ตำรับยาสมุนไพรพื้นบ้านอีสาน

ตำรับยาสมุนไพรพื้นบ้านอีสาน ที่รวบรวมโดยคุณตาจำนง กันนิดา หมอยาพื้นบ้านที่เรียนรู้การป้องกันและรักษาโรคมาจากตำรายาโบราณในหนังสือใบลานที่ครูบาอาจารย์ถ่ายทอดให้ในสมัยยังบวชเป็นพระ นำมาผลิตเป็นยาสมุนไพรสร้างรายได้ให้กับชุมชนบ้านม่วง หมู่ 3 ตำบลสมสะอาด อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี

คุณตาจำนง กันนิดา หมอยาสมุนไพรพื้นบ้านแห่งบ้านม่วง ได้รับการถ่ายทอดความรู้เรื่องยาสมุนไพรพื้นบ้านจากครูบาอาจารย์ในขณะที่บวช ตำรายาที่เรียนร่ำเรียนนั้นส่วนหนึ่งถูกเขียนบันทึกไว้ในใบลานที่สืบทอดกันมา คุณตาจำนงได้นำความรู้นั้นมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยและทำคลอดในชุมชน สั่งสมประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญ จนได้รับการยอมรับจากสมาคมแพทย์โบราณพื้นบ้านไทยและสมุนไพร

คุณตาจำนง กันนิดา ได้รวบรวมและบันทึกตำรายาสมุนไพรไว้และอนุญาตให้เผยแพร่ได้ ซึ่งงานข้อมูลท้องถิ่นฯ เห็นว่าเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาเรียนรู้ จึงได้เรียบเรียงและจัดกลุ่มตำรายา เทียบเคียงชื่อสมุนไพรที่เรียกขานในชุมชนกับชื่อสามัญ (เท่าที่ทำได้) ดังต่อไปนี้

สูตรทำลูกประคบสมุนไพรบ้านม่วง ประกอบด้วย ไพล ขมิ้น ว่างนางคำ ใบหนาด ใบมะขาม ใบเป้า ใบส้มป่อย เถาเอ็นอ่อน ตะไคร้หอม เปลือกมะกรูด การบูร 2 ขีด พิมเสน 2 ขีด ผสมกัน เถาวัลย์เปลือง และเกลือ 4 ช้อนโต๊ะ

โรคประดง

  • ตำรับ 1 : โรคประดงเข้าข้อ นำแก่นตีนนก (สมอหิน) เครือหมากยาง (คุย) ยาหัว (ข้าวเย็น) อ้อยดำ ต้มน้ำดื่ม
  • ตำรับ 2 : โรคประดงปวดขา นำแก่นแดง แก่นข่าลิ้น(คัดลิ้น, กัดลิ้น) แก่นขี้เหล็กใหญ่(ชุมเห็ดเทศ) แก่นขี้เหล็กต้มน้ำดื่ม
  • ตำรับ 3 : นำรากขนุน รากต้นถ่อน ขมิ้นเครือ รากส่องฟ้า รากสมัด(สมัดใหญ่) ต้มน้ำดื่ม
  • ตำรับ 4 : แก้ปวดประดง นำรากลิ้นไม้ (เพกา) พลูคาว รากพลู่มะลี ฝนทาบริเวณที่ปวด

โรคเบาหวาน

  • ตำรับ 1 : นำใบสัก ใบมะยม ต้มน้ำดื่ม
  • ตำรับ 2 : นำใบหูกวาง 1 กำมือ ตัดก้านและปลายใบออก เอาเฉพาะส่วนกลางใบต้มน้ำดื่มเป็นประจำ ช่วยลดน้ำตาลในเลือด
  • ตำรับ 3 : นำต้นและใบเหงือกปลาหมอ ต้มน้ำดื่ม
  • ตำรับ 4 : นำใบเหงือกปลาหมอ 1 กำ รากและต้นไมยราบ 1 กำมือ ใบเตยหอม 1 กำมือ ต้มน้ำดื่ม

โรคเกี่ยวกับระดู

  • ตำรับ 1 : แก้ไข้ทับระดู นำกาบและใบมะพร้าว 1 กำมือ ต้มน้ำดื่ม
  • ตำรับ 2 : ช่วยขับระดู นำฮางฮ้อน ต้มน้ำดื่ม

โรคนิ่ว

  • ตำรับ 1 : โรคนิ่วในไต นำหัวหญ้าแห้วหมู หัวสับปะรด รากดอกเกษ(การะเกด) เหง้าต้นกล้วยตานี ต้มน้ำดื่มหรือ นำแก่นงิ้วผาแดงมาต้มน้ำดื่ม
  • ตำรับ 2 : นำรากมะนาว 1 กำ ต้มกับน้ำสารส้ม ต้มน้ำดื่ม
  • ตำรับ 3 : นำงวงตาล หญ้าแห้วหมู รากขัดมอญ ต้มน้ำดื่ม
  • ตำรับ 4 : สลายนิ่ว นำรากเอี่ยนด่อน(ปลาไหลเผือกใหญ่) ฝนน้ำดื่มจนหาย

ไข้มาลาเรีย

  • ตำรับ 1 : นำรากเอี่ยนด่อน(ปลาไหลเผือกน้อย) รากหยิกบ่อถอง(ปลาไหลเผือกใหญ่ ) ต้มน้ำดื่ม

โรคกระเพาะ

  • ตำรับ 1  : โรคกระเพาะที่ทำให้แน่นท้อง นำหัวหญ้าแห้วหมู รากหญ้าหวาย เครือพิผ่วน เครือเขาแกลบ ต้มน้ำดื่ม
  • ตำรับ 2 : นำแก่นตูมกา(แสลงใจ) แก่นตับเต่า(กระทุ่ม) ต้นคามป่า(ครามป่า) ต้มน้ำดื่ม
  • ตำรับ 3 : นำรากพังคี(เจตพังคี) รากพูมารี(กระอวม) รากส้มล้ม ต้มน้ำดื่ม
  • ตำรับ 4 : นำรากตำลึง บอระเพ็ด หัวขมิ้น อย่างละพอประมาณ ต้มน้ำดื่ม

โรคไต

  • ตำรับ 1 : นำแก่นกระเบา แก่นส้มพ่อหนาม(ส้มป่อย) แก่นเดือยหิน ต้มน้ำดื่ม

โรคริดสีดวง

  • ตำรับ 1 : โรคริดสีดวงลำไส้ใหญ่ นำต้น ราก ผล ใบ ของชุมเห็ดเทศในต้นเดียวกัน ต้มน้ำดื่ม
  • ตำรับ 2 : นำเหงือกปลาหมอ ชะเอมเทศ อย่างละเท่า ๆ กัน บดให้ละเอียด ผสมน้ำผึ้ง ปั้นเป็นลูกกลอนกิน เช้า 2 เม็ด เที่ยง 1 เม็ด เย็น 2 เม็ด
  • ตำรับ 3 : นำแก่นประดู่ แก่นแดง แก่นเชือก แก่นหวดข่า(มะหวด) เครือตาปลา(เถาวัลย์เปรียง) เครือจาน(เถาพันซ้าย) เครือประดง ใบหนาด ต้มน้ำดื่ม
  • ตำรับ 4 : โรคริดสีดวงที่เลือดออก นำเปลือกฮังหนาม(เต็งหนาม) เปลือกข่าลิ้น(คัดลิ้น,กัดลิ้น, ลำไยป่า) เปลือกอะเลา(ใบและต้นคล้ายต้นอะลาง)เปลือกหนามคอม(ตะครอง) เปลือกแคฝอย ใส่เกลือเล็กน้อย ต้มน้ำดื่ม
  • ตำรับ 5 : โรคริดสีดวงทวาร นำต้นพรายเสมา แก่นงิ้วแดง ต้มน้ำดื่ม
  • ตำรับ 6 : โรคริดสีดวงทวารเมื่อถ่ายเป็นเลือด นำรากสับประรด กระเทียม พริกไทยดำ ตำผสมกันแล้วห่อผ้าขาว ต้มน้ำดื่ม

โรคเรื้อนตามมือและเท้า

  • ตำรับ 1 : นำเปลือกถ่อนแช่ในน้ำซาวข้าวเปรี้ยว นำไปทาหรือแช่

โรคตับ

  • ตำรับ 1 : นำรากหนามโกทา(คนทา) รากหนามหัน รากส้มป่อย รากกระจาย(ต้นกำจาย) รากปอขี้ไก่(ปอขี้ตุ่น) ต้มน้ำดื่ม
  • ตำรับ 2 : โรคตับใหญ่ นำแก่นขนุน แก่นเข แก่นนมสาว รากสามสิบกลีบ ต้มน้ำดื่ม
  • ตำรับ 3 : มะเร็งตับ เมื่อเริ่มมีอาการ นำยาหัว รากพายสงขาว ต้มน้ำดื่ม

โรคลักปิดลักเปิด

  • ตำรับ 1 : นำเขาวัวหรือเขาควายมาเผาไฟให้ไหม้แล้วบดให้ละเอียด นำฝางเสน(ฝาง) ฝนกับน้ำผึ้งแท้ ทาบริเวณที่เป็น

โรคปากเด็กเป็นตุ่มใส

  • ตำรับ 1 : นำหอยขมสดมาฝนด้านก้นหอยจนน้ำเมือกหอยออก ผสมน้ำมะนาว ทาตุ่ม

โรคกลากเกลื้อน

  • ตำรับ 1 : นำใบพิกุลสดมาตำผสมกับกำมะถันให้ละเอียด ห่อด้วยผ้าขาว จุ่มเหล้าแล้วนำไปทาบริเวณที่เป็นเกลื้อน
  • ตำรับ 2 : นำใบขี้เหล็กใหญ่(ชุมเห็ดเทศ) ตำผสมเหล้าขาว ทาวันละ 2-3 ครั้ง

โรคดีซ่าน

  • ตำรับ 1 : นำแก่นสัก แก่นประดู่ แก่นฝางเสน ต้มน้ำดื่ม

โรคมะเร็งในกระดูก

  • ตำรับ 1 : นำกระดูกควายด่อน(ควายเผือก) กระดูกม้าขาว มาเผาไฟแล้วตำให้ละเอียด ห่อด้วยผ้าขาว แช่น้ำดื่มทุกวัน

วัณโรค หรือหลอดลมอักเสบ

  • ตำรับ 1 : นำใบหนุมานประสานกาย 7 ใบ ต้มจนเคี่ยวดื่ม หรือกินสดก็ได้

โรคผิวหนัง ผื่นคัน

  • ตำรับ 1 : นำกิ่ง-ใบ-ดอก ต้นมันปลา(กันเกรา) ต้มน้ำอาบ
  • ตำรับ 2 : นำใบพลูสด 1 กำมือ หมากสดทุบให้แตก 1 ลูก ยาฉุน 1 ก้อน เปลือกสีเสียด 1 กำมือ สารส้ม 1 ก้อน ต้มกับน้ำให้เดือด เอาสำลีชุบทาบริเวณที่คัน

โรคตับแข็ง

  • ตำรับ 1 : นำแก่นโกนา แก่นก้านเหลือง แก่นมะรุม แก่นแดง แก่นตับเต่า โกฐสอ โกฐหัวบัว เครือดอกอัญชัน ต้มน้ำดื่ม

โรคงูสวัด

  • ตำรับ 1 : นำเปลือกมังคุดแห้ง ฝนกับน้ำปูนใส ทาแก้บริเวณที่เป็นงูสวัด
  • ตำรับ 2 : นำเครือเขาคำมาทุบผสมน้ำเล็กน้อย ทาบริเวณที่เป็นงูสวัด

โรคหวัด หลอดลมอักเสบ

  • ตำรับ 1 : ให้ต้มน้ำครึ่งกาพอเดือด หยดน้ำมันดอกไม้ขาว (แปะฮวยอิ้ว) ไฮเป๊ก ลง 2-3 หยด แล้วเอากระดาษแข็งขาวทำเป็นกรวย ครอบปากกาให้ไอน้ำระเหยขึ้นมาบนยอดกรวยแล้วสูดดม ทำวันละ 2-3 ครั้ง อาการก็จะทุเลาหายไป

โรคหืด

  • ตำรับ 1 : นำใบหนุมานประสานกายสด ต้มน้ำดื่ม
  • ตำรับ 2 : นำหัวบัวบก ต้มน้ำดื่ม

โรคบิด

  • ตำรับ 1 : นำใบฟ้าทะลายโจรสดต้มต้มน้ำดื่ม หรือใบแห้งบดผสมน้ำผึ้งกินแก้อักเสบ

โรคหูด

  • ตำรับ 1 : นำยางพญาไร้ใบ (สามพันกิ่ง) ทาบริเวณที่เป็นหูด

แก้ปัสสาวะขัด

  • ตำรับ 1 : ต้มน้ำกระเจี๊ยบดื่ม
  • ตำรับ 2 : แก้ปัสสาวะไม่ออก นำใบส้มป่อย ใบมะขามเปรี้ยว อย่างละ 1 กำ ใบมะนาว 9 ใบ หอมแดง 3 หัว น้ำอ้อย 3 ก้อน ขี้ค้างคาวดิบ สารส้ม อย่างละเท่าหัวแม่มือ ต้มน้ำดื่ม
  • ตำรับ 3 : ปัสสาวะขัด นำต้นหางช้าง ต้มน้ำดื่ม

แก้ตกเลือด

  • ตำรับ 1 : นำรากหญ้าคา ใบไผ่แห้ง รากหญ้าขัดมอญตัวผู้และตัวเมีย ต้มน้ำดื่ม
  • ตำรับ 2 : นำรากตองหมอง ต้มน้ำดื่ม
  • ตำรับ 3 : นำหมากอะเลา(ผลอะเลา) เห็ดกระด้าง ต้มน้ำดื่ม

ยาอายุวัฒนะ

  • ตำรับ 1 : นำขมิ้นชัน บอระเพ็ด หัวหญ้าแห้วหมู ตากแห้งแล้วบดเป็นผง ผสมกับน้ำผึ้ง ปั้นเป็นลูกกลอนกิน
  • ตำรับ 2 : นำเปลือกถ่อน เปลือกโกนา หัวหญ้าแห้วหมู บอระเพ็ด เม็ดข่อย พริกไทยล่อน(พริกไทยขาว) ตากแห้งแล้วบดผสมน้ำผึ้ง ปั้นเป็นลูกกลอน ทานเช้า-เย็น

รักษาแผลไฟไหม้

  • ตำรับ 1 : นำน้ำมันมะพร้าว ผสมกับน้ำปูนใส ทาที่แผล

แก้ผีในท้อง

  • ตำรับ 1 : นำรากนางนวล ต้มน้ำดื่ม

แก้ปวดขา ปวดเข่า ปวดตามข้อ

  • ตำรับ 1 : แก้ปวดขา นำยาหัว (ข้าวเย็น) อ้อยดำ ตาไม้ไผ่ทุกชนิด ต้มน้ำดื่ม
  • ตำรับ 2 : แก้ปวดเข่า นำแก่นกระเดา(สะเดา) แก่นตูมกา แก่นแดง ฟ้าทะลายโจร บอระเพ็ด แฮ่ม ปริมาณเท่ากันต้มน้ำดื่ม
  • ตำรับ 3 : แก้ปวดตามข้อ เข่า เอว นำแก่นแดง ต้นเบนน้ำ เครือปอแสนพันธุ์ ต้มน้ำดื่ม

แก้ตะขาบกัด

  • ตำรับ 1 : นำยอดมะขามอ่อน หัวกระเทียม ตำผสมกัน ทาหรือปิดแผลที่โดนกัด

แก้ช้ำในจากอุบัติเหตุ หรือถูกกระทบรุนแรง

  • ตำรับ 1 : นำรากหญ้าเจ้าชู้ น้ำตาลทราย 2 ช้อน ต้มน้ำดื่ม
  • ตำรับ 2 : นำน้ำตาลทรายขาว 2 ช้อนโต๊ะ ผสมเหล้าขาวครึ่งแก้ว คนให้น้ำตาลละลาย แล้วดื่มให้หมด

เมื่อแม่ลูกอ่อนกินของแสลง (ผิดกะบูน)

  • ตำรับ 1 : ถากเอาแก่นบก(กระบก) แก่นพอก(มะพอก) ถากเอากลีบที่มันตกหงาย ต้มน้ำดื่ม

แก้ตกขาว

  • ตำรับ 1 : นำแก่นแดง แก่นฮังหนาม(เต็งหนาม) รากส้มลม รากพายสง ต้มน้ำดื่ม
  • ตำรับ 2 : นำแก่นพะยอม ต้มน้ำดื่ม

แก้สะอึกดิบ

  • ตำรับ 1 : นำเม็ดบักแต้(มะค่า) เม็ดบักขาม(มะขาม)  แก่นข้าวโพด ปริมาณเท่า ๆ กันมาเผาไฟให้ไหม้ แล้วเอาผ้าขาวห่อ แช่น้ำดื่ม

แก้งูพิษกัด

  • ตำรับ 1 : นำลูกขนุน หัวหญ้าปากควาย หัวปอเต่าไห้ มาฝนทา

แก้ฝี

  • ตำรับ 1 : นำรากมะเขือบ้า(ลำโพง) เปลือกงิ้วผา(งิ้วป่า) มาฝนทา
  • ตำรับ 2 : แก้ฝีที่ฝ่ามือ นำใบเสลดพังพอน 1 กำมือ ตำให้ละเอียด แล้วผสมกับเหล้าขาว นำไปพอกที่ฝีนั้น แก้ปวดและคันได้

ยารมฝีในนมหรือมะเร็งเต้านม

  • ตำรับ 1 : นำใบดอกช้องใหญ่ ใบดอกพุด ใบดอกอินทวา ปริมาณเท่ากำมือ ต้มน้ำดื่ม

แก้ปวดหัว

  • ตำรับ 1 : นำรากคอนแลน (คอแลน) รากดอกอินถวา (พุดซ้อน) รากดอกพุด ฝนทา
  • ตำรับ 2 : นำน้ำมะนาวมาผสมกับน้ำปูนกินหมาก ทาที่ขมับตรงที่ปวด
  • ตำรับ 3 : นำมุยแดง(มะคังแดง) ย่านางแดง ฝาง จันทร์แดง ตะไคร้ ต้มน้ำดื่ม

แก้ไข้ ตัวร้อน ร้อนใน

  • ตำรับ 1 : นำเปลือกและใบกระโดนโคก (จิก, กระโดน) ตำให้ละเอียดแล้วห่อด้วยผ้าขาว จุ่มน้ำพอเปียกแล้วเช็ดตัวให้ผู้ป่วย
  • ตำรับ 2 : เครือบอระเพ็ด ต้มน้ำดื่ม ลดการกระหายน้ำ เจริญอาหาร
  • ตำรับ 3 : แก้ไข้ตัวร้อนในเด็ก นำรากฮางฮ้อน แก่นว่านหมาว้อ แช่น้ำดื่ม

รักษาแผลถูกสุนัขกัด

  • ตำรับ 1 : นำใบกล้วยน้ำว้าแห้งเผาไฟผสมกับสารส้มป่นละเอียด ปิดปากแผล

แก้ปวดฟัน

  • ตำรับ 1 : นำเกลือทะเล สารส้ม การบูร มาบดละเอียดผสมกัน แปะบริเวณฟันที่ปวด

แก้เครื่องสืบพันธุ์ตาย

  • ตำรับ 1 : นำพริกไทยล่อน(พริกไทยขาว) ผิวมะกรูด หัวกระชาย อย่างละเท่า ๆ กัน งูเห่าย่างไฟให้สุก 1 ตัว ตัวยาทั้ง 4 ตากแดดให้แห้ง แล้วบดเป็นผงละลายกับน้ำตาลโตนด กินสองอาทิตย์ได้ผล

อาเจียนเป็นเลือด

  • ตำรับ 1 : นำใบหนุมานประสานกายต้มน้ำจนเคี่ยว ดื่ม

ต่อมทอนซิลอักเสบ

  • ตำรับ 1 : นำใบฟ้าทะลายโจร ต้มน้ำดื่ม

แก้เอ็นท้องแข็ง

  • ตำรับ 1 : นำแก่นต้นโกนา หรือโกส้มก็ได้ แก่นต้นก้านเหลือง แก่นตูมกา แก่นแดง ขมิ้นเครือ นำมาปริมาณเท่า ๆ กัน แช่น้ำดื่ม

แก้ลมพานใส่

  • ตำรับ 1 : นำรากแมงลัก รากส้มลม ตะไคร้ กะเพรา ไพล ต้มน้ำดื่ม

แก้ไอเรื้อรัง

  • ตำรับ 1 : นำแก่นเหมือดแอ่ (พลองเหมือด) ต้มน้ำดื่ม

ยาบำรุงกำลัง

  • ตำรับ 1 : บอระเพ็ดบด 1 กระป๋อง หัวหญ้าแก้วบด 1 กระป๋อง เกลือทะเลบด 1 กระป๋อง นมข้นหวาน 1 กระป๋อง ผสมกันปั้นเป็นลูกกลอน ทานครั้งละ 2 เม็ด เช้า-เย็น

เนื้องอกในมดลูก

  • ตำรับ 1 : หัวว่านหอม(เปราะหอม) รากดอกเกษ (การะเกด) ชุมเห็ดเทศ รากหนามแท่งเตี้ย แก่นตีนเป็ด (สัตตบรรณ) รากมะละกอตัวผู้ รากหญ้าแห้วหมู ต้มน้ำดื่ม

แฮ่ม

สรรพคุณ ใช้ในการรักษาโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ลดความอ้วน ละลายไขมันอุดตันในเส้นเลือด ขับสารพิษที่ตกค้างในร่างกาย โรคมะเร็ง โรคกระเพาะอาหาร ลำไส้เป็นแผล อัมพฤต อัมพาต ปวดหลังปวดเอว ช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพทางเพศ ระดูขาว สตรีอยู่ไฟไม่ได้

วิธีรับประทาน ใช้แฮ่ม 2-3 ชิ้น ต้มในน้ำ 1 ลิตร ต้มจนน้ำเดือด ดื่มวันละ 4 แก้ว หลังอาหารและก่อนนอน ผู้ที่มีปัญหาปวดขาปวดข้อใช้ดองเหล้าก็ได้ สำหรับชนิดผง ใช้แฮ่ม 1 ช้อนชา ชงกับน้ำร้อน 1 แก้ว ดื่มวันละ 4 แก้ว

หมายเหตุ : ตำรับยาทั้งหมดเป็นการรวบรวมไว้เพื่อเป็นหลักฐานแสดงถึงภูมิปัญญาในการรักษาโรคของคนในท้องถิ่น ยังไม่มีการตรวจสอบและรับรองคุณภาพแต่อย่างใด หากจะนำไปใช้จริงควรตรวจสอบจากผู้ที่มีความรู้เฉพาะทางก่อน

ที่ตั้ง : บ้านม่วง หมู่ 3 ตำบลสมสะอาด อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ : 14.8440110, 104.9951300

บรรณานุกรม :

จำนงค์ กันนิกา. (2560). สัมภาษณ์ 25 พฤษภาคม 2560

บันทึกตำรายาสมุนไพรของนายจำนง กันนิดา.

สุดารัตน์ หอมหวล. (2561). ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, เข้าถึงเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2561, http://www.phargarden.com

สุดารัตน์ หอมหวล. (2561). ฐานข้อมูลพรรณไม้อ้างอิง คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, เข้าถึงเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2561, http://www.thaiherbarium.com

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง