การพัฒนาเนื้อดินเซรามิกส์สำหรับเครื่องปั้นดินเผาบ้านกุดนาขาม

Titleการพัฒนาเนื้อดินเซรามิกส์สำหรับเครื่องปั้นดินเผาบ้านกุดนาขาม
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2554
Authorsนพดล ชาสงวน
Degreeศิลปประยุกต์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์
Institutionคณะศิลปประยุกต์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberTP น169
Keywordsเครื่องปั้นดินเผา--สกลนคร, เครื่องเคลือบดินเผา--สกลนคร
Abstract

การศึกษาวิจัยนี้ เป็นการศึกษาเพื่อพัฒนาเนื้อดินเซรามิกส์สำหรับเครื่องปั้นดินเผาบ้านกุดนาขาม โดยศึกษาส่วนผสมของเนื้อดินจากแหล่งดินในท้องถิ่น ซึ่งมีความสัมพันธ์กับหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดีบริเวณพื้นที่แอ่งสกลนครมาใช้เป็นวัตถุดิบ
การทดลองหาอัตราส่วนผสมของเนื้อดิน โดยการหาอัตราส่วนผสมเนื้อดินปั้นจากตารางสามเหลี่ยมด้านเท่า (Triaxial diagram) ใช้ดินจากแหล่งดินในท้องถิ่น ได้แก่ ดินศรีสงคราม อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม ดินหนองโดน อำเภอเจริญศิลป์ จังหวัดสกลนคร และดินปั้นของบริษัทคอมพาวเคลย์ ได้จำนวน 36 ตัวอย่าง ผลการทดลองหาอัตราส่วนผสม ลักษณะทางกายภาพ การหดตัว การดูดซึมน้ำของเนื้อดินหลังเผาที่อุณหภูมิ 800 และ 1200 องศาเซลเซียส การทดลองการเขียนสีและการเคลือบด้วยน้ำเคลือบใสเผาที่อุณหภูมิ 1200 องศาเซลเซียส บรรยากาศแบบออกซิเดชัน พบว่าเนื้อดินปั้นที่มีอัตราส่วนผสมของดินศรีสงคราม ร้อยละ 80 ดินหนองโดน ร้อยละ 10 ดินบริษัทคอมพาวเคลย์ ร้อยละ 10 มีคุณสมบัติที่เหมาะสมสำหรับการทำผลิตภัณฑ์ เซรามิกส์ หลังจากนั้นได้มีการนำเนื้อดินดังกล่าว ไปทำการวิจัยหาอัตราส่วนผสมเพื่อให้ได้เนื้อดินปั้นที่ใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่นทั้งหมด โดยนำดินท้องถิ่นอำเภออากาศอำนวย จากบริเวณที่พบกลุ่มเตาเผาโบราณลุ่มน้ำสงครามซึ่งมีลักษณะทางกายภาพและปริมาณแร่ธาตุใกล้เคียงกับดินบริษัทคอมพาวด์เคลย์ มาใช้เป็นส่วนผสมแทนดินบริษัทคอมพาวเคลย์ ได้อัตราส่วนผสมของเนื้อดินประกอบด้วย ดินศรีสงคราม ร้อยละ 80 ดินหนองโดน ร้อยละ 10 ดินอากาศอำนวย ร้อยละ 10 เนื้อดินที่ได้จากการวิจัยนี้ สามารถขึ้นรูปได้ดี ดินไม่ยุบตัวเมื่อเผาเคลือบที่อุณหภูมิ 1200 องศาเซลเซียส บรรยากาศแบบออกซิเดชันด้วยเตาเผาแบบใช้แก๊ส พบว่าผลิตภัณฑ์สามารถทนความร้อนได้ดี ไม่บิดเบี้ยว ไม่เสียรูปทรง ผิวเคลือบเป็นมันวาว และไม่มีตำหนิ แสดงให้เห็นถึงคุณสมบัติที่ดีของเนื้อดินปั้นจากท้องถิ่นที่มีคุณภาพสูง และผลิตภัณฑ์เซรามิกส์ที่มีลักษณะเอกลักษณ์อีสานด้วยกระบวนการผลิตของศูนย์ศิลปาชีพบ้านกุดนาขามได้เหมาะสมดี

Title Alternate Development of ceramics clay bodies for pottery at Ban Khutnakham
Fulltext: