การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากน้ำยาพารา

Titleการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากน้ำยาพารา
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2551
Authorsชลธิดา เกษเพชร
Degreeศิลปประยุกต์มหาบัณฑิต -- สาขาวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์
Institutionคณะศิลปประยุกต์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberTS ช224ก
Keywordsการออกแบบผลิตภัณฑ์, น้ำยาง, ผลิตภัณฑ์ยาง, ฟองยาง, ยาง, ยางพารา, ยางแผ่นดิบ, สูตรยาง
Abstract

ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่อยู่กับคนไทยมานานนับร้อยปี ที่นับวันยิ่งมีการขยายพื้นที่การเพาะปลูกกันมากขึ้นจนกระทั่งปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกยางกระจายอยู่ในทุกภาคของประเทศไทยโดยเฉพาะภาคใต้ ถือว่าเป็นแหล่งปลูกยางพารามากที่สุดเนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของยางพารา อย่างไรก็ตามเกษตรกรชาวสวนยางพารายังมีข้อจำกัดเนื่องจากสามารถจำหน่ายผลผลิตได้เฉพาะในรูปของน้ำยางสด ยางแผ่นดิบ และเศษยางซึ่งเป็นการแปรรูปขั้นพื้นฐานเท่านั้น เพราะการที่จะแปรรูปผลิตภัณฑ์จากน้ำยางพาราให้เป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปประเภทต่าง ๆ การลงทุนมีมูลค่าสูง ผู้ผลิตต้องมีความรู้ความเข้าใจในการกระบวนการผลิต ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อีกทั้งต้องใช้ต้นทุนสูงอีกด้วย
จากปัญหาดังกล่าวข้างต้นผู้วิจัยจึงได้นำมากำหนดวัตถุประสงค์ในการวิจัยไว้ 3 ประการ ดังนี้ คือ 1) ศึกษาและรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับยางพาราในส่วนของคุณสมบัติและการนำไปแปรรูป 2) ศึกษาและทดลองคุณสมบัติวัสดุและกระบวนการผลิต 3)ศึกษาแนวทางในการออกแบบและพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์จากน้ำยางพารา โดยมีการกรณีศึกษา คือ กลุ่มผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยางประเภทวิสาหกิจชุมชน จำนวน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทำสวนท่าอยู่ จังหวัดพังงา และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทำสวนป่าคลอก จังหวัดภูเก็ต ปัจจุบันมีการผลิตผลิตภัณฑ์เป็นประเภทของที่ระลึกขนาดเล็ก โดยใช้ฟองยางเป็นวัสดุหลัก
จากการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูล แนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากน้ำยางพาราระดับชุมชน พบว่า การผลิตควรมีกระบวนการผลิตที่ง่าย ไม่ใช้เครื่องจักรในการผลิต เพื่อควบคุมต้นทุนการผลิตใช้วิธีการผลิตแบบชาวบ้านร่วมกับกระบวนการวิทยาศาสตร์เทคโนโลยียางโดยใช้ส่วนผสมของสูตรน้ำยางและการตัดเย็บประกอบกับวัสดุอื่น ๆ ที่มีความเหมาะสม นอกจากนั้นในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยยังพบว่า ประเภทของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มที่มีความเหมาะสมกับการแปรรูป คือ กลุ่มเครื่องใช้บนโต๊ะสำนักงาน เพราะมีขนาดเล็ก เหมาะสมกับการใช้วัสดุ คือ น้ำยางพารามาผลิต ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบได้หลากหลายเพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้กับกลุ่มผู้บริโภค ตามรูปแบบผลิตภัณฑ์ตัวอย่างแนบท้ายงานวิจัย

Title Alternate The design and development of products from para rubber latex