วัดอูบมุง พระเจ้าใหญ่องค์หมื่นคู่บ้าน

วัดอูบมุง อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ที่ประดิษฐานพระเจ้าใหญ่อูบมุง หรือพระเจ้าใหญ่องค์หมื่น พระพุทธรูปเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองเขมราฐอีกองค์หนึ่ง

ซุ้มประตูทางเข้าวัดอูบมุง อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี
ซุ้มประตูทางเข้าวัดอูบมุง อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี

ประวัติวัดอูบมุง อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี

ประวัติวัดอูบมุง อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ตามที่มีการบันทึกไว้นั้น เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน 54 ตารางวา อาณาเขต ทิศเหนือจดทุ่งนา ทิศใต้จดทุ่งนา ทิศตะวันออกจดถนนสาธารณะ ทิศตะวันตกจดทุ่งนา อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วยอุโบสถกว้าง 12 เมตร ยาว 21 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2514 กุฏิสงฆ์ จํานวน 2 หลัง เป็นอาคารไม้และครึ่งตึกครึ่งไม้ ศาลาอเนกประสงค์ กว้าง 8 เมตร ยาว 8 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2536 และศาลาบําเพ็ญกุศลจํานวน 1 หลัง สร้างด้วยไม้ บรรยากาศภายในวัดมีความร่มรื่นด้วยต้นไม้ ซึ่งท่านเจ้าอาวาสมีแนวคิดจะทำการอนุรักษ์พันธุ์ไม้หายากในท้องถิ่นที่นับวันจะลดน้อยลงโดยการรวบรวมและนำมาปลูกไว้ในบริเวณวัด

ศาลาการเปรียญวัดอูบมุง
ศาลาการเปรียญวัดอูบมุง
พระนาคปรก วัดอูบมุง
พระนาคปรก วัดอูบมุง
จิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระเวสสันดร ในศาลาการเปรียญวัดอูบมุง
จิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระเวสสันดร ในศาลาการเปรียญวัดอูบมุง
จิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระเวสสันดร ในศาลาการเปรียญวัดอูบมุง
จิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระเวสสันดร ในศาลาการเปรียญวัดอูบมุง

วัดอูบมง ตั้งเมื่อ พ.ศ.2303 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2541 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 15 เมตร ยาว 30 เมตร การบริหารและการปกครอง มีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม คือรูปที่ 1 พระชม โอภาโส พ.ศ.2502-2511 รูปที่ 2 พระครูโกวิทเขมคุณ ตั้งแต่ พ.ศ. 2517- ปัจจุบัน คือ พระอธิการสมควร สญฺญโม

พระอธิการสมควร สญฺญโม เจ้าอาวาสวัดอูบมุง
พระอธิการสมควร สญฺญโม เจ้าอาวาสวัดอูบมุง

พระเจ้าใหญ่อูบมุง (พระเจ้าใหญ่องค์หมื่น) วัดอูบมุง

พระอธิการสมควร สญฺญโม เจ้าอาวาสวัดอูบมุง ได้ให้ข้อมูลว่า พระเจ้าใหญ่อูบมุง (พระเจ้าใหญ่องค์หมื่น) เป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ สร้างในสมัยใดไม่ปรากฏแน่ชัด  แต่พบเมื่อประมาณ 200 กว่าปีนี้เอง

ภาพพระเจ้าใหญ่อูบมุง หรือพระเจ้าใหญ่องค์หมื่น
ภาพพระเจ้าใหญ่อูบมุง หรือพระเจ้าใหญ่องค์หมื่น
พระเจ้าใหญ่อูบมุง หรือพระเจ้าใหญ่องค์หมื่น ประดิษฐานบนศาลาการเปรียญวัดอูบมุง
พระเจ้าใหญ่อูบมุง หรือพระเจ้าใหญ่องค์หมื่น ประดิษฐานบนศาลาการเปรียญวัดอูบมุง

ความเป็นมาในดินแดนแห่งนี้แต่ก่อนยังเป็นที่รกร้างว่างเปล่าไม่มีผู้คนเข้ามาอาศัยอยู่ ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ.2349 มีท้าวศรีจันทร์ ศรีสุราชเป็นชาวอำเภอเขมราฐได้อพยพมาพร้อมกับพรรคพวกจำนวนหนึ่งมาตั้งแหล่งทำมาหากินในบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านอูบมุงแห่งนี้ และในครั้งนั้นมีการค้นพบพระพุทธรูปองค์นี้อยู่ในป่ารกชัฏประดิษฐานอยู่ในวัดร้างเป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก และมีอูบมุงก่อด้วยอิฐครอบองค์พระเอาไว้ ส่วนองค์พระมีปลวกขึ้นพอกจนถึงพระอุระและเรียกว่า “อูบมุง” ซึ่งสันนิฐานว่าคงจะมาจากคำว่า สถูป หรือ อูบ จึงได้พากันเรียกว่าพระอูบมุง หรือพระเจ้าใหญ่อูบมุงตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และท้าวศรีจันทร์ ศรีสุราช พร้อมด้วยคณะได้ตั้งหมู่บ้านขึ้นมาชื่อว่า บ้านอูบมุง โดยเรียกตามชื่อพระพุทธรูปที่ค้นพบสืบมาจนทุกวันนี้

ด้วยความเชื่อและความศรัทธาของชาวบ้านซึ่งมีความเคารพสักการะในความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธรูปองค์นี้ จึงเรียกได้ว่าเป็นพระพุทธรูป คู่บ้าน คู่เมือง ของชาวอำเภอเขมราฐอีกองค์ ซึ่งคู่กับพระเจ้าใหญ่องค์แสนที่ประดิษฐานที่วัดโพธิ์เขมราฐ และมีความเชื่อกันว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สิงสถิตอยู่จึงไม่มีใครกล้าเข้าไปบูรณะวัดร้างแห่งนี้ ใครจะมาทำอะไรไม่ได้โดยเด็ดขาด   ถ้าไม่เชื่อและขืนทำไปก็จะมีอันเป็นไปในทางที่ไม่ดีอย่างแน่นอน ดังนั้นวัดร้างแห่งนี้จึงถูกปล่อยทิ้งไว้เรื่อยมา

จนถึงประมาณปี พ.ศ.2460 ได้มีพระธุดงค์องค์หนึ่งมาพบและพำนักในวัดพระเจ้าใหญ่อูบมุงและได้บำเพ็ญเพียรภาวนา พระธุดงค์รูปนี้ชื่อว่าพระอาจารย์บุญมา เป็นชาวเวียงจันทร์ พระรูปนี้มีญาติโยมให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก ต่อมาพระอาจารย์บุญมาได้พาชาวบ้านบูรณะวัดร้างแห่งนี้ให้เป็นวัดขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งมีการยกแท่นพระเจ้าใหญ่แล้วซ่อมแซมอุโมงค์ครอบองค์พระขึ้นมาใหม่เป็นรูปสถูปหรือเจดีย์ เสร็จเรียบร้อยแล้วต่อจากนั้นเป็นต้นมามีผู้คนรู้จักและให้ความเคารพศรัทธาพระเจ้าใหญ่อูบมุงเป็นอย่างมากเนื่องมาจากมีความเลื่อมใสศรัทธากันว่าพระเจ้าใหญ่อูบมุงเป็นพระพุทธรูปที่มีความศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่งในท้องถิ่นนี้

วัดพระเจ้าใหญ่อูบมุงตั้งเป็นวัดมาเป็นเวลานานมากกว่า 60 ปี จนถึงปี พ.ศ.2514 สมัยพระอธิการลี หรือพระครูโกวิทเขมคุณเป็นเจ้าอาวาส และเป็นเจ้าคณะตำบล ในสมัยนั้นได้มีการประชุมพิจารณาที่จะสร้างวิหารพระเจ้าใหญ่อูบมุงขึ้นใหม่ โดยมีพระครูวรกิจโกวิท เจ้าคณะอำเภอเขมราฐ เป็นประธาน ที่ประชุมมีความเห็นพร้อมให้สร้างขึ้นซึ่งมีขนาดกว้าง 12 เมตร ยาว 21 เมตร หลังปัจจุบันโดยมีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคและงบประมาณในการจัดงานบุญประจำปี และงบประมาณบางส่วนทางราชการได้สนับสนุนอุดหนุนจนแล้วเสร็จ สิ้นค่าก่อสร้างประมาณล้านเศษ เมื่อปี พ.ศ.2528 ได้ทำการรื้ออุโมงค์หลังเก่าออก แล้วเปลี่ยนเป็นรูปฉัตรครององค์พระไว้และยกแท่นใหม่ ค่าก่อสร้างในครั้งนั้น จำนวน 15,000 บาท

wat_aoobmung_08 wat_aoobmung_11 wat_aoobmung_10 wat_aoobmung_12

ที่ตั้ง วัดอูบมุง

บ้านอูบมง หมู่ที่ 5 ตําบลเขมราฐ อําเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ วัดอูบมุง

16.067711, 105.148669213

บรรณานุกรม

ชมรมอนุรักษ์พุทธศิลป์แห่งภาคอีสาน. (2555). พระเจ้าใหญ่อูบมุง (พระเจ้าใหญ่องค์หมื่น), 2 มีนาคม 2560. http://www.ubonpra.com

พระอธิการสมควร สญฺญโม. สัมภาษณ์, 27 มกราคม 2560.

มะลิวัลย์ สินน้อย, ผู้รวบรวม. (2551). ฐานข้อมูลวัดในจังหวัดอุบลราชธานี, 2 มีนาคม  2560. http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/ubon_temple

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง