตัวอุทิศตนเดินทางไปกับเสี่ยวให้จงได้ มิฉะนั้นความเป็นเสี่ยวจะมีความหมายน้อยลง

บรรณานุกรม

จารุบุตร เรืองสุวรรณ. (2523). เสี่ยว. วารสารมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ (มหาวิทยาลัยขอนแก่น), 1(3), หน้า 46-54

ไตรรัตน์ แงดสันเทียะ. (2558). วิธีการสืบสานประเพณีผูกเสี่ยวของชุมชนบ้านหัวขัว ตำบลเปือยน้อย อำเภอเปือยน้อย จังหวัดขอนแก่น. วารสารสหวิทยาการวิจัย: ฉบับบัณฑิตศึกษา 4(2), หน้า 64-71.

ปรีชา พิณทอง. (2532). อีสาน: อดีต ปัจจุบัน และอนาคต (เรื่องเสี่ยว) ในเอกสารประกอบการสัมมนา เรื่อง วัฒนธรรมพื้นบ้าน: กรณีอีสาน 30 มิถุนายน – 3 กรกฎาคม 2532. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. 

พระวิสุทธิธีรพงศ์ วิเชียร อภิปญฺโญ. (2561). การผูกเสี่ยว : รูปแบบการสร้างมิตรภาพเพื่อชุมชนที่ยั่งยืนตามแนว พุทธภูมิปัญญาไทย. วารสารการบริหารท้องถิ่น มข. 11(2), หน้า 179-190.

มะยุรี วงค์กวานกลม. (2561). ภูมิปัญญาพื้นบ้านในการดูแลสุขภาพจิตของผู้สูงอายุในสังคมวัฒนธรรมอีสาน. วารสารมหาวิทยาลัยนครพนม ฉบับพิเศษการประชุมพยาบาล ครั้งที่ 25, หน้า 140-148.

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง