เขื่อนสิรินธร โรงไฟฟ้าพลังน้ำเพื่อชาวอีสาน

เขื่อนสิรินธร หรือเขื่อนโดมน้อย เขื่อนแกนดินถมด้วยหินที่เป็นแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าสำหรับจำหน่วยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเอื้อประโยชน์ด้านชลประทาน การป้องกันอุทกภัย การประมง การท่องเที่ยว และแหล่งอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ตั้งอยู่ในอำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี

เขื่อนสิรินธร-โรงไฟฟ้าพลังน้ำ

ประวัติการสร้างเขื่อนสิรินธร

เขื่อนสิรินธร ตั้งอยู่บริเวณแก่งหรือน้ำตกแซน้อยในลำโดมน้อย ซึ่งมีต้นกำเนิดจากภูเขาดงรักแล้วไหลลงสู่แม่น้ำมูลฝั่งขวาใกล้ปากมูลตก เขื่อนสิรินธร เริ่มก่อสร้างในเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ. 2511 และมีการวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญพระนามของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขนานนามเขื่อนว่า “สิรินธร” โดยตัวเขื่อนและระบบส่งไฟฟ้าระยะแรก สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2514

ในวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเขื่อนสิรินธร จากนั้นเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2515 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติได้ส่งมอบเขื่อนสิรินธรให้อยู่ในความรับผิดชอบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

โครงการเขื่อนสิรินธรนี้ การพลังงานแห่งชาติเป็นผู้ก่อสร้างเขื่อนและสายส่งไฟฟ้าแรงสูง และกรมชลประทานก่อสร้างเป็นระบบชลประทาน เขื่อนสิรินธรนี้มีเนื้อที่ประมาณ 225 ตารางกิโลเมตร ตัวเขื่อนเป็นแบบเขื่อนถมดินด้วยหิน มีแกนดินเหนียวอยู่ตรงกลาง ความสูงของเขื่อนจากพื้นเดิมของลำน้ำ 42 เมตร ยาว 940 เมตร สันเขื่อนกว้าง 7.5 เมตร ฐานเขื่อนกว้างที่สุดประมาณ 170 เมตร อ่างเก็บน้ำมีพื้นที่ประมาณ 288 ตารางกิโลเมตร กักเก็บน้ำได้ 1966.5 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่ระดับ 142.2 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง สามารถนำส่งน้ำไปช่วยในการชลประทานไร่นาเป็นเนื้อที่ประมาณ 150,000 ไร่ งบประมาณก่อสร้างเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 287 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณแผ่นดินประมาณ 151.5 ล้านบาท และเงินกู้จากต่างประเทศ 135.5 ล้านบาท

เขื่อนสิรินธร-โรงไฟฟ้าพลังน้ำ

ในระยะแรกของการสร้างนั้น ได้มีการอพยพราษฎรออกจากเขตน้ำท่วม ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ของอำเภอพิบูลมังสาหารและอำเภอบุณฑริก ทั้งหมด 4 ตำบล 36 หมู่บ้าน ประมาณ 7,000 คน และพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ไร่นาประมาณ 40,000 ไร่ มีวัด 9 แห่ง และโรงเรียน 9 แห่ง อยู่ในบริเวณอ่างเก็บน้ำ แนวคิดแรกของการอพยพราษฎรนั้นจะให้ราษฎรไปอาศัยอยู่ที่นิคมสร้างตนเองจังหวัดมุกดาหารหรือนิคมน้ำพอง แต่ราษฎรเห็นว่ามีความห่างไกลจากบ้านเกิดเมืองนอนเดิม จึงไม่เห็นด้วย การพลังงานแห่งชาติและทางราชการจังหวัดอุบลราชธานีจึงได้ร่วมมือกันขอเปิดป่าสงวนใกล้บริเวณอ่างเก็บน้ำจัดสรรเป็นที่ทำกินให้กับราษฎร

โรงไฟฟ้าเขื่อนสิรินธรได้ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 3 เครื่อง มีกำลังผลิตเครื่องละ 12,000 กิโลวัตต์ รวมกำลังผลิตติดตั้งทั้งสิ้น 36,000 กิโลวัตต์ สามารถจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้กับราษฎรในเขตจังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ และสุรินทร์ และสามารถส่งไปเชื่อมโยงกับระบบไฟฟ้าเขื่อนอุบลรัตน์และเขื่อนน้ำพุ่ง เพื่อจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้กับราษฎรตามจังหวัดต่าง ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และส่งกระแสไฟฟ้าไปจำหน่ายถึงเมืองโพนทอง เมืองเก่าคันเกิง เมืองปากเซ เมืองนครจำปาศักดิ์ ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวได้อีกด้วย

เขื่อนสิรินธรนอกจากจะมีประโยชน์ทางด้านการผลิตพลังงานไฟฟ้าแล้ว ยังอำนวยประโยชน์ต่อการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในภูมิภาคแถบนี้ทั้งทางด้านการชลประทาน การป้องกันอุทกภัย การประมง และการท่องเที่ยว นับเป็นการสงวนและใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ

เขื่อนสิรินธร-โรงไฟฟ้าพลังน้ำ

สวนสิรินธร ประติมากรรมช้างเล่นดนตรีไทย

สวนสิรินธร เป็นสวนเฉลิมพระเกียรติที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตจัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นการถวายความจงรักภักดีและถวายเป็นราชสักการะต่อองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวโรกาสคล้ายวันพระราชสมภพ ทรงมีพระชนมายุ 36 พรรษา เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2534 โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้เริ่มดำเนินการสำรวจพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อจัดทำเป็นสวนเฉลิมพระเกียรติในเดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ. 2533 โดยเลือกบริเวณฝั่งซ้ายของสันเขื่อนสิริธร ริมอ่างเก็บน้ำ ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 40 ไร่ จากนั้นดำเนินการออกแบบสวนโดยยึดหลักการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเดิมไว้ให้มากที่สุด ใช้วัสดุอุปกรณ์ที่กลมกลืนกับธรรมชาติ รวมทั้งใช้งบประมาณการก่อสร้างและการบำรุงรักษาให้ประหยัดที่สุดด้วย มีการสร้างน้ำพุประกอบประติมากรรมรูปช้าง 3 เชือกเล่นดนตรีไทย ได้แก่ ระนาด ซอ ขลุ่ย เพื่อเทิดทูนพระอัจฉริยาภาพด้านดนตรีของพระองค์ท่าน ภายในสวนเฉลิมพระเกียรตินี้มีความร่มรื่นด้วยพรรณไม้ยืนต้นนานาชนิด เหมาะกับการพักผ่อนหย่อนใจและทำกิจกรรมต่าง ๆ นอกจากนั้นแล้วยังเป็นแหล่งเรียนรู้และอนุรักษ์พันธุ์ไม้พื้นเมืองต่าง ๆ

เขื่อนสิรินธร-โรงไฟฟ้าพลังน้ำ เขื่อนสิรินธร-โรงไฟฟ้าพลังน้ำ

เรือนรับรองพิเศษ

เรือนรับรองพิเศษ เป็นเรือนประทับแรมของพระบรมวงศานุวงศ์ ในการเสด็จพระราชกรณียกิจในเขตพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีและพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งอนุญาตให้ชมได้เฉพาะด้านนอก พื้นที่บริเวณรอบนอกนั้นได้จัดเป็นสวนหย่อมไว้อย่างสวยงาม มีต้นไม้และดอกไม้นานาชนิด

เขื่อนสิรินธร-โรงไฟฟ้าพลังน้ำ

สนามกอล์ฟเขื่อนสิรินธร

สนามกอล์ฟเขื่อนสิรินธร เป็นสนามกอล์ฟที่แต่ละหลุมออกแบบให้ลัดเลาะไปตามอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิรินธร ตัวสนามมีความท้าทายด้วยสภาพภูมิทัศน์ที่มีทั้งน้ำ และทิวต้นไม้ มีทั้งหมด 9 หลุม พาร์ 36 ระยะ 3,402 หลา แต่ละหลุมก็จะมีชื่อเรียกต่าง ๆ กันไป ได้แก่ ลำดวนลืมดง หลงเสน่ห์พอก พิษดอกรักษ์ เค็งรัญจวน ไพรรำพึง บึงบ้านเหล่า อ่าวอารมณ์ ชมวารี และข้ามสีทันดร

นอกจากนั้น ภายในเขื่อนสิรินธร ยังมีบริการบ้านพักรับรองและร้านอาหารสำหรับบุคคลทั่วไป เริ่มจากเขื่อนสิรินธรนักท่องเที่ยวสามารถไปท่องเที่ยวต่อยังสถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียงอีกหลายแห่ง เช่น ด่านชายแดนช่องเม็ก วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว แก่งสะพือ แก่งตะนะ น้ำตกตาดโตน น้ำตกสร้อยสวรรค์ ผาแต้ม สามพันโบก เป็นต้น

ที่ตั้ง เขื่อนสิรินธร

เลขที่ 30 หมู่ที่ 11 ตำบลนิคมลำโดมน้อย อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ เขื่อนสิรินธร

15.204556, 105.421253

บรรณานุกรม

เติม วิภาคย์พจนกิจ. (2542). สิรินธร, เขื่อน ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 13. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.

ป๋าบัว. (2559). ตีกอล์ฟวิวพาโนรามาที่สนามกอล์ฟเขื่อนสิรินธร, 2 สิงหาคม 2560. http://inubon.com

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง