วัดโพธิ์ สักการะพระเจ้าใหญ่องค์แสน พระพุทธรูปเก่าแก่คู่เมืองเขมราฐและอุบลราชธานี

วัดโพธิ์ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี  เป็นที่ประดิษฐานของพระเจ้าใหญ่องค์แสน พระพุทธรูปเก่าแก่คู่เมืองเขมราฐที่สร้างด้วยอิฐโบราณถือด้วยน้ำเกสรดอกไม้และน้ำเปลือกไม้ตามภูมิปัญญาของคนโบราณ

พระพุทธเขมรัฐวรมงคล วัดโพธิ์ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี
พระพุทธเขมรัฐวรมงคล วัดโพธิ์ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี

ประวัติวัดโพธิ์ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี

ประวัติวัดโพธิ์ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ตามที่มีการบันทึกไว้เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 4 ไร่ 1 งาน 50 ตารางวา อาณาเขตทิศ เหนือจดแม่น้ำโขง ทิศใต้จดถนนกงพะเนียง ทิศตะวันออกจดซอยอนามัย ทิศตะวันตกจดที่ดินเอกชน อาคารเสนาสนะประกอบด้วย อุโบสถ กว้าง 6 เมตร ยาว 15 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ.2512 ศาลาการเปรียญ กว้าง 12 เมตร ยาว 24 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ.2499 กุฏิสงฆ์ จํานวน 4 หลัง เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ 3 หลังและตึก 1 หลัง ศาลาอเนกประสงค์ กว้าง 9 เมตร ยาว 15 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2523 และศาลาบําเพ็ญกุศล จํานวน 1 หลัง ปูชนียวัตถุที่สำคัญ คือ พระเจ้าใหญ่องค์แสน พระประธานเก่าแก่สร้างด้วยอิฐ พระพุทธรูปปางมารวิชัยสร้างด้วยทองสําริด และพระพุทธรูปที่ห่อหุ้มด้วยโลหะทอง

อุโบสถวัดโพธิ์ อำเภอเขมราฐ
อุโบสถวัดโพธิ์ อำเภอเขมราฐ

wat_pho_10

วัดโพธิ์ ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2331 โดยแม่ชี (แม่ขาว) ได้หนีภัยสงคราม นำผู้คนอพยพลงมาจากเวียงจันทน์ พร้อมด้วยลูกหลานญาติโยมลงมาตามลำน้ำโขง มายึดชัยภูมิแห่งนี้ตั้งหมู่บ้านและวัดขึ้นในสมัยพระเจ้าตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรี เดิมวัดตั้งอยู่ที่ทําการศุลกากรและสถานีอนามัยในปัจจุบัน ต่อมาชาวบ้านได้พบพระพุทธรูปที่กลางป่ามีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่ด้วยจึงย้ายวัดมาตั้งอยู่ในที่ปัจจุบัน และตั้งชื่อว่า วัดโพธิ์ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2516 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 20 เมตร ยาว 40 เมตร การบริหารและการปกครอง มีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม คือรูปที่ 1 พระหนูสิน รูปที่ 2 พระทา รูปที่ 3 พระพรหมา รูปที่ 4 พระอุย รูปที่ 5 พระแดง รูปที่ 6 พระประภัส ปญญาพโล รูปที่ 7 พระครูวรกิจโกวิท พ.ศ. 2505- ซึ่งเป็นทั้งเจ้าอาวาสวัดโพธิ์และเจ้าคณะอำเภอเขมราฐ

พระเจ้าใหญ่องค์แสน วัดโพธิ์

พระเจ้าใหญ่องค์แสน ประดิษฐาน ณ วัดโพธิ์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 1.09 เมตร สูงรวมเกศ 1.59 เมตร สร้างด้วยอิฐโบราณถือด้วยน้ำเกสรดอกไม้และน้ำเปลือกไม้ ตามภูมิปัญญาของคนโบราณ (สมัยนั้นไม่มีปูนซีเมนต์) เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของชาวเขมราฐและจังหวัดอุบลราชธานี พระพุทธรูปลักษณะนี้มีเพียงองค์เดียวเท่านั้นที่ประดิษฐานอยู่ริมฝั่งลำน้ำโขง พระเจ้าใหญ่องค์แสนถูกสร้างขึ้นสมัยใดนั้นยังหาหลักฐานที่ชัดเจนยืนยันไม่ได้ มีเพียงการบันทึกจากคำบอกเล่าสืบต่อกันมาเท่านั้น แม้จะมีความพยายามในการค้นคว้าหาข้อมูลแล้วแต่ไม่พบ มีนายด่านศุลกากรท่านหนึ่งเคยบอกไว้ว่า “มีประวัติพระเจ้าใหญ่องค์แสนอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติและเคยอ่านพบว่าพระเจ้าใหญ่องค์แสนสร้างก่อนพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ วัดปากแซง”

พระเจ้าใหญ่องค์แสน วัดโพธิ์
พระเจ้าใหญ่องค์แสน วัดโพธิ์

พระพุทธเขมรัฐวรมงคล วัดโพธิ์

พระพุทธเขมรัฐวรมงคล ประดิษฐาน ณ วัดโพธิ์ เป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะแบบผสมผสานของพระพุทธรูปองค์ต่าง ๆ เช่น พระเจ้าใหญ่องค์แสน พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ พระพุทธโสธร และพระพุทธสิหิงส์ สร้างด้วยปูนปั้นโครงเหล็ก หน้าตักกว้าง 5 เมตร สูง 7 เมตร ได้วางฤกษ์สร้างแท่นประดิษฐานเมื่อวันศุกร์ที่ 5 มีนาคม 2547 ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ปีมะแม จ.ศ.1365 เวลา 06.09 น. อำนวยการสร้างโดย พระครูวรกิจโกวิท เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเฉลิมพระเกียรติแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระราชินีในรัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี ที่ทรงได้เจริญพระชนมายุครบ 6 รอบ 72 พรรษา

พระพุทธเขมรัฐวรมงคล และเสาอโศก วัดโพธิ์
พระพุทธเขมรัฐวรมงคล และเสาอโศก วัดโพธิ์

เสาอโศก วัดโพธิ์

เสาอโศกเป็นสัญลักษณ์ที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ประทานให้พระครูวรกิจโกวิท เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ เพื่อเชิดชูเกียรติว่าได้เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ในด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ ซึ่งให้ไว้ ณ วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ.2542

มณฑปพุทธชยันตี 2600 ปี แห่งการตรัสรู้ วัดโพธิ์

มณฑปพุทธชยันตี 2600 ปี แห่งการตรัสรู้ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ที่กรมศาสนา กระทรวงวัฒนธรรมได้ขอประทานพระบรมสารีริกธาตุ จากสมเด็จพระสังฆราชฯ เพื่อให้ประดิษฐานประจำ ณ วัดเจ้าคณะอำเภอเพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้สักการบูชาและเป็นพุทธานุสรณ์ โดยวันที่ 6 มกราคม 2557 ที่วัดโพธิ์ และด้วยความร่วมมือร่วมใจจากเทศบาลตำบลเขมราฐ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี พระเทพวิสุทธิโมลี รองเจ้าคณะภาค 10 ประธานฝ่ายสงฆ์ และนายสิทธิชัย โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานฝ่ายบ้านเมือง พร้อมด้วยคณะสงฆ์ ข้าราชการพ่อค้าประชาชนเข้าร่วมพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐานมณฑปในวัดโพธิ์ พร้อมกันนี้ก็เป็นการเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ มีพระชนมายุครบ 100 พระชันษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมพรรษา 85 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบาทราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษ และ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา เพื่อเป็นที่สักการะแก่พุทธศาสนิกชนทั่วไป

มณฑปพุทธชยันตี 2600 ปี แห่งการตรัสรู้ วัดโพธิ์
มณฑปพุทธชยันตี 2600 ปี แห่งการตรัสรู้ วัดโพธิ์

พระหยกมรกต วัดโพธิ์

พระหยกมรกตวัดโพธิ์ได้อัญเชิญมาจากสาธารณรัฐประชาชนจีนในเขตไซบีเรีย เขตแดนที่ติดกับรัสเซีย โดยท่านพระครูปลัดปรีชา โชติโก (ปรีชา ท่าหาญ) คนบ้านตาแหลว ตำบลเจียด อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นพระพุทธรูปลักษณะผสมผสาน จะว่าเป็นอินเดีย ไทย ลาว พม่า เขมร ก็ไม่ใช่ หน้าตักกว้าง 15 นิ้ว สูง 20 นิ้ว สร้างด้วยหยกใต้สมุทร หรือ หยกนิล

wat_pho_09 wat_pho_07 wat_pho_08 wat_pho_05

ที่ตั้ง วัดโพธิ์

เลขที่ 109 ถนนกงพะเนียง หมู่ที่ 7 ตําบลเขมราฐ อําเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ วัดโพธิ์

16.042967, 105.223055470

บรรณานุกรม

พระพุทธเขมรัฐวรมงคล. (ป้ายประชาสัมพันธ์)

พระหยกมรกตวัดโพธิ์. (ป้ายประชาสัมพันธ์)

มะลิวัลย์ สินน้อย, ผู้รวบรวม. (2551). ฐานข้อมูลเลื่องลือเล่าขานพระดังเมืองอุบลราชธานี, 2 มีนาคม  2560. http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/monkubon/

มะลิวัลย์ สินน้อย, ผู้รวบรวม. (2551). ฐานข้อมูลวัดในจังหวัดอุบลราชธานี, 2 มีนาคม  2560. http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/ubon_temple

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง