ศูนย์การเรียนรู้วิสาหกิจชุมชนบ้านบัวเทิง การท่องเที่ยวเชิงเกษตรนิเวศ

ศูนย์การเรียนรู้วิสาหกิจชุมชนบ้านบัวเทิง เป็นแหล่งเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรผสมผสาน และการท่องเที่ยวเกษตรเชิงนิเวศที่ชุมชนบ้านบัวเทิง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี

buaterng4

ประวัติศาสตร์ชุมชนบ้านบัวเทิง

หมู่บ้านบัวเทิงตั้งขึ้นประมาณ พ.ศ. 2372 ปี คนกลุ่มแรกที่เข้ามาอยู่เป็นชาวลาวเวียง หรือลาวจากเวียงจันทร์ เนื่องจากขณะนั้นไทยยกทัพไปตีเวียงจันทร์ ทำให้คนลาวแตกทัพหนีเข้ามาในไทย แรกทีเดียวมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่โนนบ้านบัวท่า เพราะเห็นว่ามีป่าและน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ดี มีหนองน้ำขนาดใหญ่ชื่อหนองบัวหล่มใช้ทำมาหากิน ต่อมาหลังเกิดสงครามอินโดจีน ประมาณ ปี พ.ศ.2482-2483 จึงพากันย้ายถิ่นฐานออกจากโนนบ้านบัวท่า เนื่องจากในช่วงนั้นจะมีทหารมาเกณฑ์คนเข้าไปทำงานในเมืองอุบลราชธานี เพื่อซ่อมแซมตึกรามบ้านช่องที่เสียหายจากสงคราม คนลาวที่รวมกันมาอยู่ที่โนนบ้านบัวท่ากลัวถูกเกณฑ์ จึงแยกย้ายกันหลบหนี มารวมกลุ่มกันตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณหนองน้ำที่เรียกชื่อว่าหนองบัวหล่มเก่า ใช้หนองน้ำเป็นแหล่งทำมาหากิน ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ เป็นที่อยู่อาศัย ผู้นำชุมชนในขณะนั้นชื่อพ่อใหญ่หนูกะลอม จึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่าบ้านหนองบัวหล่ม แต่ที่ตั้งหมู่บ้านซึ่งอยู่ที่สูง จึงเปลี่ยนชื่อใหม่ให้สอดคล้องกับที่ตั้ง จึงเอาคำว่า “หนองบัว” มารวมกับค่าว่า “เทิง” ซึ่งแปลว่าที่สูง ตั้งชื่อว่า “บ้านบัวเทิง” และตั้งหมู่บ้านเป็นทางการเมื่อประมาณ พ.ศ.2483

ชุมชนบ้านบัวเทิง ศูนย์การเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงชุมชน

ชุมชนบ้านบัวเทิง เป็นหนึ่งในห้าของศูนย์การเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงชุมชนต้นแบบ ธกส. และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเกษตรเชิงนิเวศที่มีรูปแบบการจัดการท่องเที่ยวอย่างมีระบบ ให้นักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชมการทำเกษตรแบบผสมผสาน ศึกษาเรียนรู้เทคนิควิธีการทำการเกษตรกับศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร มีแหล่งการเรียนรู้ชุมชนที่สำคัญ คือ ดอนปู่ตา ซึ่งเป็นป่าชุมชนที่ชาวบ้านได้ช่วยกันปกป้องรักษาไว้อย่างสมบูรณ์ สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการพักค้างคืน สามารถเข้าพักที่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มโฮมสเตย์บ้านบัวเทิง นอกจากนี้ยังมีศูนย์เรียนรู้การรณรงค์เพื่อน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้ศึกษาอีกด้วย

เดิมชุมชนบ้านบัวเทิงนั้นชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาปลูกข้าวและปลูกพืชเชิงเดี่ยวหลังการทำนา เช่น ปอ ถั่ว แตงกวา มันสำปะหลัง จนกระทั่งปี 2530 มีเกษตรกรชาวจังหวัดนครปฐมได้เข้ามาเช่าที่ดินเพื่อปลูกกุหลาบและองุ่นที่บ้านบัวเทิง และได้จ้างคนในชุมชนเป็นคนงานช่วยดูแลสวน อีกทั้งยังถ่ายทอดวิธีการปลูก การดูแลรักษาไม้ดอกไม้ประดับให้กับคนในชุมชน จนทำให้ชุมชนแห่งนี้เป็นแหล่งปลูกกุหลาบแหล่งใหญ่ของจังหวัดอุบลราชธานี จนมีหน่วยงานภาครัฐจัดสรรงบประมาณสนับสนุนปัจจัยการผลิตจึงได้รวมกลุ่มเกษตรกรขึ้น เพื่อสร้างโอกาสและอำนาจในการต่อรองทางการตลาด งบประมาณที่ได้ก็นำมาสร้างอาคารโรงเรือนและจัดหาปัจจัยการผลิตมาให้สมาชิกในกลุ่มซึ่งมีประมาณ 20 คน เกษตรกรชุมชนบ้านบัวเทิงสามารถปลูกกุหลาบได้คุณภาพดีจนสามารถส่งอออกไปยังต่างประเทศได้ แต่ยังไม่สามารถผลิตได้ทันตามความต้องการ จึงสามารถส่งขายได้เพียงในตัวจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียง

หลังจากนั้นได้เปลี่ยนมาปลูกดอกเบญจมาศ เนื่องจากการปลูกกุหลาบนั้นทำให้สภาพดินเสื่อมโทรม ซึ่งเกิดจากการใช้สารเคมีอย่างหนักเพื่อกำจัดโรคและศัตรูพืช เมื่อปลูกกุหลาบได้ประมาณ 4 ปี ผลผลิตก็จะเริ่มลดลงการปลูกเบญจมาศจะใช้พื้นที่น้อยกว่าและปลูกได้นาน การปลูกเบญจมาศของชุมชนบัวเทิงนั้นได้ผลผลิตและราคาดี ราคาขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 70 บาท ปัจจุบันเหลือเกษตรกรเพียง 2-3 รายที่ยังคงปลูกอยู่ และทางหน่วยงานภาครัฐกำลังจะเปิดโครงการใหม่เพื่อจะทำให้บัวท่าเป็นแหล่งปลูกไม้ดอก (เบญจมาศ) ของจังหวัดอุบลราชธานี

buaterng3 buaterng10 buaterng8

ในราวปี พ.ศ.2543 ได้มีการปลูกไม้ผลยืนต้นบนเนื้อที่ราว 40 ไร่ ซึ่งก็คือ พุทราพันธุ์สามรส ซึ่งได้พันธุ์มาจากจังหวัดนครนายก โดยการแนะนำของนายวิโรจน์ สวนประเสริฐ การปลูกพุทราจะปลูกครั้งเดียว และให้ผลผลิตยาวนาน ซึ่งสร้างรายได้ดีกว่าการปลูกดอกเบญจมาศ พื้นที่ชุมชนบัวเทิงจึงกลายเป็นแหล่งปลูกพุทราของจังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบันกำลังพัฒนาเรื่องการแปรรูปพุทราให้เป็นแยม ซึ่งสามารถทำได้ทั้งผลสดและผลสุก เป็นการเพิ่มมูลค่าของผลผลิต โดยได้รับการถ่ายทอดความรู้จากนักวิจัยของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

นายประสิทธิ์ บุญแก้ว
นายประสิทธิ์ บุญแก้ว

เรียนรู้วิถีเกษตรจากเกษตรกรต้นแบบ

นายประสิทธิ์ บุญแก้ว เกษตรกรต้นแบบผู้ริเริ่มการทำเกษตรแบบผสมผสาน แรกเริ่มนั้นก็ทำการปลูกกุหลาบตัดดอกและปลูกเบญจมาศเช่นเดียวกับคนในชุมชนบัวเทิง แต่ด้วยความใฝ่รู้ ศึกษาความเป็นไปด้านการตลาดอยู่เสมอ จึงได้ปรับเปลี่ยนมาปลูกส้มเขียวหวานและสับร่องด้วยต้นกุหลาบ บนพื้นที่ 5 ไร่ โดยได้ไปเห็นตัวอย่างสวนส้มที่อำเภอตระการพืชผล ในระยะแรกนั้นได้รับการทักท้วงว่าไม่ควรปลูกส้มในบริเวณนี้เนื่องจากโรคของส้มเขียวหวานนั้นมีผลกับการปลูกมะนาว ซึ่งกำลังได้รับการส่งเสริม ถ้าจะปลูกส้มเขียวหวานจะต้องปลูกให้ห่างจากสวนมะนาวอย่างน้อย 3 กิโลเมตร แต่ด้วยความมุ่งมั่นและยืนยันอย่างหนักแน่นก็ได้ปลูกต้นส้มเขียวหวานทั้งหมด 300 ต้น และสับร่องด้วยต้นกุหลาบ 3000 ต้น ในระหว่างรอส้มเขียวหวานออกผลก็ตัดดอกกุหลาบขาย

ผ่านระยะเวลาไป 8 เดือน ปรากฏว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากเมื่อส้มเขียวหวานออกผลผลิตเป็นอย่างดีเนื่องจากได้รับน้ำอย่างเพียงพอจากการปลูกกุหลาบสับร่องทำให้ดินมีความชุ่มชื้น จากนั้นก็มีผู้คนและหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาเยี่ยมชมและศึกษาดูงานอยู่ไม่ขาด จนได้รับรางวัลชนะเลิศระดับจังหวัดในการประกวดสวนเศรษฐกิจพอเพียงในภาคประชาชน ในปี 2550 และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี

buaterng11 buaterng12 buaterng5

หลังจากทำสวนส้มเขียวหวานได้ 7-8 ปี ก็หยุด แต่ในระหว่างนั้นก็ได้ศึกษาเรียนรู้การปลูกพืช การตลาดสินค้าเกษตรจากที่ต่าง ๆ ไปด้วย

กระทั่งปี พ.ศ. 2556-57 ก็ได้ทดลองปลูกทุเรียนหมอนทอง จำนวน 2 ต้น เพื่อทดแทนส้มเขียวหวาน ผ่านไป 5-6 ปี ทุเรียนสามารถออกดอกและออกผลได้ ทดลองปลูกกล้วยพันธุ์มะลิออง พันธุ์พระราชทาน นำไปประกวดก็ได้รางวัลจากหลาย ๆ ที่ จึงเริ่มปลูกไม้ผลอื่น ๆ สลับกันไปในพื้นที่ 5 ไร่ ประกอบด้วย ทุเรียนประมาณ 80 ต้น ลองกอง 25 ต้น สะตอ 25 ต้น มังคุด 20 ต้น ลำไยพันธุ์อีดอ 8 ต้น มะนาว 80 ท่อ  มะขามเปรี้ยว 2 ต้น  หวาน ผักหวานป่า 100 ต้น มะยงชิด 25 ต้น ลิ้นไม้ 20 ต้น มะพร้าว ส้มโอ แก้วมังกร เป็นต้น นอกจากจะปลูกที่สวนของตนเองแล้วยังเกิดการขยายพื้นที่ออกไปยังสวนใกล้เคียง และขยายออกไปจนครอบคลุมเกือบทั้งชุมชน

buaterng7 buaterng13 buaterng6

องค์ความรู้ที่นายประสิทธิ์ บุญแก้ว ได้สะสมเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ทำให้ปัจจุบันนั้นนอกจากจะเป็นเกษตรกรแล้วยังเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเกษตรให้กับเกษตรกรและผู้ที่สนใจรายอื่น ๆ อีกด้วย โดยได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากหน่วยงานต่าง ๆ  ชุมชุนนี้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรม วิถีชีวิตชุมชน เกิดงานสร้างรายได้ และเป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตการเกษตร

ที่ตั้ง ศูนย์การเรียนรู้วิสาหกิจชุมชนบ้านบัวเทิง

บ้านบัวเทิง หมู่ 4 ตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี

เว็บไซต์ : http://banbuatueng.blogspot.com/

พิกัดภูมิศาสตร์ ศูนย์การเรียนรู้วิสาหกิจชุมชนบ้านบัวเทิง

15.230108, 104.963242

บรรณานุกรม

บ้านบัวเทิง, 11 กันยายน 2560. http://banbuatueng.blogspot.com/

ประสิทธิ์ บุญแก้ว. สัมภาษณ์ 19 พฤษภาคม 2560

มติชนออนไลน์. (2560). ชุมชนต้นแบบ : งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น โดย:สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน-กมลวรรณ พลับจีน, 11 กันยายน 2560. https://www.matichon.co.th/news/601303

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง