การจัดการความรู้เพื่อการทำเกษตรประณีตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

Titleการจัดการความรู้เพื่อการทำเกษตรประณีตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2554
Authorsอุทัย อันพิมพ์
Degreeปรัชญาดุษฎีบัณฑิต--สาขาวิชาพัฒนบูรณาการศาสตร์
Institutionคณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberS อ221
Keywordsการจัดการความรู้, เกษตรกรรมแบบผสมผสาน--การจัดการ, เกษตรกรรมแบบยั่งยืน, เกษตรทฤษฎีใหม่, เครือข่ายภูมิปัญญา, เศรษฐกิจพอเพียง--การจัดการ
Abstract

เกษตรประณีต คือ พื้นที่แห่งการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง จากการทำเกษตรผสมผสานโดยเริ่มต้นจากพื้นที่เล็ก ๆ ก่อน เมื่อมีความรู้แล้วจึงขยายพื้นที่เพิ่มมากขึ้นให้เพียงพอต่อความต้องการของตนเอง ครอบครัวและชุมชนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง มีวัตถุประสงค์การวิจัยเพื่อ 1)ศึกษารูปแบบการจัดการความรู้เกษตรประณีต 2)ศึกษาเงื่อนไขการยอมรับแนวคิดเกษตรประณีต และ 3)ศึกษารูปแบบการทำเกษตรประณีตของสมาชิกเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน เป็นการวิจัยภาคสนามที่ใช้ทั้งวิธีการศึกษาเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ โดยใช้แบบสัมภาษณ์เชิงลึก แบบสังเกต การประชุมกลุ่มย่อย และมีการตรวจสอบความเที่ยงตรงของข้อมูลด้วยเทคนิคการตรวจสอบข้อมูลแบบสามเส้า กลุ่มศึกษาคือ เกษตรกรที่เป็นสมาชิกเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านจังหวัดบุรีรัมย์จาก 3 เครือข่าย ใน 4 พื้นที่อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอสตึก และอำเภอพุทไธสง อำเภอแคนดง และอำเภอลาปลายมาศ จำนวน 42 คน ดำเนินการระหว่างปี พ.ศ. 2550-2553
ผลการศึกษา พบว่า รูปแบบการจัดการความรู้เกษตรประณีตของสมาชิกเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน สมาชิกให้ความสำคัญกับการสร้างความรู้ ด้วยการใช้ความรู้ฝังลึกผ่านกระบวนการสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างสมาชิกทั้งในและนอกเครือข่าย เพื่อยกระดับความรู้ของตนให้ไปสู่ความรู้ชัดแจ้ง แล้วหมุนกลับมาเป็นความรู้ฝังลึกอีกครั้งหนึ่ง เพื่อการแก้ปัญหาการประกอบการอาชีพของตน ซึ่งมีความหลากหลายตามบริบทในเชิงพื้นที่ ชุมชนและทรัพยากรที่มีอยู่ โดยมีผู้รับประโยชน์ร่วมในการจัดการความรู้ จำนวน 6 กลุ่ม ประกอบด้วย 1) กลุ่มปราชญ์ชาวบ้าน 2)กลุ่มผู้สนับสนุนงบประมาณ 3)กลุ่มผู้ช่วยปราชญ์ 4)กลุ่มผู้เรียน 5)กลุ่มวิจัย และ6)กลุ่มพันธมิตรทางวิชาการ แต่ละกลุ่มมีบทบาทและความสำคัญที่แตกต่างกันออกไป และกลุ่มที่มีอิทธิพลต่อการจัดการความรู้เกษตรประณีตมากที่สุด คือ กลุ่มปราชญ์ชาวบ้าน กลุ่มผู้เรียน กลุ่มผู้สนับสนุนงบประมาณ จากการศึกษาการจัดการความรู้ของสมาชิกเครือข่ายพบว่า มีรูปแบบการจัดการความรู้ประกอบด้วย 6 ขั้นตอน คือ 1) การค้นหาตนเอง เป็นการสร้างความตระหนักรู้ให้กับสมาชิก 2)การสร้างแรงบันดาลใจ เป็นการเปิดโลกทัศน์ของสมาชิกเครือข่าย 3)การสร้างและแสวงหาความรู้ใหม่ 4)การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ ข้อคิดเห็น ความเชื่อ วิธีการ 5) การประเมินผลความรู้ เป็นการคัดกรองความรู้หลังจากที่ได้มีการนำความรู้ไปปฏิบัติในแปลงของตน 6)การจัดเก็บและเผยแพร่ความรู้ เป็นการควบรวมความรู้จากความรู้ฝังลึกไปสู่ความรู้ชัดแจ้ง ส่วนเงื่อนไขที่องค์ประกอบของการยอมรับแนวคิดเกษตรประณีตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เป็นเงื่อนไขที่เกี่ยวกับคุณธรรมของเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนแนวทางปฏิบัติตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรกรจะต้องรู้จักตนเอง ด้วยการรู้จักพอ รู้จักอุดรูรั่วเพื่อลดรายจ่ายสั่งสมกัลยาณมิตร และสั่งสมภูมิปัญญาในการแก้ปัญหา นับเป็นการเน้นชีวิตที่มีความสุขแทนชีวิตที่ร่ำรวยด้านวัตถุและทรัพย์สินเงินทอง เป็นชีวิตที่เรียบง่าย ประหยัดและอดออมไม่หรูหราฟุ่มเฟือยประกอบด้วย (1) ปัจจัยด้านความเชื่อในแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง (2)ปัจจัยทางเลือกเกี่ยวกับอาชีพและประสบการณ์ (3)ปัจจัยด้านความขยัน อดทนและใจรัก (4)ปัจจัยด้านการประหยัดอดออม 2)เงื่อนไขที่จำเป็น เป็นเงื่อนไขเกี่ยวกับการจัดการความรู้และปัจจัยเกี่ยวข้องอื่น ๆ ที่จำเป็น ประกอบด้วย (1) ปัจจัยด้านการเรียนรู้และเครือข่าย (2) ปัจจัยด้านความรู้และการจัดการ (3)ปัจจัยด้านสุขภาพของครอบครัว (4)ปัจจัยด้านบริบทของพื้นที่ และ 3)เงื่อนไขที่เป็นองค์ประกอบอื่น เป็นเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการทำเกษตรประณีตซึ่งจัดว่าเป็นทั้งปัจจัยเอื้อและปัจจัยขัดขวางให้เกิดการยอมรับแนวคิดเกษตรประณีต ประกอบด้วย (1)ปัจจัยด้านรายได้ รายจ่ายและการตลาด (2) การมีเงินทุนตามความจำเป็น (3) มีแรงงานมากพอ และ (4) มีไฟฟ้าเพื่อสูบน้ำใช้
สำหรับรูปแบบของการทำเกษตรประณีตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของสมาชิกเครือข่ายพบว่ามี 3 รูปแบบ คือ 1)แบบพออยู่พอกิน เป็นรูปแบบที่สมาชิกผลิตเพื่อการบริโภคในครัวเรือนเป็นหลัก 2)แบบเหลืออยู่เหลือกิน เป็นรูปแบบการผลิตเพื่อการบริโภคในครัวเรือนแบ่งปันและการจำหน่าย และ 3)แบบยั่งยืน เป็นรูปแบบการผลิตที่ตั้งอยู่บนฐานของความรู้ สมาชิกจะผลิตเพื่อการบริโภคและสร้างรายได้แก่ครัวเรือนอย่างยั่งยืนจากอาชีพการทำเกษตร ซึ่งแต่ละรูปแบบจะมีการจัดการความรู้ในแต่ละกิจกรรมที่ต่างกัน จึงอาจกล่าวได้ว่า การจัดการความรู้เกษตรประณีตเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงอันจะนำไปสู่ความผาสุกของเกษตรกร และหากมีคุณอำนวยการเรียนรู้ที่มีความรอบรู้ มีเวลาเพียงพอ คล่องแคล่วว่องไวและสามารถสร้างพันธมิตรที่เข้มแข็งในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ดีและต่อเนื่องจะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้เกษตรกรยอมรับแนวคิดและนำไปพัฒนาอาชีพของตนเองได้อย่างยั่งยืน

Title Alternate Knowledge management in Kaset Praneet for sufficiency ecomomy life style
Fulltext: