ลาบหมาน้อย แซ่บแบบอีสานจากผักสมุนไพรพื้นบ้านนานาชาติ

ต้นหมาน้อย หรือเครือหมาน้อย ชาวอีสานนำมาปรุงเป็น “ลาบหมาน้อย” อาหารพื้นบ้านดั้งเดิม เป็นผักสมุนไพรพื้นบ้านที่มีสรรพคุณทางยาที่หมอยาพื้นบ้านทั้งในประเทศไทย อเมริกาใต้และอเมริกาเหนือนำมาใช้ประโยชน์ในการบำรุงและรักษาอาการต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

ต้นหมาน้อย กรุงเขมา

หมาน้อย หรือ เครือหมาน้อย มีชื่อเรียกที่แตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น เช่น กรุงเขมา  กรุงเขมา หมอน้อย ก้นปิด ขงเขมา พระพาย เปล้าเลือด สีฟัน  มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cissampelos pareira L. var. hirsuta (Buch. ex DC.) Forman. ลักษณะของต้นหมาน้อยจะเป็นไม้เถาเลื้อยพัน มักจะเลื้อยปกคลุมค้างหรือต้นไม้เป็นพุ่มแบบไม่มีมือเกาะ มีรากที่สามารถสะสมอาหารใต้ดินได้ ใบของหมาน้อยจะเป็นใบเดี่ยวรูปหัวใจสีเขียวลักษณะก้นปิด ออกในสลับกันตามเครือเถา ผิวใบมีขนนุ่มปกคลุมไม่ระคายเคือง ขอบใบเรียบ ดอกจะออกเป็นกระจุกสีขาวขนาดเล็ก มีผลสีส้มอวบโตยาวประมาณหนึ่งเซนติเมตร เมื่อสุกจะมีสีน้ำตาลแดงและมีเมล็ดโค้งงอเหมือนพระจันทร์ครึ่งซีก การขยายพันธุ์ หมาน้อยเป็นพืชหลายฤดู ที่ขยายพันธุ์ได้ทั้งแบบอาศัยเพศ และไม่อาศัยเพศ เช่น การปักชำ การใช้เมล็ด

ต้นหมาน้อย
ต้นหมาน้อย ไม้เถาเครือ

ลักษณะพิเศษของต้นหมาน้อย คือ ส่วนใบ เมื่อนำมาขยี้จะรู้สึกนุ่มลื่นคล้ายวุ้น เนื่องจากมีสารพวกเพคตินเป็นส่วนประกอบ โดยในปี 2546 พิเชษฐ ได้ทําการศึกษาหาปริมาณของเพคตินที่มีในใบหมาน้อย พบว่าจากใบหมาน้อย 100 กรัม สามารถสกัดเป็นเพคตินได้สูงถึง 30 กรัม หรือคิดเป็น 30 เปอร์เซ็นต์โดยน้ําหนัก และเพคตินของหมาน้อยเป็นชนิด low methoxy pectin ที่คุณสมบัติเฉพาะคือสามารถเซ็ตตัวเป็นเจลได้ในน้ำเย็นและไม่ต้องมีกรด หรือ น้ำตาล (ราตรี พระนครและคณะ, ม.ป.ป.)

ในอดีตนั้น ชาวอีสานมีวิถีชีวิตพึ่งพากับธรรมชาติจะมีการแสวงหา ทดลองนำพืชผักต่าง ๆ นำมาใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการนำมาประกอบอาหาร ใช้เป็นยารักษาโรค และสืบทอดองค์ความรู้กันมาอย่างยาวนาน ต้นหมาน้อยเองก็เป็นหนึ่งในพืชผักที่สามารถพบได้ทั่วไปตามป่าดิบ ป่าผลัดใบ หรือป่าพุ่มทั่วทุกภาค โดยเฉพาะทางแถบภาคอีสานชาวอีสานจึงได้เรียนรู้และหากรรมวิธีในการนำต้นหมาน้อยมาปรุงเป็นอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนเผ่าเขมร ส่วย และลาว (สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ,2560) ในแต่ละปีจะมีต้นหมาน้อยให้รับประทานได้เพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น เมื่อมีความนิยมในการรับประทานต้นหมาน้อยมากขึ้นจากที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ ก็นำมาปลูกไว้ใกล้บ้านเพื่อให้ง่ายต่อการนำมาใช้ และสามารถเก็บขายเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง

สรรพคุณโภชนาการต้นหมาน้อย

จากฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (2555) ได้ให้ข้อมูลสรรพคุณทางยาของหมาน้อยในตำรายาไทยว่า

  • ส่วนเหนือดิน เป็นยาแก้ร้อนใน แก้โรคตับ
  • ราก รสหอมเย็น แก้ไข้ แก้ดีรั่ว ดีซ่าน เป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงอวัยวะเพศให้แข็งแรง แก้ลม โลหิต กำเดา แก้โรคตา ขับปัสสาวะ แก้บวมน้ำ ใช้เคี้ยว แก้ปวดท้อง และโรคบิด ระบายนิ่ว แก้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ไอเจ็บหน้าอก เป็นยาขับเหงื่อ ยาขับระดู ยาบำรุง ยาสงบประสาท ยาขับน้ำเหลืองเสีย ยาสมาน ในอดีตเป็นตัวยาหนึ่งที่มีติดย่ามของหลวงปู่ฝั้นทุกครั้งที่ท่านออกธุดงค์ ท่านใช้เป็นตัวยาหลักในการแก้ไข้ และมีการนำไปใช้เป็นส่วนระกอบของยาหอม เพราะกลิ่นของรากหมาน้อยมีกลิ่นเฉพาะ (ราตรี พระนครและคณะ, 2561)
  • รากและใบ พอกเป็นยาเฉพาะที่ แก้โรคผิวหนัง หิด
  • ลำต้น ดับพิษไข้ทุกชนิด บำรุงโลหิตสตรี เป็นยาพอกแก้ตาอักเสบ 
  • เนื้อไม้ แก้โรคปอด และโรคโลหิตจาง 
  • ใบ แก้ร้อนใน พอกแผล ฝี แก้แผลมะเร็ง แก้หืด ใช้ทาภายนอกแก้หิด ซึ่งการุณย์ มะโนใจ (2562) กล่าวเพิ่มเติมว่า สามารถใช้กับอาการอักเสบของผิวหนัง ผดผื่น คัน รวมทั้งจากแมลงสัตว์กัดต่อย และใช้พอกหน้าสำหรับผู้หญิงที่เป็นสิวและมีปัญหาเกี่ยวกับผิวพรรณได้อีกด้วย
รากต้นหมาน้อย
รากหมาน้อย ภาพจาก http://ird.rmuti.ac.th/2015/files/2562/File/งานวิจัยเด่น/–3_.pdf

องค์ประกอบทางเคมีของต้นหมาน้อย    

ราก พบแอลคาลอยด์ปริมาณสูง เช่น hyatine, hyatinine, sepurine, beburine, cissampeline, pelosine นอกจากนี้ยังพบ quercitol, sterol  แอลคาลอยด์ hyatine มีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อและลดความดันโลหิต (ฤทธิ์เทียบเท่ากับ d-tubercurarine ที่ได้จากยางน่อง)  cissampeline แสดงฤทธิ์เป็นพิษต่อเซลล์

คุณค่าทางโภชนาการของต้นหมาน้อย

ข้อมูลจากกองโภชนาการ กรมอนามัย ที่ได้มีการศึกษาคุณค่าทางโภชนาการของต้นหมาน้อย โดยเน้นเฉพาะส่วนใบที่มีการนํามาแปรรูปเป็นอาหาร จากการศึกษาใน 100 กรัมของใบหมาน้อย พบว่า ให้พลังงาน 95 กิโลแคลอรี โปรตีน 8.5 กรัม ไขมัน 0.7 กรัม คาร์โบไฮเดรต 13.6กรัม เบต้าแคโรทีน 6,577 ไมโครกรัม ซึ่งเทียบเท่าวิตามินเอ 1,096 RE (ไมโครกรัมอาร์อี)

การใช้ประโยชน์จากต้นหมาน้อยในตำรับยา

การใช้ประโยชน์จากต้นหมาน้อยในตำรับยาของหมอยาพื้นบ้านมาอย่างยาวนาน ดังปรากฎในตำราโอสถพระนารายณ์สำหรับแก้เตโชธาตุพิการ หรือธาตุไฟพิการ  มีบทกลอนกล่าวไว้ว่า

“ถ้ามิถอยใช้ให้เอาโกฏสอ โกฏเขมา รากพิลังกาสา ผลราชคัด ผลสรรพพิศม์ ผลสวาดิจุโรหินี รากกรุงเขมา รากมะแว้งเครือ รากจิงจ้อใหญ่ มหาพิงคุ์ ผลจันทร์เทศ เทียนดำ เทียนขาว ยา 14 สิ่ง เสมอภาค ทำเป็นจุล ละลายน้ำนมโคก็ได้ ส้มมะงั่วก็ได้”

จากการรวบรวมข้อมูลจากงานเขียนต่าง ๆ พบว่า มีการใช้ประโยชน์ทางยาจากต้นหมาน้อย ดังนี้

1.มีการนำรากที่ตากแห้งแล้วมาบดให้ละเอียดจนเป็นผง แล้วผสมกับน้ำผึ้งหรือละลายน้ำรับประทานเป็นยาอายุวัฒนะ (Disthai, 2560)

2. มีการนำรากที่ตากแห้ง 10-15 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม เช้า-เย็น ใช้แก้ไข้ แก้ลม แก้โลหิตกำเดา ใช้ขับปัสสาวะ แก้บวมน้ำ แก้ปวดท้อง ขับเหงื่อ ขับระดู ถ่ายน้ำเหลือง แก้บิด แก้นิ่ว แก้โรคตา (Disthai, 2560)

3. มีการนำใบสดมาขยำหรือตำให้ละเอียดใช้พอกบริเวณที่เป็นโรคผิวหนังต่าง ๆ เช่น หิด แผล ฝีหนอง แผลมะเร็ง โดยเปลี่ยนยาทุกวันจนแผลหายดี ในขณะเดียวกัน (Disthai, 2560) และพบว่าหมอยาในจังหวัดปราจีนบุรีได้นำใบหมาน้อยมาขยี้ให้เป็นวุ้นพอกรักษาฝี อาการปวดบวมตามข้อ หรืออาการอักเสบของผิวหนัง ผดผื่น คัน รวมทั้งจากแมลงสัตว์กัดต่อยด้วยเช่นกัน นอกจากนั้นยังใช้พอกหน้าสำหรับผู้หญิงที่เป็นสิวผิวพรรณไม่ดีได้อีกด้วย(การุณย์ มะโนใจ, 2562) 

ต้นหมาน้อย
ใบต้นหมาน้อย

4. พบว่า บางชนเผ่าในประเทศแถบอเมริกาใต้และอเมริกาเหนือใช้ใบ เปลือก ราก แช่ในเหล้ารัม อ้างสรรพคุณว่าสามารถบำรุงสมรรถภาพทางเพศได้ แต่มีข้อห้ามไม่ให้ใช้กับคนท้อง (เมย์วิสาข์, 2563) 

5. พบว่า หมอยาพื้นบ้านชาวบราซิลที่ใช้เครือหมาน้อยในการแก้ไข้ แก้ปวด รวมทั้งหมอยาพื้นบ้านชาวอินเดียแดงก็ใช้การต้มใบและเถาของต้นหมาน้อยกินเพื่อแก้ปวด ซึ่งก็สอดคล้องกับที่มีการศึกษาพบว่าต้นหมาน้อยมีฤทธิ์แก้ปวดคลายกล้ามเนื้อ แก้อักเสบได้ดี (การุณย์ มะโนใจ, 2562)

6. พบว่า หมอพื้นบ้านที่จังหวัดยโสธร ใช้รากต้นหมาน้อยฝนกับน้ำมะพร้าวให้กินแทนน้ำไปเรื่อยๆ เพื่อรักษาประดงไฟ ซึ่งมีลักษณะอาการออกร้อนตามตัว ซึ่งภาษาทางการแพทย์เรียกว่า burning sensation  และอีกตำรับยาหนึ่้ง คือ นำใบหมาน้อยมาขยี้รวมกับใบย่านางสดกับหมาน้อย รับประทานเพื่อถอนพิษร้อนต่าง ๆ ได้ (การุณย์ มะโนใจ, 2562)

7. หมอยาพื้นบ้านมีความเชื่อว่า ต้นหมาน้อยเป็นยาปรับสมดุลฮอร์โมนของผู้หญิง ใช้ในผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบประจำเดือน เช่น อาการปวดประจำเดือน มีประจำเดือนออกมามากน้อยเกินไป อาการไม่สบายก่อนมีประจำเดือน รวมทั้งรักษาสิวที่เกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมน ซึ่งพบว่ามีการใช้ประโยชน์ทางยาจากต้นหมาน้อยมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน จนได้ฉายาว่าเป็นสมุนไพรของหมอตำแย  ดังจะเห็นได้จาก ตำรับยาของหมอยาไทยพวนจะใช้รากของต้นหมาน้อยฝนกินกับน้ำแก้ปวดประจำเดือน แก้ไข้ทับระดู ปรับสมดุลของประจำเดือนให้เป็นปกติทั้งอาการที่มีประจำเดือนมากหรือน้อย หมอยาพื้นบ้านของไทยและประเทศในแถบอเมริกาใต้และอเมริกาเหนือจะใช้เถา ราก ใบ เปลือก ของต้นหมาน้อยระงับอาการปวดทั้งก่อนคลอดและหลังคลอด รวมทั้งใช้รักษาอาการตกเลือดหลังคลอด (การุณย์ มะโนใจ,2562)

นอกจากนี้แล้วยังพบว่า มีหมอยาไทยใหญ่บางท่านจะใช้รากของต้นหมาน้อยต้มกินประจำ จะสามารถแทนยาคุมกำเนิดได้ จนได้มีการเรียกขานต้นหมาน้อยว่า “ยาไม่มีลูก” (เมย์วิสาข์, 2563) ซึ่งสอดคล้องกับการที่มีการศึกษาเกี่ยวกับฤทธิ์ในการคุมกำเนิดของใบหมาน้อย เมื่อป้อนสารสกัดเมทานอลจากใบหมาน้อยใน ขนาด 250 และ 450 มก./วัน/กิโลกรัม(น้ำหนักตัว) ให้แก่หนูถีบจักรเพศเมีย เป็นเวลา 21 วัน พบว่ามีฤทธิ์คุมกำเนิด โดยจะยืดระยะเวลาของวัฏจักรเป็นสัด (estrous cycle) ในขั้น diestrus ออกไป และทำให้จำนวนลูกหนูที่เกิดในครอกลดลง เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม แต่ลูกหนูก็ยังจะมีการเจริญเติบโตเป็นปกติ แสดงว่าสารสกัดไม่มีผลทำให้แท้ง และเกิดการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของตัวอ่อน นอกจากนี้สารสกัดยังมีผลต่อระดับฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับวัฏจักรเป็นสัด โดยจะลดระดับของ luteinizing hormone (LH), follicle-stimulating hormone (FSH) และ estradiol โดยจะเพิ่มระดับของ prolactin แต่จะไม่มีผลต่อ progesterone (Disthai, 2560) 

8. มีการศึกษาพบว่า ต้นหมาน้อยมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด รวมทั้งเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดท้องเสีย ทำให้มีทั้งหมอพื้นบ้านของไทยและอเมริกาใต้นำต้นหมาน้อยมาใช้ในการรักษาโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกท้อง ท้องบิด ท้องเสีย ถ่ายเป็นเลือดโรคลำไส้แปรปรวน โรคลำไส้อักเสบ และช่วยในการย่อยอาหาร โดยตำรับยาที่พบคือ การนำรากต้นหมาน้อยมาต้มน้ำดื่ม ในประเทศอินโดนีเชียมีการนำใบมาขยี้ให้เป็นวุ้นรับประทานแก้ปวดท้องและช่วยย่อยอาหาร (การุณย์ มะโนใจ, 2562) 

มีการศึกษาวิจัยว่าน้ำคั้นจากใบต้นหมาน้อยช่วยลดการเป็นแผลในกระเพาะอาหารในหนูทดลองที่ได้รับยาแอสไพรินที่มีคุณสมบัติกัดกระเพาะอย่างแรง โดยพบว่าในหนูที่ได้รับยาแอสไพรินอย่างเดียวมีแผลและมีเลือดไหลในกระเพาะ ส่วนหนูที่ได้รับยาแอสไพรินร่วมกับน้ำคั้นใบต้นหมาน้อย 2.5, 5 และ 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ต่อน้ำหนักตัว เมื่อตรวจสอบการเกิดแผลในกระเพาะอาหารหนูนั้นพบว่การเกิดแผลต่างกันอย่างมีนัยสำคัญระหว่างการได้รับและการไม่ได้รับน้ำคั้นใบต้นหมาน้อย โดยหนูที่ได้รับน้ำคั้นใบหมาน้อยในทุกความเข้มข้นไม่พบการเกิดแผลในกระเพาะของหนูทดลองในทุกอัตราที่ได้รับแสดงให้เห็นว่าน้ำคั้นใบหมาน้อยสามารถป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะได้ (Siregar and Miladiyah, 2011 อ้างถึงโดย ราตรี พระนครและคณะ, ม.ป.ป.)

9. พบว่าหมอยาพื้นบ้านไทยใหญ่และหมอาพื้นบ้านบราซิลใช้ราก ต้น เปลือก ใบ หรือทั้งต้นมาต้มน้ำกิน ช่วยลดความดันโลหิตสูง นิ่ว ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาว่าสามารถลดความดันโลหิตในสัตว์ทดลองได้ (การุณย์ มะโนใจ, 2562) 

10.พบว่า มีการศึกษาทดลองในอินเดีย ในปี ค.ศ.1979 โดยใช้สารสกัดจากส่วนเหนือดิน (ไม่ระบุส่วนที่ใช้) ของต้นหมาน้อยที่สกัดด้วยน้ำและแอลกอฮอล์ (อัตราส่วน 1:1) ในสัตว์ทดลอง ผลการทดลองพบว่า สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของสัตว์ทดลองได้ (Disthai, 2560) รวมทั้งราตรี พระนคร และคณะ (2561) ก็พบว่าการให้สารละลายน้ำตาลร่วมกับวุ้นหมาน้อย มีผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดของอาสาสมัครปกติมีการเพิ่มขึ้นต่ำกว่าการที่อาสาสมัครได้รับสารละลายน้ำตาลเพียงอย่างเดียว

11. พบว่า ต้นหมาน้อยมีฤทธิ์ต้านฮีตามีนทำให้หัวใจเต้นช้าลง ต้านการชักมีฤทธิ์เพิ่มน้ำลาย กดระบบประสาทส่วนกลาง กดระบบทางเดินหายใจ ลดความดันโลหิต ขับปัสสาวะ ต้านเชื้อราและแบคทีเรีย คลายกล้ามเนื้อเรียบ ยับยั้งการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ เป็นต้น จากการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาในต่างประเทศ (Disthai, 2560)

แม้ว่าต้นหมาน้อยจะเป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์มากมายแต่ก็ควรใช้อย่างระมัดระวังในปริมาณที่เหมาะสมและใช้ติดต่อกันไม่นานจนเกินไป เพราะอาจจะส่งผลต่อสุขภาพได้ โดยเฉพาะในเด็ก ผู้ป่วยเรื่อรัง หรือผู้สูงอายุ ควรปรึกษาแพทย์ก่อน 

ต้นหมาน้อย
ใบต้นหมาน้อยที่จะนำมาปรุงเป็นลาบหมาน้อย

ต้นหมาน้อยนำมาปรุงเป็นอาหาร

ต้นหมาน้อยนอกจากจะนำมาใช้ประโยชน์ในตำรับยาพื้นบ้านแล้ว ยังพบว่าหลายพื้นที่มีการใช้ต้นหมาน้อยมาปรุงเป็นอาหาร เช่น

  • ในพื้นที่จังหวัดเลยใช้น้ำคั้นจากรากและใบของต้นหมาน้อยใส่ในแกงหน่อไม้แทนใบย่านาง (การุณย์ มะโนใจ, 2562)
  • คนเชื้อสายชองที่อาศัยอยู่ที่อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด นำใบหมาน้อยมาคั้นหรือตำให้ละเอียดทำเป็นวุ้น ตัดเป็นชิ้น ๆ แล้วตำพริก กะปิ มะม่วง มะกอก นำมายำรวมกับวุ้นหมาน้อย และใส่ปลาแนมให้ออกรสเปรี้ยว ๆ เผ็ด ๆ ใช้รับประทานกับข้าว รวมทั้งทำเป็นหมาน้อยลอยแก้ว คือ นำวุ้นหมาน้อยมาใส่น้ำเชื่อม น้ำแข็ง เป็นของหวาน นอกจากนั้นยังมีการพัฒนานำวุ้นหมาน้อยมารับประทานกับหน้าอาหารทะเลต่าง ๆ ใช้เป็นอาหารว่าง (กาญจนา จินตกานนท์, 2559)
  • ในบางพื้นที่ ในประเทศลาว เช่น เวียงจันทร์ หรือ ทางลาวใต้ มีการทำวุ้นหมาน้อยมาทำเป็นอาหารหวาน ที่เรียกว่า “วุ้นหมาน้อยในน้ำเชื่อม” (ราตรี พระนคร และคณะ, ม.ป.ป.)
  •  อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย นำวุ้นหมาน้อยมาทำเป็นอาหารหวานที่ชื่อว่า “วุ้นหมาน้อยในน้ำกระทิ” และสร้างจุดเด่นยกให้เป็นอาหารท้องถิ่นอย่างหนึ่งที่นักท่องเที่ยวต้องไปชิม (ราตรี พระนคร และคณะ, ม.ป.ป.)

และอาหารที่ปรุงจากต้นหมาน้อยที่เป็นอาหารพื้นถิ่นที่ชาวอีสานถ่ายทอดกรรมวิธีการปรุงและการรับประทานมาอย่างยาวนาน นั่นคือ “ลาบหมาน้อย” เป็นอาหารคาวเพื่อสุขภาพที่เหมาะจะรับประทานในช่วงฤดูร้อน ปัจจุบันหารับประทานได้ยาก มีบางคนมองว่าเป็นอาหารป่าของบางพื้นที่เท่านั้น ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย แต่กระนั้นก็มีหลายหน่วยงานได้ทำการศึกษาวิจัยเพื่ออนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากต้นหมาน้อย เช่น การศึกษาวิธีการขยายพันธุ์ การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง รวมทั้งการถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อฟื้นฟูการใช้ประโยชน์จากต้นหมาน้อยให้ชุมชน เป็นต้น 

ต้นหมาน้อย

วิธีการทำลาบหมาน้อย

วิธีการทำลาบจากหมาน้อยอาหารตามภูมิปัญญาดั้งเดิมของท้องถิ่นในภาคอีสานนั้นมีดังนี้

1. เลือกใบหมาน้อยที่แก่เต็มที่ ประมาณ 15- 20 ใบ และใบย่านาง 4-5 ใบ มาล้างให้สะอาด แล้วคั้นหรือขยี้กับน้ำสะอาดเพื่อความปลอดภัยใช้น้ำต้มสุก ประมาณ 1 ถ้วย ขณะที่คั้นใบ น้ำคั้นจะมีลักษณะเป็นเมือกข้น คั้นจนเมือกออกจากใบหมดแล้ว กรองเอากากใบออก

ต้นหมาน้อย
ใบหมาน้อยเตรียมขยี้กับน้ำสะอาด
ต้นหมาน้อย
ขยี้จนกว่าหมดเมือก มองเห็นก้างใบ
ต้นหมาน้อย
น้ำคั้นใบหมาน้อย พยายามนำกากออกให้ได้มากเท่าที่จะทำได้

2. ต้มปลาเพื่อทำป่นปลา ซึ่งอาจจะใช้ปลาช่อน ปลาหมอ หรือปลาดุกก็ได้ ปรุงน้ำต้มด้วยน้ำปลาร้า และเกลือ ต้มจนปลาสุกดี

ต้มปลาป่น
ต้มปลาเตรียมทำป่นปลา

3. คั่วพริกสดให้สุกหอม

4. การทำป่นปลา โดยนำพริกที่คั่วมาโขลกให้แตกแต่ไม่ต้องละเอียด แล้วจึงแกะเนื้อปลาต้มลงไปโขลกรวมกันให้ละเอียด จากนั้นเทน้ำที่ใช้ต้มปลาลงไปและคนให้เข้ากันดี จากนั้นใส่พริกป่นและข้าวคั่ว ปรุงรสชาติให้ออกรสเค็มนิดหน่อยด้วยน้ำปลาหรือเกลือ เมื่อนำรวมกับน้ำคั้นหมาน้อยก็จะได้รสชาติพอดี 

การปรุงลาบหมาน้อย
ป่นปลา
เครื่องปรุงลาบหมาน้อย
ใส่พริกป่นและข้าวคั่วไปรวมกับป่นปลา

5. เตรียมหัวหอม สะระแหน่ มะเขือขื่น ถั่วฝักยาวซอย ข้าวคั่วและพริกป่น 

เครื่องปรุงลาบหมาน้อย
หัวหอม สะระแหน่ มะเขือขื่น ถั่วฝักยาว หั่นซอย

6. นำป่นปลามาเทรวมกับน้ำคั้นใบหมาน้อย แล้วคนให้เข้ากัน

การปรุงลาบหมาน้อย
เทป่นปลารวมกับน้ำคั้นใบหมาน้อย
การปรุงลาบหมาน้อย
คนส่วนผสมให้เข้ากัน

7. ใส่หัวหอม สะระแหน่ มะเขือขื่น ถั่วฝักยาวซอย ลงไปผสมรวมกับใบคั้นหมาน้อย และคนให้เข้ากัน ชิมและปรุงรสให้พอดีตามต้องการ เพียงเท่านี้ก็ได้ลาบหมาน้อยแล้ว

การปรุงลาบหมาน้อย
ใส่ผักต่าง ๆ ลงไปในลาบหมาน้อย
การปรุงลาบหมาน้อย
ลาบหมาน้อย พร้อมรับประทาน

การรับประทานลาบหมาน้อยสามารถรับประทานได้ทั้งในขณะยังไม่แข็งตัวและแข็งตัว หากชอบแบบที่แข็งตัวแล้ว เมื่อปรุงเสร็จทิ้งไว้ประมาณ 15-20 นาที ลาบหมาน้อยจึงจะแข็งตัวและแยกออกจากน้ำ สามารถรับประทานเป็นกับข้าว หรืออาหารว่างก็ได้

การปรุงลาบหมาน้อย
ลาบหมาน้อยเมื่อทิ้งไว้ 15-20 นาที จะแข็งตัว
หมายเหตุ : เก็บรวมรวมการทำลาบหมาน้อยในพื้นที่ตำบลแสนสุข อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

ที่ตั้ง ต้นหมาน้อย

จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ ต้นหมาน้อย

15.230193, 104.857329

บรรณานุกรม

กฤษณะ โสภี. (2563). “หมาน้อย” ไม่ใช่ “หมาตัวเล็ก” แต่เป็นจานเด็ดของอิสาน.  เข้าถึงข้อมูล วันที่ 4 กุมภาพันธ์,https://www.silpa-mag.com/culture/article_6324

กองโภชนาการ กรมอนามัย. (2544). ตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการในอาหารไทย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์องค์การ ทหารผ่านศึก. 

การุณย์ มะโนใจ. (2562). เรื่องน่ารู้ของเครือหมาน้อย ภูมิปัญญา อาหารของไทลื้อ.  เข้าถึงข้อมูล วันที่ 4 กุมภาพันธ์, https://www.technologychaoban.com/thai-local-wisdom/article_111944

กาญจนา จินตกานนท์. (2559). วุ้นหมาน้อย…อาหารสุขภาพชอง ของดี เมืองตราด หาชิมยาก!!. เข้าถึงข้อมูล วันที่ 4 กุมภาพันธ์, https://www.technologychaoban.com/folkways/article_5850

ญาธิปวีร์ ปักแก้ว. (2553). หมาน้อย….เพคตินจากป่าธรรมชาติที่นับวันจะสูญสิ้น. เข้าถึงข้อมูลวันที่ 4 กุมภาพันธ์, http://nutrition.anamai.moph.go.th/ewtadmin/ewt/nutrition/images/file/หมาน้อย….เพคตินจากป่าธรรมชาติที่นับวันจะสูญสิ้น.pdf

ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. (2555). เครือหมาน้อย. เข้าถึงข้อมูล วันที่ 4 กุมภาพันธ์, http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=146 

พิเชษฐ เทบํารุง. (2546). การหาปริมาณเพคตินและคุณภาพของเพคตินจากใบหมาน้อย (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต). มหาสารคาม: มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

เมย์วิสาข์. (2563). เครือหมาน้อย ฉายา “หมอตำแย”. เข้าถึงข้อมูล วันที่ 4 กุมภาพันธ์, https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_163899

ราตรี พระนครและคณะ. (ม.ป.ป.). เครือหมาน้อย “กรุงเขมา” มหัศจรรย์พืชป่า. เข้าถึงเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564, http://ird.rmuti.ac.th/2015/files/2562/File/งานวิจัยเด่น/–3_.pdf

สมโชคเฉตระการ. (2553). เชิญชวน ทานหมาน้อย…พืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยา. เข้าถึงข้อมูล วันที่ 4 กุมภาพันธ์,  http://www.oknation.net/blog/print.php?id=669296

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ. (2560). เครือหมาน้อย. เข้าถึงข้อมูล วันที่ 4 กุมภาพันธ์, https://www.m-culture.go.th/sisaket/ewt_news.php?nid=939&filename=index

อนงค์ ทุมมากรณ์, สัมภาษณ์ 14 กุมภาพันธ์ 2564

Disthai. (2560). กรุงเขมา ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่น ๆ และข้อมูลงานวิจัย. เข้าถึงข้อมูลวันที่ 4 กุมภาพันธ์,  https://www.disthai.com/กรุงเขมา

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง