วัดบุ่งขี้เหล็ก เจดีย์อริยเมตตรัยแปลกตา พระปางมารวิชัย 56 องค์

วัดบุ่งขี้เหล็ก อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี วัดที่มีหลวงปู่จันทร์หอม สุภาทโร เป็นเจ้าอาวาสและผู้สืบสานวิทยาคมจากพระเถราจารย์แห่งราชอาณาจักรลาว ศิษย์ยุคสุดท้ายของสมเด็จลุน แห่งประเทศลาว ภายในวัดโดดเด่นด้วยเจดีย์อริยเมตตรัย รูปทรงสูงใหญ่สวยแปลกตากว่าที่อื่น ๆ และมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยสีขาว 56 องค์ ที่วางเรียงอย่างสวยงาม ซึ่งทั้งหมดสร้างขึ้นจากการร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านบุ่งขี้เหล็กและผู้เลื่อมใสศรัทธาในหลวงปู่จันทร์หอม สุภาทโร

ซุ้มประตูวัดบุ่งขี้เหล็ก
ซุ้มประตูวัดบุ่งขี้เหล็ก

ประวัติวัดบุ่งขี้เหล็ก อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี

ประวัติวัดบุ่งขี้เหล็ก อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ตามที่มีการบันทึกไว้ เป็นสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 7 ไร่ 3 งาน หนังสือสําคัญสําหรับที่ดิน คือ โฉนดที่ดินเลขที่ 38592 เดิมชื่อ “วัดสังวรวนาราม” ภายหลังหลวงปู่จันทร์หอม ได้มาสร้างและบูรณะใหม่ ได้ชื่อว่า “วัดบุ่งขี้เหล็ก” ประกาศตั้งเป็นวัดเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2543 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2550 การบริหารและการปกครองมีเจ้าอาวาสตามลำดับ ดังนี้ 

รูปที่ 1 พระครูสุนทรพัฒโนดม(หลวงปู่จันทร์หอม สุภาทโร) 18 ธันวาคม 2543 – 4 กุมภาพันธ์ 2562

รูปที่ 2 พระมหาบันทอน สุธีโร 1 เมษายน 2563-ปัจจุบัน

อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย มหาวิหารพระพุทธชินราชและอุโบสถ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2546 สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 หอเจ้าแม่กวนอิม สร้างปี 2548 เจดีย์ศรีอริยะเมตตรัย

ปูชนียวัตถุสำคัญ ประกอบด้วย พระศรีอริยเมตไตรย พระพุทธชินราช พระพุทธรูปสีทอง ๒๘ องค์ และพระพุทธรูปปางมารวิชัย (ลานพระขาว) จำนวน 56 องค์ เป็นพระพุทธรูปที่ตั้งเรียงกันอย่างสวยงาม สร้างขึ้นโดยอาศัยการร่วมแรงร่วมใจช่วยกันคนละไม้ละมือจากชาวบ้านบุ่งขี้เหล็กและผู้เลื่อมใสศรัทธาในหลวงปู่จันทร์หอม สุภาทโร

พระพุทธรูปปางมารวิชัย จำนวน 56 องค์ ภายในวัดบุ่งขี้เหล็ก
พระพุทธรูปปางมารวิชัย จำนวน 56 องค์ ภายในวัดบุ่งขี้เหล็ก

วัดบุ่งขี้เหล็ก อยู่ห่างจากอําเภอเขมราฐไปทางอําเภอโขงเจียมประมาณ 13 กิโลเมตร วัดนี้เคยได้รับเกียรติบัตรรางวัลเป็นวัดที่มีความสะอาดดีมากตามโครงการ “อุบลเมืองสะอาด ราชธานีอีสาน” ประจำปี 2553

หลวงปู่จันทร์หอม สุภาทโร เจ้าอาวาสวัดบุ่งขี้เหล็ก
หลวงปู่จันทร์หอม สุภาทโร เจ้าอาวาสวัดบุ่งขี้เหล็ก

พระครูสุนทรพัฒโนดม หรือ หลวงปู่จันทร์หอม สุภาทโร

พระครูสุนทรพัฒโนดม หรือ หลวงปู่จันทร์หอม สุภาทโร พระคณาจารย์ผู้สืบสานวิทยาคมจากพระเถราจารย์แห่งราชอาณาจักรลาว ศิษย์ยุคสุดท้าย สมเด็จลุน แห่งประเทศลาว

หลวงปู่จันทร์หอม เกิดเมื่อเดือน 5 ปีมะโรง พ.ศ. 2459 ที่บ้านนาเอือด อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี เนื่องจากสมัยนั้นไม่มีการจดบันทึกวันเดือนเกิด ทางคณะศิษย์จึงขอให้วันที่ 1 มีนาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันเกิด เพื่อร่วมแสดงมุทิตาจิตต่อท่าน ท่านเป็นคนไทยแท้ เกิดที่เมืองไทย แต่ไปโตที่ประเทศลาว เพราะครอบครัวย้ายถิ่นฐานไปทำมาหากินที่นั่น จนได้มีโอกาสร่ำเรียนวิชากับปรมาจารย์ใหญ่ อย่าง “สำเร็จลุน” ผ่านทาง “สำเร็จตัน” พระสังฆราชแห่งราชอาณาจักรลาวองค์ต่อจากสมเด็จลุน

หลวงปู่จันทร์หอม เป็นผู้ดำริให้มีการสร้างมหาเจดีย์ขึ้นเพื่อสืบพระพุทธศาสนาให้อยู่คู่บ้านคู่เมือง ให้ชื่อว่า “เจดีย์ศรีอริยะเมตตรัย” มีรูปทรงที่แปลกตาไม่เหมือนกับเจดีย์ที่พบเห็นทั่วไป  มีความสูงจากพื้น 37 เมตร ทาผนังด้ายนอกด้วยสีทอง ตั้งโดดเด่นอยู่กลางวัด สร้างเมื่อปี พ.ศ.2556 และด้วยความเลื่อมใสศรัทธาที่มีต่อท่านทำให้มหาเจดีย์นี้สร้างแล้วเสร็จปี พ.ศ.2558 ใช้เวลเพียง 1 ปี 4 เดือน เท่านั้น

เจดีย์ศรีอริยะเมตตรัย วัดบุ่งขี้เหล็ก
เจดีย์ศรีอริยะเมตตรัย วัดบุ่งขี้เหล็ก
เจดีย์ศรีอริยะเมตตรัย วัดบุ่งขี้เหล็ก
เจดีย์ศรีอริยะเมตตรัย วัดบุ่งขี้เหล็ก

เจดีย์ศรีอริยะเมตตรัย วัดบุ่งขี้เหล็ก จะแบ่งเป็น 6 ชั้น เปรียบดั่งสวรรค์ทั้ง 6 ชั้น ทุกชั้นจะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ดังนี้

  1. ชั้นจาตุมหาราชิกา (สวรรค์ชั้นที่ 1) เป็นที่อยู่ของท้าวมหาราช 4 พระองค์ปกครอง มีอายุ 500 ปีทิพย์ หรือ 9 ล้านปีมนุษย์ อยู่เมืองมนุษย์ทำแต่ความดี ชักชวนคนอื่นทำบุญทำทาน
  2. ชั้นดาวดึง (สวรรค์ชั้นที่ 2) เป็นเมืองใหญ่ มีพระธาตุเกศแก้วจุฬามณี พระอินทร์ปกครอง มีอายุ 1,000 ปีทิพย์ หรือ 36 ล้านปีมนุษย์ อยู่เมืองมนุษย์มีจิตใจดี ให้ทาน รักษาศีล ไม่ดูหมิ่นชาติตระกูล
  3. ชั้นยามา (สวรรค์ชั้นที่ 3) มีท้าวสยามเทวาธิราชเป็นผู้ปกครอง มีอายุ 2,000 ปีทิพย์ หรือ 144 ล้านปีมนุษย์ อยู่เมืองมนุษย์เป็นผู้นำพาคนอื่นบำเพ็ญกุศล รักษาศีล ภาวนาไม่เคยขาด
  4. ชั้นดุสิต (สวรรค์ชั้น 4) มีท้าวสันดุสิตเทวราชปกครอง มีอายุ 4,000 ปีทิพย์ หรือ 576 ล้านปีมนุษย์ อยู่เมืองมนุษย์ เป็นผู้มีจิตใจบริสุทธิ์ ทรงศีล ทรงธรรม ชอบฟังพระธรรมเทศนา
  5. ชั้นนิมมานรตีภูมิ (สวรรค์ชั้นที่ 5) มีท้าวสุนิมมิตเทวราชปกครอง มีอายุ 8,000 ปีทิพย์ หรือ 2,304 ล้านปีมนุษย์ อยู่เมืองมนุษย์ประพฤติปฏิบัติธรรมสม่ำเสมอ มีใจสมบูรณ์ด้วยศีล
  6. ชั้นปรนิมมิตสวัสดี (สรรค์ชั้นที่ 6) มีท้าวปรนิมมิตสวัสดีและท้าวปรมินมิตสวัสดีมาราธิราชเป็นผู้ปกครอง มีอายุ 16,000 ปีทิพย์ หรือ 9,216 ล้านปีมนุษย์ อยู่เมืองมนุษย์ก่อสร้างกองการกุศลให้ยิ่งใหญ่ อบรมจิตใจให้สูงขึ้น มีคุณธรรม จิตเลื่อมใสในการให้ทานรักษาศีล

เจดีย์ศรีอริยะเมตตรัย ภายหลังได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ โดยการนำของพระมหาบันทอน สุธีโร เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน พร้อมด้วยชาวบ้านและพุทธศาสนิกชน และเปิดให้เข้าไปสักการะตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา ภายในเจดีย์จะมีลิฟต์บริการขึ้น-ลงทุกชั้น โดยทุกชั้นจะเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธรูปสำคัญ และชั้นบนยอดดาดฟ้ามหาเจดีย์ก็จะเป็นที่ชมวิวทัศนียภาพสองฝั่งโขง เพื่อให้ญาติโยมพุทธศาสนิกชน เข้าไปนมัสการกราบไหว้ขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคล เป็นมงคลชีวิตแก่ตนเองและครอบครัว

อุโบสถวัดบุ่งขี้เหล็ก
อุโบสถวัดบุ่งขี้เหล็ก 

ที่ตั้ง วัดบุ่งขี้เหล็ก

เลขที่ 139 หมู่ 4 บ้านบุ่งขี้เหล็ก ตําบลนาแวง อําเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ วัดบุ่งขี้เหล็ก

16.029416, 105.297224675

บรรณานุกรม

เดลินิวส์. (2558). หลวงปู่จันทร์หอม รุ่น ‘มหาบารมียอดฉัตร’ ฉลองมหาเจดีย์ 7 ชั้น วัดบุ่งขี้เหล็ก จ.อุบลฯ, 1 มีนาคม 2560. http://www.dailynews.co.th/article/354729

มะลิวัลย์ สินน้อย, ผู้รวบรวม. (2551). ฐานข้อมูลวัดในจังหวัดอุบลราชธานี, 1 มีนาคม  2560. http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/ubon_temple

สนธยา ทิพย์อุตร์. (2560).นมัสการพระบรมสารีริกธาตุองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าวัดบุ่งขี้เหล็ก, 1 มีนาคม 2560. http://www.ryt9.com/s/tpd/2595947

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง