โครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านยางน้อย จังหวัดอุบลราชธานี

โครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านยางน้อย ตำบลก่อเอ้ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ภายในมีศูนย์แสดงนิทรรศการผ้าพื้นเมืองอีสานที่ให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมา และขั้นตอนการทอผ้าตามแบบภูมิปัญญาพื้นบ้าน และศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์จากชุมชนและจากสมาชิกศูนย์ศิลปาชีพจากทั่วประเทศ เช่น ผ้ากาบบัว เครื่องปั้นดินเผา เครื่องทองเหลือง และข้าวเบญจกระยาทิพย์ เป็นโครงการที่เกิดขึ้นเพื่อสนองพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ในการส่งเสริมศิลปาชีพให้กับราษฎรในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีและใกล้เคียง เป็นแหล่งศึกษาพันธุ์ไม้ ตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

ตลาดชุมชนศิลปาชีพ แหล่งจำหน่ายสินค้าของโครงการฯ
ตลาดชุมชนศิลปาชีพ บ้านยางน้อย อุบลราชธานี แหล่งจำหน่ายสินค้าของโครงการฯ

ความเป็นมาของโครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านยางน้อย

เมื่อปี พ.ศ. 2538 พระเทพประสิทธิมนต์ เจ้าอาวาสวัดธัมมาราม นครชิคาโก สหรัฐอเมริกา ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิราชาวาส กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีชาติภูมิอยู่ที่บ้านยางน้อย ได้มีแนวดำริที่จะทำการพัฒนาบ้านยางน้อยและหมู่บ้านใกล้เคียงให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เนื่องจากประชาชนในพื้นที่มีอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก มีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ไม่มีอาชีพและรายได้เสริมใด ๆ อาชีพหลักคือการทำนา เมื่อเสร็จจากการทำนาหรือเก็บเกี่ยวข้าวข้าวแล้วราษฎรวัยหนุ่มสาวจะทิ้งถิ่นฐานไปขายแรงงานตามเมืองใหญ่ ๆ หรือในเมืองหลวง จะเหลือเพียงเด็กและคนชราเท่านั้นที่อยู่ตามหมู่บ้าน เพื่อป้องกันการอพยพทิ้งถิ่นฐานเข้าสู่สังคมเมือง และเป็นการสร้างสถาบันครอบครัวชนบทให้มีความอบอุ่นสมบูรณ์อย่างที่เป็นมาในอดีต พระเทพประสิทธิมนต์ จึงพิจารณาหาแนวทางการพัฒนาอาชีพให้กับราษฎร โดยประสานงานกับส่วนราชการต่าง ๆ และกองทัพภาคที่ 2 โดย พล.ต.เรวัติ บุญทับ (พล.อ.ณพล บุญทับ) รองแม่ทับภาคที่ 2 เข้ามาร่วมในการพัฒนาท้องถิ่น โดยการจัดเตรียมงานเพื่อดำเนินการจัดตั้งโครงการส่งเสริมศิลปาชีพขึ้นที่ บ้านยางน้อย ซึ่งใช้เวลาจัดเตรียมงานประมาณ 1 ปี

วันที่ 22 พฤศจิกายน 2539 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้มีพระราชเสาวนีย์ ให้พิจารณาจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพเพื่อช่วยเหลือราษฎร ทั้งด้านการเกษตรและพัฒนาอาชีพ และทรงเสด็จพระราชดำเนินที่บ้านยางน้อย และบริเวณที่ดินสาธารณะบ้านยางน้อย ทรงรับราษฎรเข้าเป็นสมาชิกในโครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านยางน้อย ในกลุ่มทอผ้าไหม และกลุ่มดอกไม้ประดิษฐ์

วันที่ 23 พฤศจิกายน 2544 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินโครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านยางน้อย เป็นการเสด็จพระราชดำเนินที่แห่งนี้ครั้งที่ 2

วันที่ 27 ธันวาคม 2548 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนิน โครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านยางน้อย เป็นการเสด็จพระราชดำเนินที่แห่งนี้ครั้งที่ 3

ปัจจุบันศูนย์ศิลปาชีพบ้านยางน้อย มีพื้นที่ดำเนินการทั้งสิ้น 424 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ดำเนินการโครงการส่งเสริมศิลปาชีพฯ บ้านยางน้อย 214 ไร่ และโครงการฟาร์มตัวอย่างบ้านยางน้อย 210 ไร่

ขอบเขตพื้นที่ โครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านยางน้อย

  • ทิศเหนือ จดหมู่บ้านนามล  หมู่ที่  8  ตำบลก่อเอ้  อำเภอเขื่องใน  จังหวัดอุบลราชธานี
  • ทิศใต้  จดหมู่บ้านโนนใหญ่  หมู่ที่  3, 4  อำเภอเขื่องใน  จังหวัดอุบลราชธานี
  • ทิศตะวันออก จดหมู่บ้านเหรียญทอง ตำบลหัวดอน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
  • ทิศตะวันตก จดบ้านยางน้อย  หมู่ที่ 1, 2 ตำบลก่อเอ้ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี

วัตถุประสงค์การก่อตั้งโครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านยางน้อย

  1. เพื่อสนองพระราชเสาวนีย์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการส่งเสริมศิลปาชีพให้กับราษฎรในพื้นที่
  2. เพื่อจัดรวบรวมพันธุ์ไม้ชนิดต่างๆ ภายในบริเวณโครงการ และเป็นแหล่งศึกษาพันธุ์ไม้ ตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
  3. เพื่อเป็นการฟื้นฟูสภาพป่า และรักษาความสมดุลตามธรรมชาติ
  4. เพื่อบำรุงรักษาสวนเดิม อายุ 7-10 ปี จำนวน 50 ไร่
กลุ่มหัตถกรรมทอผ้าในโครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านยางน้อย
กลุ่มหัตถกรรมทอผ้าในโครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านยางน้อย

banyangnoi_2 banyangnoi_1

โครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านยางน้อย ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างมากมายซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งโครงการนี้ขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดรวบรวมพันธุ์ไม้ชนิดต่าง ๆ ภายในบริเวณโครงการ และเป็นแหล่งศึกษาพันธุ์ไม้ ตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และเป็นการฟื้นฟูสภาพป่า และรักษาความสมดุลตามธรรมชาติ

นอกจากนั้นแล้วยังมีจุดท่องเที่ยวที่ควรค่าแก่การเยี่ยมชมศึกษามากมาย อาทิ ฟาร์มตัวอย่างตามแนวทฤษฎีใหม่ เป็นพื้นที่ทดลองการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่หลายประเภท เช่น การปลูกพืชสมุนไพร ผักปลอดสารพิษ การปลูกพืชหม่อนเลี้ยงไหม การผลิตไหมคุณภาพระดับ Royal Thai Silk ซึ่งได้รับตรานกยูงทอง การผสมข้าวกล้องปรุงเสริมภูมิต้านทาน และอื่น ๆ อีกมากมาย ที่นักท่องเที่ยวจะได้รับความรู้และความเพลิดเพลินไปพร้อม ๆ กัน

ศูนย์แสดงนิทรรศการผ้าพื้นเมืองอีสาน
ศูนย์แสดงนิทรรศการผ้าพื้นเมืองอีสาน
ศูนย์แสดงนิทรรศการผ้าพื้นเมืองอีสาน
ศูนย์แสดงนิทรรศการผ้าพื้นเมืองอีสาน

ศูนย์แสดงนิทรรศการผ้าพื้นเมืองอีสานและศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์จากชุมชน

ศูนย์แสดงนิทรรศการผ้าพื้นเมืองอีสานและศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์จากชุมชน โครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านยางน้อย เป็นอาคารที่งดงามโดดเด่นด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัว ภายในมีการจัดแสดงผ้าทอพื้นเมืองอีสานหลากหลายประเภท รวมถึงมีการให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมา และขั้นตอนการทอผ้าตามแบบภูมิปัญญาพื้นบ้าน ด้วยวิธีการนำเสนอที่ทันสมัยน่าสนใจ นอกจากนี้ อาคารดังกล่าวยังมีร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของสมาชิกศูนย์ศิลปาชีพจากทั่วประเทศ โดยสินค้าที่มีชื่อเสียงของสมาชิกโครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านยางน้อย เช่น ผ้ากาบบัว เครื่องปั้นดินเผา เครื่องทองเหลือง และข้าวเบญจกระยาทิพย์ เป็นต้น ศูนย์แห่งนี้เปิดบริการทุกวัน ระหว่างเวลา 09.00 -18.00 น.

รางวัลที่โครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านยางน้อยเคยได้รับ
รางวัลที่โครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านยางน้อยเคยได้รับ
กลุ่มทอผ้าไทย ในโครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านยางน้อย
กลุ่มทอผ้าไทย ในโครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านยางน้อย

ที่ตั้ง โครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านยางน้อย

บ้านยางน้อย ตำบลก่อเอ้ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ โครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านยางน้อย

15.355344, 104.620870

บรรณานุกรม

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (2546). ศูนย์ศิลปาชีพบ้านยางน้อย, 10 มีนาคม 2560.  http://thai.tourismthailand.org

โครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านยางน้อย.(ป้ายประชาสัมพันธ์)

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง