หัตถกรรมทอผ้าไหมพื้นบ้าน บ้านสมพรรัตน์

หัตถกรรมทอผ้าไหมพื้นบ้าน ภายใต้โครงการส่งเสริมศิลปาชีพอำเภอบุณฑริก เป็นแหล่งทอผ้าไหมคุณภาพดีที่ยังคงอนุรักษ์วิธีการและขั้นตอนการทำแบบพื้นบ้านอีสานที่สืบทอดกันมานานไว้เป็นอย่างดี ได้รับการรับรองคุณภาพด้วยรางวัลต่าง ๆ ทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศ นอกจากนั้นแล้วยังเป็นแหล่งเรียนรู้และถ่ายทอดภูมิปัญญางานหัตถกรรมการทอผ้าไหมพื้นบ้านอีกด้วย โครงการตั้งอยู่ที่บ้านสมพรรัตน์ ตำบลหนองสะโน อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี

หัตถกรรมการทอผ้าไหม-บ้านสมพรรัตน์-การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม-อำเภอบุณฑริก

ภูมิปัญญาการทอผ้าไหม บ้านสมพรรัตน์

บ้านสมพรรัตน์ เดิมชื่อว่าบ้านโคกเอ่น ชาวบ้านสมพรรัตน์ส่วนใหญ่จะย้ายถิ่นฐานมาจาก อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ เนื่องจากแหล่งที่อยู่เดิมนั้นน้ำท่วมขังทุกปี ทำเกษตรกรรมไม่ได้ผลเท่าที่ควร อาชีพของชาวบ้านคือการทำนา การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและการทอผ้า เมื่อได้ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ในแหล่งใหม่ที่อุดมสมบูรณ์กว่าก็ยังคงดำรงชีวิตและประกอบอาชีพดั้งเดิมอยู่

ภูมิปัญญาการทอผ้าไหมของชาวบ้านสมพรรัตน์นั้น ได้รับการสืบทอดจากบรรพบุรุษและอนุรักษ์ให้คงอยู่จวบจนจนปัจจุบัน ชาวบ้านมีการสั่งสมประสบการณ์และความรู้ความสามารถในทุกขั้นตอนการผลิตผ้าไหม จากการทอผ้าเพื่อใช้ในครัวเรือนชาวบ้านสมพรรัตน์ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนให้ทอผ้าไหมเพื่อสร้างรายได้มากขึ้นเมื่อปี 2537 ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเยี่ยมราษฎรใน อำเภอบุณฑริก กลุ่มชาวบ้านได้ทูลเกล้าฯ ถวายผลิตภัณฑ์ผ้าไหมและผลิตภัณฑ์จักสาน พระองค์จึงพระราชทานเงินเพื่อเป็นทุนแก่กลุ่มชาวบ้านดังกล่าว อีกทั้งยังพระราชทานพระราชดำริให้ราษฎรในพื้นที่ทำงานศิลปาชีพเพื่อเพิ่มพูนรายได้ เป็นอาชีพเสริมเพื่อให้มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงครอบครัว จึงเกิดเป็น “โครงการส่งเสริมศิลปาชีพอำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี” ขึ้น

งานหัตถกรรมการทอผ้าไหมของชาวบ้านสมพรรัตน์นั้น ชาวบ้านจะดำเนินการเองทุกขั้นตอนตั้งแต่ การปลูกหม่อน การเลี้ยงไหม การสาวไหม การฟอกสี การออกแบบลวดลาย การมัดหมี่ การย้อมสี และการทอผ้า ผลิตภัณฑ์ที่นิยมทำคือ ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าโสร่ง ผ้ากาบบัว ผ้าไหมพื้นเรียบ และผลิตภัณฑ์จากรังไหม

หัตถกรรมการทอผ้าไหม-บ้านสมพรรัตน์-การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม-อำเภอบุณฑริก

การปลูกหม่อน ชาวบ้านสมพรรัตน์ที่เป็นสมาชิกของโครงการส่งเสริมศิลปาชีพจะได้รับการจัดสรรที่ดินเพื่อปลูกหม่อน ที่ดินทั้งหมด 25 ไร่ จัดสรรให้สมาชิกจำนวน 32 ราย หม่อนที่ปลูกจะเป็นพันธุ์บุรีรัมย์ 60

การเลี้ยงไหม ชาวบ้านจะเลี้ยงไหมในโรงเรือนใต้ถุนบ้านของตนเอง โดยพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงคือ พันธุ์นางตุ่ย พันธุ์นางน้อย พันธุ์ไหมลูกผสมอุบลราชธานีหรือพันธุ์ดอกบัว พันธุ์ไหมที่เลี้ยงจะได้จากการต่อไหมเองและได้รับจากโครงการส่งเสริมศิลปาชีพ การเลี้ยงไหมยังให้เส้นไหมไม่เพียงพอสำหรับการผลิตชาวบ้านยังคงต้องใช้เส้นไหมจากโรงงานด้วย

หัตถกรรมการทอผ้าไหม-บ้านสมพรรัตน์-การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม-อำเภอบุณฑริก

การสาวไหม เส้นไหมที่ได้จะมี 3 ประเภท คือ ไหมเปลือก ไหมน้อย และไหมรวด ชาวบ้านจะเลือกใช้เส้นไหมแต่ละประเภทตามความต้องการ ถ้าต้องการเนื้อผ้าที่ละเอียด และมีความประณีตจะเลือกใช้ไหมน้อย โดยก่อนนำเส้นไหมไปใช้จะต้องทำการฟอกสีไหม เพื่อล้างกาวไหมออกก่อน การฟอกสีไหมจะทำให้เส้นไหมมีสีขาวขึ้น

หัตถกรรมการทอผ้าไหม-บ้านสมพรรัตน์-การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม-อำเภอบุณฑริกหัตถกรรมการทอผ้าไหม-บ้านสมพรรัตน์-การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม-อำเภอบุณฑริก

ลวดลายผ้าไหมที่ชาวบ้านทอนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากจินตนาการ การเลียนแบบธรรมชาติ ผสมผสานกับลวดลายพื้นฐานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นลายเส้นตรง ลายฟันปลา ลายขด หรือลายขนมเปียกปูน การออกแบบลวดลายเพื่อทำการมัดหมี่นั้นหากเป็นลายใหม่หรือลายประยุกต์จะออกแบบในกระดาษกราฟก่อน แต่หากเป็นลายดั้งเดิมและคุ้นเคยชาวบ้านจะอาศัยความชำนาญสามารถมัดหมี่ได้เลยโดยไม่ต้องร่างแบบ เช่น ลายหมากจับ หมี่คั่น หมี่ขอ ขนมเปียกปูน เป็นต้น

หัตถกรรมการทอผ้าไหม-บ้านสมพรรัตน์-การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม-อำเภอบุณฑริก

การย้อมสีเส้นไหม ชาวบ้านจะย้อมทั้งสีจากธรรมชาติและสีเคมี เพื่อให้ได้สีตามที่ต้องการ การย้อมด้วยสีจากธรรมชาติ เช่น ครั่ง เปลือกเพกา ขมิ้น คำแสด เปลือกมะพร้าว มะเกลือ งิ้วผา ผลคูณ จะให้สีอ่อนโทนธรรมชาติแต่มีความคงทน ส่วนการย้อมด้วยสีเคมีจะให้สีสดใส จัดจ้าน

หัตถกรรมการทอผ้าไหม-บ้านสมพรรัตน์-การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม-อำเภอบุณฑริก

การทอผ้า ส่วนใหญ่จะใช้หูก 2 ตะกอ ยกเว้นการทอผ้ากาบบัว ที่จะใช้หูก 4 ตะกอ ใช้ฟืมขนาด 40-50 ช่างทอผ้าแต่ละคนจะมีฝีมือแตกต่างกัน ทำให้ได้ผ้าที่มีสีสัน ความคมชัด ความละเอียดของลวดลายแตกต่างกันไปด้วย ผ้าไหมที่ทอได้แต่ละผืนจึงเป็นเอกลักษณ์ที่มีเพียงชิ้นเดียวเท่านั้น

หัตถกรรมการทอผ้าไหม-บ้านสมพรรัตน์-การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม-อำเภอบุณฑริก หัตถกรรมการทอผ้าไหม-บ้านสมพรรัตน์-การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม-อำเภอบุณฑริก หัตถกรรมการทอผ้าไหม-บ้านสมพรรัตน์-การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม-อำเภอบุณฑริก

จากวัฒนธรรมและภูมิปัญญาการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและการทอผ้าไหมที่สืบทอดกันมาช้านานรุ่นแล้วรุ่นเล่า มีวิถีชีวิตที่คลุกคลีอยู่กับสิ่งเหล่านี้มาตั้งแต่เกิดจนเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิต การถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ไม่ว่าจะเป็นแม่สู่ลูก หรือเพื่อนสู่เพื่อน และการส่งเสริมความรู้จาก โครงการและหน่วยงานทางวิชาการต่าง ๆ ทำให้ชาวบ้านสมพรรัตน์นั้นกลายเป็นกลุ่มเกษตรกรและช่างทอผ้าที่มีความชำนาญและฝีมือยอดเยี่ยมเป็นที่ยอมรับจากบุคคลและหน่วยงานต่าง ๆ มากมาย ดังจะเห็นได้จากรางวัลต่าง ๆ มากมายที่ช่วยยืนยันในคุณภาพและฝีมือทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ เช่น รางวัลชนะเลิศการประกวดสาวไหม ชนะเลิศการทอผ้าไหม ตรานกยูงพระราชทาน เป็นต้น

หัตถกรรมการทอผ้าไหม-บ้านสมพรรัตน์-การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม-อำเภอบุณฑริกหัตถกรรมการทอผ้าไหม-บ้านสมพรรัตน์-การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม-อำเภอบุณฑริก หัตถกรรมการทอผ้าไหม-บ้านสมพรรัตน์-การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม-อำเภอบุณฑริก

การเดินทางไปบ้านสมพรรัตน์นั้น ถ้าเริ่มจากอำเภอเดชอุดม จะใช้เส้นทางเดชอุดม – บุณฑริก ห่างจากอำเภอเดชอุดมประมาณ 28 กิโลเมตร ถึงบ้านจงเจริญ ให้เลี้ยวขวาไปตามเส้นทางถนนลาดยาง ถึงบ้านสมพรรัตน์ประมาณ 18 กิโลเมตร เส้นทางค่อนข้างขรุขระ

ที่ตั้ง โครงการส่งเสริมศิลปาชีพอำเภอบุณฑริก  

โครงการส่งเสริมศิลปาชีพอำเภอบุณฑริก บ้านหนองสะโน ตำบลหนองสะโน อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี เว็บไซต์ : http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/sompornrat

พิกัดภูมิศาสตร์ โครงการส่งเสริมศิลปาชีพอำเภอบุณฑริก

14.7286536, 105.2621574

บรรณานุกรม

ขจร นวศรี. (15 พฤษภาคม 2557). สัมภาษณ์

ถาวร พาผล. (14-15 พฤษภาคม 2557). สัมภาษณ์ 

นริศรา เรืองสูง. (6 เมษายน, 14-16 พฤษภาคม 2557). สัมภาษณ์

สนิท โคตรอนันต์. (14-16 พฤษภาคม 2557). สัมภาษณ์.

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง