การแทงหยวกทำปราสาทผึ้ง บ้านโพนทราย

การแทงหยวกทำปราสาทผึ้งบ้านโพนทราย ตำบลบ้านไทย อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ศิลปะประเพณีที่สืบทอดกันมานานตามฮีตสิบสอง โดยจะแทงหยวกกล้วยให้มีลวดลายต่าง ๆ และประกอบติดกับโครงสร้างเป็นปราสาทและติดดอกผึ้ง แห่ไปถวายพระสงฆ์เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษและถวายเป็นพุทธบูชา ซึ่งจะทำกันในวันขึ้น 14 ค่ำเดือน 11 ปัจจุบันชาวบ้านโพนทรายยังคงอนุรักษ์ประเพณีนี้ไว้อย่างเหนียวแน่น

ความเป็นมาของการถวายปราสาทผึ้ง

เมื่อใกล้ถึงวันออกพรรษา ชาวบ้านโพนทรายจะมีประเพณีหรือกิจกรรมที่ทำสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน นั่นคือ การทำปราสาทผึ้ง หรือต้นดอกผึ้ง ถวายเป็นพุทธบูชา ซึ่งเป็นศิลปะประเพณีที่สืบทอดกันมานาน ตามฮีตสิบสองของคนอีสาน มีความเชื่อและตำนานเล่าสืบต่อกันมาในเรื่องลิงถวายรวมผึ้งเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จจำพรรษาในป่ารักขิตวัน ซึ่งเป็นดงไม้สาละใหญ่ มีช้างปาลิเลยยะ (ปาลิไลยก์) เป็นอุปัฏฐาก ได้จัดที่ประทับทั้งหาน้ำและผลไม้มาถวายตลอดระยะ 3 เดือน ลิงตัวหนึ่งจึงนำรวงผึ้งมาถวายพระพุทธเจ้าด้วย และเมื่อเห็นพระองค์ทรงเสวยน้ำผึ้ง ทำให้ลิงดีใจกระโดดโลดเต้นจนกิ่งไม้หัก ผลัดตกลงมาถูกตอไม้เสียบตาย ด้วยอานิสงส์ในการถวายรวมผึ้ง ลิงจึงได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรบนปราสาทวิมานสูง 30 โยชน์ ครั้งถึงวันปวารณาออกพรรษา (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11) พระพุทธองค์เสด็จออกจากป่าเข้าเมืองโกสัมพี ช้างปาลิไลยก์รู้สึกเศร้าโสกจนหัวใจแตกสลายล้มลงและด้วยอานิสงส์ของการอุปัฏฐากพุทธองค์จึงได้ไปเกิดบนประสาทสูง 30 โยชน์ ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เช่นกัน

ประเพณีการถวายปราสาทผึ้งหรือต้นดอกผึ้งของชาวบ้านโพนทราย จะทำกันในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 หรือก่อนวันออกพรรษา 1 วัน วัตถุประสงค์ในการทำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติพี่น้องผู้วายชนม์ไปแล้ว รวมทั้งสรรพสัตว์ทั้งหลาย

ปราสาทผึ้งของบ้านโพนทราย
ปราสาทผึ้งของบ้านโพนทราย

ในหมู่บ้านโพนทรายจะแบ่งการทำปราสาทผึ้งเป็นกลุ่มหรือเป็นคุ้ม บ้านหลังที่รับเป็นเจ้าภาพของคุ้มก็จะเป็นจุดรวมตัวที่สมาชิกในคุ้มจะไปรวมตัวกัน สมาชิกแต่ละครัวเรือนก็จะนำวัสดุสิ่งของต่าง ๆ เช่น ขี้ผึ้ง ฝ้าย ผ้าไหม ข้าวปลาอาหาร รวมทั้งเงินไปร่วมกันหรือไปเพาะตามศรัทธาเพื่อทำปราสาทผึ้งของคุ้มตนเองให้เสร็จสมบูรณ์และสวยงามที่สุด ทุกคนที่มาช่วยงานก็จะได้เรียนรู้ ฝึกฝนเทคนิควิธีการ ขั้นตอนต่าง ๆ ในการปราสาทผึ้ง ซึ่งจะมีโอกาสปีละครั้ง ผู้ชายส่วนใหญ่จะทำหน้าที่ฉลุลาย และติดส่วนประกอบต่าง ๆ บนโครงสร้าง ส่วนผู้หญิงจะทำหน้าที่ทำดอกผึ้งและเครื่องประดับต่าง ๆ ให้กับปราสาทผึ้งนอกจากเป็นการสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามแล้ว ยังช่วยส่งเสริมความสามัคคีในชุมชนอีกด้วย สมัยก่อนช่วงเวลาการทำปราสาทผึ้ง ก็จะเป็นโอกาสที่หนุ่มสาวจะแต่งตัวสวยงามได้มีโอกาสได้พบปะพูดคุยกัน หนุ่ม ๆ จะเล่นดนตรีพื้นบ้านอีสาน เช่น แคน พิณ จีบสาว เป็นที่สนุกสนาน

ชาวบ้านโพนทรายมีความตระหนักและเห็นความสำคัญ เกรงว่าจะมีศิลปวัฒนธรรมนี้จะสูญหายไปจึงได้จัดให้มีประเพณีการแห่ปราสาทผึ้งนี้เป็นงานประจำปีของหมู่บ้าน ในหมู่บ้านมีทั้งหมด 16 คุ้ม ทุกคุ้มจะต้องร่วมกันสร้างปราสาทผึ้งเพื่อนำไปร่วมแห่และประกววดแข่งขันกันที่วัดประจำหมู่บ้าน ซึ่งจัดให้มีกิจกรรมนี้ในปี พ.ศ. 2546 เป็นต้นมา จนทำให้ในปี 2558 กลุ่มช่างปราสาทผึ้ง บ้านโพนทราย ได้รับเกียรติบัตร จากกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อแสดงว่าได้อนุรักษ์ฟื้นฟูและสืบสานมรดกทางภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมปราสาทผึ้ง และได้รับรางวัล “นาคราช” เชิดชูเกียรติเป็นศิลปินพื้นบ้านอีสาน สาขา ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน จากสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ได้รับรางวัลนาคราช จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ได้รับรางวัลนาคราช จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ทำปราสาทผึ้งของบ้านโพนทราย

1.กาบกล้วย สมัยก่อนใช้กาบของกล้วยน้ำว้า กล้วยส้ม (กาบสีส้มแดง ผลมีรสเปรี้ยว) ต่อมาเปลี่ยนมาใช้กาบของต้นกล้วยตานี ซึ่งมีขนาดใหญ่และกาบสีขาวสวย มีความเงาเมื่อโดนแสงไฟ เลือกต้นที่ยังไม่แก่ หรือยังไม่ออกปลีออกผล ซึ่งกาบจะมีความเหนียวนุ่ม ลำต้นที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 20-30 เซนติเมตรขึ้นไป กาบกล้วยในช่วงออกพรรษานี้จะมีขนาดใหญ่และความอวบอิ่มเนื่องจากได้รับน้ำอย่างเพียงพอ ปราสาทผึ้ง 1 หลังจะใช้ต้นกล้วยประมาณ 1-2 ต้น

prasartpueng_making (39)

2.ไม้สำหรับทำโครงสร้าง เมื่อก่อนการทำโครงสร้างทำหรือหัวเข่าพรหมจากไม้ไผ่ โครงสร้างที่ได้จะไม่ค่อยแข็งแรงและสมส่วนนัก เนื่องจากติดข้อปล้อง ไม้มีความโค้งงอ ต่อมาจึงเปลี่ยนมาใช้เหล็ก ทำเป็นโครงสร้างสำเร็จรูปไว้เลย มีความแข็งแรงถาวรมากขึ้น แต่มีน้ำหนักมาก ปัจจุบันเปลี่ยนมาทำโครงสร้างด้วยไม้ ซึ่งมีความแข็งแรงคงทนและมีน้ำหนักเบาลง สามารถใช้งานได้หลายครั้ง

prasartpueng_making (34)

โครงสร้างปราสาทผึ้งของบ้านโพนทราย ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีขนาดความกว้าง 80 เซนติเมตร ขนาดความสูงจากพื้นถึงยอดประมาณ 2-2.5 เมตร มี 3 ชั้นหรือ 3 ปรางค์ ชั้นล่างสุดเรียกว่า ปรางค์ 1 ชั้นที่ 2 เรียกว่า ปรางค์ 2 และชั้นที่ 3 เรียกว่า ปรางค์ 3 ขนาดลดหลั่นขึ้นไปจนถึงยอด แต่ละชั้นจะมีลวดหรือไม้ลักษณะคล้ายหนามติดตามโครงสร้าง ฐานล่างจะมีคานหาม ทำด้วยลำไม้ไผ่ขนาดพอเหมาะที่จะรับน้ำหนักของตัวปราสาทได้ สำหรับให้คนหาม 4 คน หนามนี้จะเพิ่มความสะดวกในการติดกาบกล้วยเข้ากับโครงสร้าง เมื่อก่อนจะใช้ตอกมัด

prasartpueng_making (36) prasartpueng_making (35)

3.มีดปลายแหลม สำหรับแทง ฉลุ ตัดกาบกล้วยให้เป็นลวดลายต่าง ๆ ซึ่งชาวบ้านจะดัดแปลงมาจากใบเลื่อยตัดเเลห็ก นำมาเจียรให้ได้ขนาดเท่าเม็ดแตงกวา ลับให้คม ซึ่งมีดที่ได้จะมีขนาดเหมาะมือ มีความอ่อนตัวกว่ามีดที่ตีจากเหล็กหรือชุบเหล็ก ทำให้สามารถฉลุลายเล็ก ๆ ที่มีความโค้งงอได้ดี ถ้ามีดมีความแข็งมากจะหักง่าย มีดจะต้องมีความคมอยู่เสมอ จึงต้องมีการลับด้วยหินลับอยู่บ่อย ๆ หรือลับง่าย ๆ กับสันมีดที่ตีจากเหล็ก

prasartpueng_making (33)

4.ขี้ผึ้งสำหรับทำดอกผึ้ง ซึ่งใช้ได้ทั้งขี้ผึ้งแท้และขี้ผึ้งเทียม ดอกผึ้งจะเป็นตัวแทนของน้ำผึ้งที่ลิงนำไปถวายแก่พระพุทธเจ้าเมื่อครั้งไปจำพรรษาที่ป่ารักขิตวัน ตามตำนานที่เล่ากันมา

5.แม่พิมพ์สำหรับทำดอกผึ้ง นิยมใช้ผลโพธิ์ทะเล หรือหมากโพ หรือลูกสิมพี แครอท มะละกอ เป็นต้น หรือไม้แกะสลักเป็นรูปดอกไม้

แบบพิมพ์ดอกผึ้งและผลต้นโพธิ์ทะเล
แบบพิมพ์ดอกผึ้งและผลต้นโพธิ์ทะเล

6. ดอกไม้มงคลชนิดต่าง ๆ เช่น ดาวเรือง บานไม่รู้โรย

prasartpueng_making (6)

7.ใบลานสำหรับสานปลา ดาว หรือ นก สำหรับตกแต่งปราสาทผึ้ง

8.ใบตอง สำหรับตกแต่งชายปราสาทผึ้งให้มีความพลิ้วไหว หรือรองพื้นก่อนติดลายเพื่อเพิ่มสีสันให้เห็นลายกาบกล้วยได้ชัดเจนขึ้น

9.ไม้ไผ่เหลาปลายแหลมสำหรับร้อยหรือเย็บกาบกล้วยเข้าไว้ด้วยกัน

10.ตอกหรือลวดสำหรับมัด

11.เครื่องดื่มชูกำลัง จะช่วยรักษาความสดให้กับกาบกล้วย

ขั้นตอนการทำปราสาทผึ้งของบ้านโพนทราย

1.ตัดต้นกล้วยที่มีขนาดใหญ่ จากนั้นตัดต้นกล้วยเป็นท่อน ๆ ตามความยาวของโครงสร้างที่ต้องการนำกาบกล้วยไปติด เช่น ฐานที่ 1 มีความยาว 80 เซนติเมตร

prasartpueng_making (4)

2.แกะกาบกล้วยออกจากลำต้น โดยเลือกกาบที่มีลักษณะไม่แตกหัก มีสีขาว หรือเขียว ตามแบบที่ต้องการ

3. การแทงหยวก หรือฉลุลวดลายลงบนกาบกล้วย ซึ่งลวดลายที่บ้านโพนทรายฉลุนั้นจะมีรูปแบบที่ค่อนข้างตายตัวว่าส่วนไหนของปราสาทผึ้งต้องติดด้วยลวดลายอะไร ลวดลายที่ฉลุจะมีประมาณ 10 ลาย ได้แก่ ลายเขี้ยวหมา (แข่วหมา) ลายตีนเต่า ลายฟันสาม ลายนกน้อยหรือวันแล่น ลายโหง่ว ลายนาค ลายดอก ลายกาบเนืองหรือลายเข่าพรหม ลายใหญ่ปราง 2 ลายใหญ่ปราง 1 หรือลายเครือดอกผักแว่น และลายกระดูงู (ตัดเป็นเส้นตรง) การฉลุลายต่าง ๆ จะฉลุกาบกล้วยตามจำนวนที่ต้องการใช้งานในแต่ละส่วน

prasartpueng_making (40)1DSC_0001prasartpueng_making (41) prasartpueng_making (47)prasartpueng_making (48) prasartpueng_making (9) prasartpueng_making (42) prasartpueng_making (49)prasartpueng_making (43)prasartpueng (5)

เกร็ดความรู้ : โหง่ว จะพ้องเสียงกับคำว่า โง่ จะเป็นรูปร่างสมบูรณ์ก็ไม่ใช่ จะงอนจะงามเป็นลายก็ไม่ใช่ ดูไม่สมบูรณ์ เขาจะนิยมติดไว้ส่วนบนของเครื่องเรือนหรือหลังคาโบสถ์/ศาลา เป็นกุศโลบายว่า อย่าโง่อย่าชั่วเหมือนโหง่ว

ก่อนนำไปติดที่โครงสร้างจะมีการร้อยหรือเย็บกาบกล้วยลวดลายต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกันด้วยไม้ไผ่ ตามที่ออกแบบไว้ เช่น ปรางค์หนึ่งจะประกอบด้วยลายฟันสาม ลายเขี้ยวหมา ลายกระดูกงู ลายใหญ่ ลายกระดูกงู ลายเขี้ยวหมา และลายตีนเต่า เรียงซ้อนกันเป็นชั้นตามลำดับ

prasartpueng_making (1) prasartpueng (10)prasartpueng_making (46)

ลักษณะการแทงหยวกหรือการฉลุลายนั้น ช่างจะได้รับการฝึกฝนและถ่ายทอดเทคนิควิธีการสืบต่อกันมาจนมีความชำนาญสามารถแทงหรือฉลุลวดลายได้โดยไม่ต้องร่างแบบก่อน ลวดลายที่ต่อเนื่องสามารถแทงหรือฉลุเสร็จโดยไม่ต้องยกมือ

prasartpueng_making (45)

เมื่อได้ลวดลายตามที่ต้องการแล้ว จะแกะออกจากกาบกล้วย ลายที่เป็นรูปลอยตัว เช่น ลายเขี้ยวหมา ตีนเต่า นก โหง่ว นาค กาบเนือง จะแกะออกจากกาบกล้วยได้เลย ส่วนลายที่ติดกับฐานเช่น ลายใหญ่จะนิยมแกะออกจากกาบกล้วยเมื่อติดบนฐานหรือปรางค์แล้ว

4. นำกาบกล้วยที่ฉลุและแกะลายแล้วติดตามส่วนต่าง ๆ ของโครงสร้าง ได้แก่

ชั้นที่ 1 หรือปรางค์ 1 จะมีทั้งหมด 4 ด้าน มีความกว้างด้านละ 80 เซนติเมตร จะติดลายใหญ่ ปรางค์ 1 ซึ่งจะนิยมนำใบตองมารองพื้นก่อนติดลาย ซึ่งเมื่อแกะลายแล้วจะเห็นลวดลายได้ชัดเจน พื้นสีเขียวตัดด้วยลวดลายสีขาวมีความสวยงามยิ่งขึ้น ขอบบนติดลายเขี้ยวหมาและตีนเต่า  ขอบด้านล่างติดลายเขี้ยวหมาและลายฟัน  มุมทั้ง 4 มุม จะติดลายกาบเนือง

prasartpueng_making (16) prasartpueng_making (23) prasartpueng_making (22)

ชั้นที่ 2 หรือปรางค์ 2 จะมีขนาดเล็กกว่าชั้นที่ 1 มีความกว้างด้านละ 30 เซนติเมตร จะรองพื้นด้วยใบตองแล้วติดลายใหญ่ปรางค์ 2 ขอบบนติดลายเขี้ยวหมาและตีนเต่า  ขอบด้านล่างติดลายเขี้ยวหมาและลายฟัน  และติดมุมด้วยลายกาบเนือง คล้ายกับชั้นที่ 1

prasartpueng_making (8)pasartpueng_making (50)prasartpueng_making (20)

ระหว่างชั้นที่ 2 และ 3 ซึ่งมีระยะห่างพอสมควร จะเรียกว่า เอวขันธ์ ติดลวดลายกระดูกงูเป็นตารางขนมเปียกปูน มุมทั้งสี่ด้าน ติดลายนกน้อย ลายเขี้ยวหมา

prasartpueng_making (50)

ชั้นที่ 3 หรือ ปรางค์ 3  ฐานมีขนาดความกว้างด้านละ 15 เซนติมเตร จะรองพื้นด้วยใบตองแล้วติดลายดอก ขอบบนติดลายเขี้ยวหมาและตีนเต่า  ขอบด้านล่างติดลายเขี้ยวหมาและลายฟัน  มุมทั้งสี่ด้านติดลายโหง่วหรือพญานาค

ส่วนยอด ติดลวดลายกระดูกงูเป็นตารางขนมเปียกปูน มุมทั้งสี่ด้านติดลายนกน้อย ลายเขี้ยวหมา ฐานรองยอดจะติดลายฟันสาม ให้มีลักษณะเป็นพานเพื่อรองรับเทียนที่อยู่บนยอด

prasartpueng_making (2)prasartpueng (4)prasartpueng (15)

ใต้ฐานที่ 1 และ 2 จะติดด้วยใบตองที่ทำเป็นริ้ว ๆ เพื่อเพิ่มความสวยงามและมีชีวิตชีวาจากการพลิ้วไหวของใบตอง

prasartpueng_making (44)

ลวดลายต่าง ๆ ที่ประกอบเป็นปราสาทผึ้งนั้น มีคติความเชื่อ มีความหมายตามคำกล่าวของชาวบ้านที่ว่าสืบต่อกันมาว่า “พระพรหมถวายเข่า เต่าถวายตีน หมาถวายเขี้ยว” ซึ่งหมายความถึง ตั้งแต่เทวดา นางฟ้า สัตว์เดรัจฉาน ยักษ์ ต่างก็ร่วมอานิสงค์ในการทำบุญครั้งนี้

ชาวบ้านจะมีเทคนิคการในการยืดอายุกาบกล้วย โดยการนำเครื่องดื่มบำรุงกำลังมาผสมกับน้ำ อัตราส่วน 1: 20 แล้วฉีดพ่นไปที่กาบกล้วยอยู่เรื่อย ๆ จะช่วยให้เหี่ยวช้าลง ยืดเวลาให้ปราสาทผึ้งอยู่ได้นานถึง 10 วันในสภาพห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ แต่ถ้าอยู่ข้างนอกจะอยู่ได้ประมาณ 3-4 วัน prasartpueng_making (17)prasartpueng (11) prasartpueng (12)

5. การประดับตกแต่งปราสาทผึ้ง วัสดุสิ่งของที่นำมาประดับตกแต่งปราสาทผึ้งนั้นความสวยงามขึ้นกับการออกแบบของแต่ละคน ส่วนใหญ่จะตกแต่งด้วย ดอกผึ้ง ดอกไม้ ข้าวของเครื่องใช้ เครื่องอัฐบริขารต่าง ๆ เป็นต้น

prasartpueng_making (7)

ดอกผึ้ง โดยจะนำขี้ผึ้งมาอุ่นให้หลอมละลาย จากนั้นนำแม่พิมพ์รูปร่างคล้ายดอกไม้ เช่น ผลโพธิ์ทะเล แครอทแกะสลัก ก้นมะละกอมาจุ่มขี้ผึ้ง แล้วนำไปจุ่มน้ำเย็น ดอกผึ้งก็จะหลุดออกจากพิมพ์ ได้ดอกผึ้งตามที่ต้องการ ดอกผึ้งจะมีหลายขนาด จะมีการออกแบบโดยการนำมาวางซ้อนกันให้เป็นชั้น ๆ แล้วติดดอกไม้สดมาทำเป็นเกสรดอกผึ้ง เช่น ดอกบานไม่รู้โรย ดอกดาวเรือง จากนั้นนำไปติดประดับตามส่วนต่าง ๆ ของปราสาทผึ้ง

prasartpueng_making (24) prasartpueng_making (29) prasartpueng_making (25)

นก ปลา ดาว ที่สานด้วยใบลาน นำไปร้อยติดกับปราสาทผึ้ง เป็นตัวแทนของสรรพสัตว์ทั้งหลายที่มาร่วมอนุโมทนาบุญในครั้งนี้

prasartpueng_making (38)

พวงดอกไม้ เช่น บานไม่รู้โรย ดาวเรือง ร้อยเป็นเส้นยาว ๆ ซึ่งหมายถึงมีความสิริมงคล เจริญรุ่งเรืองตามชื่อของดอกไม้

prasartpueng_making (5) prasartpueng_making (30)

นอกจากนั้นยังมีการประดับด้วย เครื่องอัฐบริขาร ผ้าบังสกุล สมุด หนังสือ เครื่องเขียน เทียนไข ไม้ขีดไฟ เส้นไหม เส้นฝ้าย กล้วย อ้อย ข้าวต้ม หมาก พลู ยาเส้น หรือสิ่งต่าง ๆ ที่ต้องการอุทิศให้แก่ผู้วายชนม์ เพื่อให้มีความสุข ความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป และพระสงฆ์ยังได้ใช้ประโยชน์ด้วย

prasartpueng_making (27) prasartpueng_making (26) prasartpueng_making (37)

การทำปราสาทผึ้งจะเริ่มลงมือทำในตอนเช้า และดำเนินการให้แล้วในเย็นวันนั้น จากนั้นจะนำไปแห่รอบวัดและนำเครื่องอัตถบริขาร ผ้าบังสกุล สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่ประดับไว้บนปราสาทผึ้งไปถวายให้กับพระสงฆ์เพื่อทำพิธีอุทิศส่วนกุศลต่อไป

prasartpueng (7)

แนวทางการอนุรักษ์ประเพณีการแห่งปราสาทผึ้งของบ้านโพนทรายที่ได้กำหนดให้เป็นงานประเพณีประจำปีของหมู่บ้านแล้ว ผู้นำชาวบ้านยังได้ส่งเสริมและสืบสานโดยจัดทำเป็นหลักสูตรท้องถิ่น สอนขั้นตอนวิธีการทำปราสาทผึ้ง การแทงหยวกฉลุลายให้กับนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาของโรงเรียนบ้านไทยวิทยาคม ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2556 รวมทั้งสอนให้กับหมู่บ้านหรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่สนใจ โดยมุ่งหวังว่าศิลปะประเพณีจะยังคงอยู่สืบไปนานเท่านาน

ผู้ที่สนใจอยากไปศึกษาเรียนรู้ขั้นตอนวิธีการทำปราสาทผึ้ง สามารถเดินทางเข้าไปยังหมู่บ้านโพนทรายได้ในช่วงก่อนวันออกพรรษาหรือวันขึ้น 14 ค่ำเดือน 11  นอกจากปราสาทผึ้งแล้ว บ้านโพนทรายยังมีศิลปวัฒนธรรม ที่แสดงถึงภูมิปัญญาอันดีงามอื่น ๆ อีกมากมาย เป็นที่เรื่องน่าสนใจและน่าเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง เช่น ธุงพื้นบ้าน ผ้าผะเหวด การทำผ้าขิด หนังสือใบลาน ซึ่งชาวบ้านโพนทรายยังคงอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี

บุคคลภูมิปัญญา ช่างแทงหยวกบ้านโพนทราย

prasartpueng_making (10)prasartpueng_making (11) prasartpueng_making (13) prasartpueng_making (14) prasartpueng_making (15) prasartpueng_making (12)

ที่ตั้ง บ้านโพนทราย

บ้านโพนทราย ตำบลบ้านไทย อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ บ้านโพนทราย

15.454373, 104.446135000

บรรณานุกรม

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. (2558). มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมชาติ ประจำปีพุทธศักราช 2558. กรุงเทพฯ : สำนักงานกิจการโรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์.

บุญธรรม กากแก้ว. สัมภาษณ์, 22 ธันวาคม 2559

ลู่ นิลจิตต์. สัมภาษณ์, 22 ธันวาคม 2559

วิเชียร ปลื้มชนะ, 22 ธันวาคม 2559

วีระชัย กากแก้ว, 22 ธันวาคม 2559

สัมพันธ์ กากเพชร. สัมภาษณ์, 22 ธันวาคม 2559

สุนทร สุทธิเมฆ. สัมภาษณ์, 22 ธันวาคม 2559

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง