วิเคราะห์การปนเปื้อนคาร์โบฟูแรนในตัวอย่างข้าวหอมมะลิด้วยวิธีการวิเคราะห์ทางอ้อมของอัลคาไลน์ฟอสฟาเตสไบโอเซนเซอร์

Titleวิเคราะห์การปนเปื้อนคาร์โบฟูแรนในตัวอย่างข้าวหอมมะลิด้วยวิธีการวิเคราะห์ทางอ้อมของอัลคาไลน์ฟอสฟาเตสไบโอเซนเซอร์
Publication Typeงานวิจัย/Research report
Year of Publication2560
Authorsอัญชลี สำเภา
Institutionคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberSB952.C3 อ525ว 2560
Keywordsข้าวหอมมะลิ, คาร์โบฟิวแรน, คาร์โบฟูแรน, ยากำจัดศัตรูพืช, สารกำจัดศัตรูพืช, สารปนเปื้อนในข้าว, สารพิษตกค้างทางเกษตรกรรม, ไบโอเซนเซอร์
Abstract

แอมเพอโรเมทริกคาร์โบฟูแรนไบโอเซนเซอร์ได้ถูกพัฒนาขึ้นโดยการปรับปรุงบริเวณผิวหน้าขั้วไฟฟ้าที่ใช้เป็นบริเวณตรวจวัด โดยตรึงทางเคมีด้วยเอนไซม์อัลคาไลน์ฟอสฟาเตสโบวีนเซรัมอัลบูมิน กลีเซอรอลและกลูตารัลดีไฮด์ วิเคราะห์ปริมาณคาร์โบฟูแรนด้วยไบโอเซนเซอร์ อาศัยหลักการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อัลคาไลน์ฟอสฟาเตส วัดสัญญาณกระแสการวิเคราะห์ทางไฟฟ้าลดลงสัมพันธ์กับปริมาณคาร์โบฟูแรนเพิ่มขึ้น งานวิจัยตรวจวัดสัญญาณทางไฟฟ้าด้วยวิธีแอมเพอโรเมทรีและศึกษาสภาวะที่เหมาะสมต่อการทำงานของไบโอเซนเซอร์ ผลการศึกษาพบว่า ปริมาณของเอนไซม์อัลคาไลน์ฟอสฟาเตสที่ 1.2 ยูนิตต่อตารางเซนติเมตร ระยะเวลาของการเชื่อมไขว้เอนไซม์อัลคาไลน์ฟอสฟาเตสกับกลูตารัลดีไฮด์ 10 นาที ปริมาณของโบวีนเซรัมอัลบูมิน ร้อยละ 8 ศักย์กระตุ้นที่เหมาะสมต่อการวิเคราะห์ +0.75 โวลต์ เทียบกับขั้วไฟฟ้าอ้างอิงซิลเวอร์-ซิลเวอร์คลอไรด์ ที่อุณหภูมิห้อง ประเมินการวิเคราะห์ของไบโอเซนเซอร์ที่พัฒนาขึ้นในช่วงความเป็นเส้นตรง 1 ถึง 6 มิลลิกรัมต่อลิตร (ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพัทธ์เท่ากับ 0.991) ความไวในการตรวจวัดที่ 7.07 ร้อยละของการยับยั้ง-ลิตรต่อมิลลิกรัม ขีดจำกัดในการตรวจพบและขีดจำกัดในการตรวจวัดเชิงปริมาณ เท่ากับ 1.12 และ 3.75 มิลลิกรัมต่อลิตร ตามลำดับ ความเที่ยงของขั้วไฟฟ้าให้ร้อยละของค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานสัมพัทธ์เท่ากับร้อยละ 4.31 (ขั้วไฟฟ้า 3 ขั้ว) ความเที่ยงของการวิเคราะห์ให้ร้อยละของค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานสัมพัทธ์เท่ากับร้อยละ 2.80 (วัด 4 ครั้ง) นอกจากนี้ยังได้ประเมินการทำงานของไบโอเซนเซอร์ในการวิเคราะห์ปริมาณคาร์โบฟูแรนในสารสกัดตัวอย่างข้าวหอมมะลิจำนวน 13 ตัวอย่าง ที่สุ่มเก็บมาจากพื้นที่ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี พบว่า สารสกัดตัวอย่างข้าวหอมมะลิทั้ง 13 แหล่ง การวิเคราะห์ปริมาณคาร์โบฟูแรนด้วยไบโอเซนเซอร์กับเทคนิคมาตรฐานโครมาโทกราฟีของเหลวสมรรถนะสูง พบว่า ปริมาณคาร์โบฤูแรนที่ปนเปื้อนในตัวอย่างข้าวหอมมะลิไม่สามารถตรวจวัดได้จากไบโอเซนเซอร์กับเทคนิคมาตรฐานโครมาโทกราฟีของเหลวสมรรถนะสูง ซึ่งมีขีดจำกัดในการตรวจพบสูง 1.12 และ 0.05 มิลลิกรัมต่อลิตร ตามลำดับ ซึ่งสามารถระบุได้ว่ามีปริมาณต่ำกว่าขีดจำกัดในการตรวจพบของทั้งสองวิธี ดังนั้น จึงทำการเติมสารละลายมาตรฐานคาร์โบฟูแรน 1.5 มิลลิกรัมต่อลิตรลงไปในสารสกัดตัวอย่างข้าวหอมมะลิ 3 ตัวอย่าง และทำการวิเคราะห์หาปริมาณคาร์โบฟูแรนด้วยเทคนิคทั้งสอง ตรวจพบระดับปริมาณคาร์โบฟูแรนด้วยไบโอเซนเซอร์ให้ผลการวิเคราะห์ในช่วง 1.43-1.57 มิลลิกรัมต่อลิตร เทคนิคมาตรฐานโครมาโทกราฟีของเหลวสมรรถนะสูงในช่วง 1.39-1.40 มิลลิกรัมต่อลิตร และให้ร้อยละของการวิเคราะห์กลับคืนมาในสารสกัดที่เติมคาร์โบฟูแรนในช่วงร้อยละ 95.6 ถึง 104.8 การวิเคราะห์ปริมาณคาร์โบฟูแรนให้ผลเป็นที่น่าพอใจโดยเปรียบเทียบผลการวิเคราะห์จากทั้งสองวิธีด้วยสถิติค่า t พบว่า t จากการคำนวณ เท่ากับ 2.86, 0.26 และ 0.95 ตามลำดับ ซึ่งมีน้อยกว่าค่า t ในตาราง เท่ากับ 4.30 (ระดับความเป็นอิสระเท่ากับ 2 ) ที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 สรุปได้ว่าผลการวิเคราะห์ปริมาณคาร์โบฟูแรนด้วยไบโอเซนเซอร์กับวิธีมาตรฐานโครมาโทกราฟีของเหลวสมรรถนะสูง ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

Title Alternate Determination of carbofuran contamination in jasmine rice samples by indirect method-alkaline phosphatase biosensor