กระบวนการเรียนรู้เชิงนโยบายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง

Titleกระบวนการเรียนรู้เชิงนโยบายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2553
Authorsอรทัย เลียงจินดาถาวร
Degreeรัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต (สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์)
Institutionคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberHN อ324
Keywordsกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง, การพัฒนาชนบท, การพัฒนาชุมชน
Abstract

การศึกษาวิจัยที่มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเรียนรู้เชิงนโยบายที่เกิดขึ้นกับนโยบายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งนโยบายในปี พ.ศ.2544-2553 โดยมุ่งศึกษาถึงผลกระทบของการเรียนรู้เชิงนโยบายที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง และศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงของนโยบายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง
การศึกษาวิจัยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการศึกษาเอกสาร การสัมภาษณ์ การสนทนากลุ่ม กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและผู้ได้รับประโยชน์โดยอ้อมในนโยบายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง 4 กลุ่ม ได้แก่ ผู้กำหนดนโยบายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง และเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เป็นผู้นำนโยบายไปปฏิบัติ 11 คน คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง และกรรมการเครือข่ายกองทุน 27 คน สมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง 12 คน รวมทั้งหมด 62 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสัมภาษณ์แบบกึ่งมีโครงสร้าง (semi-structured interview) ทำการรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนสิงหาคม 2551-กุมภาพันธ์ 2553 ใช้เวลาประมาณ 1 ปี การวิเคราะห์ข้อมูลกระทำโดยการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหา (content analysis) โดยนำคำให้สัมภาษณ์มาถอดเทป จัดกลุ่มเนื้อหา สรุปความสัมพันธ์ของเนื้อหา และการตรวจสอบแบบหลายวิธี (triangulation technique) จากนั้นจึงใช้วิธีการวิเคราะห์ข้อมูล ตีความหมาย สรุปเป็นหลักการหรือข้อเสนอเชิงความคิดโดยใช้หลักตรรกวิทยาแบบอุปนัย (induction)
ผลการวิจัยสรุปได้ 4 ประเด็น ดังต่อไปนี้
1.กระบวนการเรียนรู้เชิงนโยบาบกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จากผลการวิจัยพบว่า นโยบายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ได้ส่งผลด้านบวกในการเรียนรู้จากประสบการณ์ในการบริหารจัดการกองทุนของผู้ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายส่วนใหญ่เป็นอย่างมาก แม้ว่าบางกองทุนจะมีปัญหาในการบริหารจัดการ การเรียนรู้ระหว่างกองทุนกับสมาชิกมีจำกัด และส่วนใหญ่เป็นปัญหาต่อเนื่องมานับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกองทุนมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนกองทุนหมู่บ้านส่วนใหญ่มีการปรับใช้ภูมิปัญญา และนำศักยภาพของชุมชนมาใช้ในการบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้านและสถาบันการเงินชุมชนให้ประสบความสำเร็จ และเรียนรู้ว่าชุมชนสามารถบริหารจัดการตนเอง และสามารถพึ่งตนเองได้มากขึ้น ทำให้กองทุนหมู่บ้านเกิดการเรียนรู้เชิงนโยบาย 3 ลำดับชั้น คือ 1) การเรียนรู้ลำดับชั้นปฐมภูมิ 2) การเรียนรู้ลำดับชั้นทุติยภูมิ 3) การเรียนรู้ลำดับชั้นตติยภูมิและกองทุนชุมชนเมืองเกิดการเรียนรู้เชิงนโยบาย 2 ลำดับชั้น คือ 1) การเรียนรู้ลำดับชั้นปฐมภูมิ 2) การเรียนรู้ลำดับชั้นทุติยภูมิ
2)การเรียนรู้เชิงนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายกองทุนหมู่บ้าน จากผลการวิจัยพบว่า การเรียนรู้เชิงนโยบายมีผลกระทบต่อการสืบทอดและธำรงรักษานโยบายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง แยกเป็นปัจจัยของผลกระทบที่สำคัญ 5 ปัจจัย คือ 1) ผู้มีส่วนได้เสียและผู้ที่ได้รับประโยชน์โดยอ้อมจากนโยบายความเชื่อเฉพาะร่วมกัน 2) จำนวนกองทุนหมู่บ้านที่มีส่วนได้เสียในนโยบายมีจำนวนมากกระจายอยู่เกือบทั่วทุกหมู่บ้านและชุมชนเมืองในประเทศไทย 3) จำนวนผู้ให้ความสนับสนุนที่มีความเชื่อเกี่ยวกับทิศทางของนโยบายที่เฉพาะร่วมกัน 4) ปัจจัยภายนอก 3 ปัจจัยหลัก ๆ คือ ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ ปัจจัยทางด้านสังคม และปัจจัยทางด้านการเมือง 5) การเปลี่ยนแปลงในการจัดการผู้สนับสนุนอย่างเป็นระบบ
3) ความสัมพันธ์ของการเรียนรู้เชิงนโยบายกับการเปลี่ยนแปลงของนโยบายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ผลการวิจัย พบว่า การเรียนรู้เชิงนโยบายมีความสัมพันธ์เชิงผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง 3 ประการ คือ 1) ก่อให้เกิดปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการสืบทอดนโยบายและการธำรงรักษานโยบายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง 5 ปัจจัย 2) ก่อให้เกิดเครือข่ายพันธมิตรนโยบายกองทุนหมู่บ้านจำนวน 2 เครือข่าย 3) ทำให้นโยบายเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในตัวในขณะที่มีการนำนโยบายไปปฏิบัติ
4) การเปลี่ยนแปลงนโยบายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่เริ่มต้นนโยบาย พ.ศ. 2544-2553 ผลการวิจัยพบว่า มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายเป็น 2 ลักษณะ คือ การสืบทอดนโยบาย และการธำรงรักษานโยบาย
ผู้วิจัยให้ข้อเสนอแนะว่า แนวทางพัฒนานโยบายกองทุนหมู่บ้านควรแยกนโยบายกองทุนหมู่บ้านออกจากการเมือง การตัดสินใจทางนโยบายของผู้กำหนดนโยบายควรตั้งอยู่บนฐานข้อมูลของกระบวนการการเรียนรู้เชิงนโยบาย ผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบของนโยบายที่แท้จริงแล้วนำไปเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจปรับปรุงแก้ไขนโยบายให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างยั่งยืนมากกว่าที่จะมุ่งสร้างคะแนนนิยมและหวังเพียงผลประโยชน์ทางการเมืองของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง มุ่งพัฒนาศักยภาพของกองทุนหมู่บ้าน โดยเฉพาะคณะกรรมการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินนโยบายอย่างจริงจัง ปรับปรุงระบบการประเมินผล การเสริมสร้างความรู้ การพัฒนาอาชีพตลอดจนยกระดับกองทุนหมู่บ้านให้อยู่ในระดับมาตรฐานในระยะต่อไป และควรปรับปรุงระเบียบการบริหารจัดการกองทุนชุมชนเมืองให้เป็นสถาบันการเงินชุมชน มีระเบียบปฏิบัติที่เข้มงวด ชัดเจน มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานประจำ มีคณะกรรมการชุมชนและตัวแทนจากสถาบันการเงินเป็นกรรมการบริหารงานเพื่อให้กองทุนอยู่ได้อย่างยั่งยืน เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง

Title Alternate Policy-oriented learning processes of the village and urban community funds
Fulltext: