การพัฒนาการเก็บกักสารสกัดจากสมุนไพรพื้นบ้านไทยในอนุภาคขนาดนาโนเพื่อใช้รักษาผมหงอก

Titleการพัฒนาการเก็บกักสารสกัดจากสมุนไพรพื้นบ้านไทยในอนุภาคขนาดนาโนเพื่อใช้รักษาผมหงอก
Publication Typeงานวิจัย/Research report
Year of Publication2554
Authorsอรัญญา มโนสร้อย, จีรเดช มโนสร้อย, ผ่องพรรณ เหลี่ยมวานิช, วันดี รังสีวิจิตรประภา
Institutionคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberRS164 อ388
Keywordsการสกัด (เคมี), ผมหงอก--การรักษาด้วยสมุนไพร, พืชสมุนไพร--เภสัชวิทยา, สมุนไพร--การวิเคราะห์, สมุนไพร--เภสัชวิทยา
Abstract

โครงการวิจัยนี้เป็นโครงการวิจัยที่ 3 ที่อยู่ในชุดโครงการวิจัยเรื่อง การวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ได้เวชสำอางจากสารสกัดสมุนไพรพื้นบ้านไทยโดยเก็บกักในอนุภาคขนาดนาโนเพื่อใช้สำหรับผมหงอกก่อนวัย ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการเก็บกักสารสกัดจากสมุนไพรพื้นบ้านไทยในอนุภาคขนาดนาโนเพื่อรักษาอาการผมหงอกก่อนวัย โครงการวิจัยนี้ได้ศึกษา Specification ของสารสกัดต่าง ๆ ด้วยน้ำ เมธานอล เอทธิลอซิเตตและเฮกเซนของสมุนไพรพื้นบ้านที่คัดเลือกมาซึ่งได้แก่ กวาวเครือขาว หม่อน ย่านาง บัวบกและอัญชัน จำนวน 20 ตัวอย่าง พบว่า สารสกัดทุกตัวมีความเป็นกรดและสารสกัดที่มีความคงตัวในกรดแก่ กรดอ่อน ด่างแก่ ด่างอ่อน oxidizer และ reducer คือ สารสกัดกวาวเครือด้วยน้ำ เมธานอล และเฮกเซน สารสกัดหม่อนด้วยเมธานอลและเฮกเซนและสารสกัดย่านางด้วยเมธานอล สารสกัดส่วนใหญ่ให้ผลบวกกับ glycoside, flavonoid, carotenoid, tannin และ xanthone ในการทดสอบฤทธิ์ต้านปฏิกิริยาออกซิเดชั่น สารสกัดน้ำและเอทธิลอซิเตตของย่านางและสารสกัดเฮกเซนของอัญชันมีฤทธิ์สูง ส่วนสารสกัดที่ไม่มีฤทธิ์ต้านเอนไซม์โทโรซิเนสได้แก่ สารสกัดน้ำของอัญชัน ย่านางและบัวบก สารสกัดเมธานอลของบัวบก สารสกัดเอทธิลอซิเตตของบัวบกและกวาวเครือและสารสกัดเฮกเซนของย่านาง ในการทดสอบกระบวนการกระตุ้นการสร้างเม็ดสีเมลานินและโปรตีนใน B16F10 สารสกัดที่มีแนวโน้มกระตุ้นการสร้างเม็ดสีเมลานินได้แก่ สารสกัดเอทธิลอซิเตตของกวาวเครือ หม่อน ย่านางและบัวบก และสารสกัดด้วยน้ำของย่านาง เมื่อนำสารสกัดหยาบเหล่านี้มาเก็บกักในนีโอโซมพบว่า มีความคงตัวทางกายภาพที่อุณหภูมิห้องและ 4 ºC เป็นเวลา 3 เดือน แต่ไม่คงตัวที่ 45 ºC จากการทำ specification ของนีโอโซมที่เก็บกักสารสกัดเหล่านี้พบว่า สารแขวนตะกอนนีโอโซมมี pH เป็นกรดและทุกสูตรมีความคงตัวในกรดแก่ กรดอ่อน ด่างแก่ ด่างอ่อน oxidizing และ reducing agent สารสกัดหยาบทุกตัวมีฤทธิ์ต้านปฏิกิริยาออกซิเดชั่นสูงกว่าสารสกัดที่เก็บกักในนีโอโซมแต่ต่ำกว่าสารมาตรฐานวิตามินซีและวิตามินอี ทั้งสารสกัดที่เก็บกักและไม่เก็บกักในนีโอโซมมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสต่ำ เมื่อเก็บกักสารสกัดในนีโอโซมไม่สามารถกระตุ้นการสร้างเม็ดสีเมลานิน อาจเนื่องจากสารสำคัญในสารสกัดไม่ถูกปลดปล่อยออกมาจากนีโอโซม ได้นำสารสกัดหยาบทั้ง 5 ตัวข้างต้นมาเตรียมเป็นสารสกัดกึ่งบริสุทธิ์ด้วยวิธีการแยกส่วนการละลายด้วยน้ำ เฮกเซนและเมธานอล ได้สารสกัดหยาบละ 3 fractions รวมเป็นทั้งสิ้น 15 fractions โดย fraction 1, 3 และ 3 ของสารสกัดหยาบบัวบกด้วยน้ำ สารสกัดหยาบกวาวเครือด้วยเอทธิลอซิเตตและสารสกัดหยาบหม่อนด้วยเอทธิลอซิเตตได้ % yield สูงสุดเท่ากับ 77.55, 26.8 และ 26.76% ของสารสกัดหยาบตามลำดับ สารสกัดกึ่งบริสุทธิ์ส่วนใหญ่ให้ฤทธิ์จับอนุมูลอิสระ รองลงมาคือ ฤทธิ์ยับยั้ง lipid peroxidation แต่มีจำนวน fraction ที่มีฤทธิ์จับโลหะน้อยที่สุด Fractions จากสารสกัดหยาบกวาวเครือขาวและย่านาง
ด้วยเฮกเซนมีฤทธิ์กระตุ้นการสร้างเม็ดสีเมลานินประมาณ 113 และ 104% ตามลำดับโดย fraction จากกวาวเครือมีฤทธิ์ของเอนไซมไทโรซิเนสสูงสุด (171%) ทั้งนี้ fractions ทั้งหมดมีฤทธิ์สูงกว่าสารสกัดหยาบได้คัดเลือก fraction จากสารสกัดหยาบกวาวเครือมาเก็บกักในนีโอโซม พบว่า สามารถเก็บกักได้สูงสุด 2% ได้สารแขวนตะกอนขาวขุ่นและไม่ตกตะกอน เมื่อเก็บกัก fraction จากกวาวเครือในนีโอโซมพบว่ามีความคงตัวทางกายภาพเมื่อเก็บไว้ที่อุณหภูมิต่าง ๆ (27, 4, 45 ºC) เป็นเวลา 3 เดือนมากกว่า fraction ที่ละลายใน propylene glycol นอกจากนี้ fraction ที่เก็บกักในนีโอโซมยังมีปริมาณ linoleic acid เหลืออยู่ประมาณ 2 เท่ามากกว่า fraction ที่ไม่ได้เก็บกักในนีโอโซมเมื่อเก็บที่อุณหภูมิต่าง ๆ เป็นเวลา 3 เดือน ในการทดสอบการซึมผ่านทางรูขุมขนของสารสกัดกึ่งบริสุทธิ์กวาวเครือที่เก็บกักในนีโอโซม พบว่า นีโอโซมสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการนำส่ง linoleic acid ในสารสกัดกึ่งบริสุทธิ์กวาวเครือ โดยมีค่าฟลักซ์และปริมาณการซึมผ่านรูขุมขนใน 1 รูขุมขนมากกว่าในรูปแบบสารละลายโดยเฉลี่ย 1.86 และ 2.18 เท่าตามลำดับ ในการประเมินราคาต้นทุน ราคาคาดคะเนของสารสกัดกึ่งบริสุทธิ์กวาวเครือมีค่าประมาณ 60,000 บาทต่อกิโลกรัม และสารแขวนตะกอนนีโอโซมที่เก็บกักสารสกัดกึ่งบริสุทธิ์กวาวเครือ 2% มีราคาประมาณ 2,400 บาทต่อกิโลกรัม ผลจากโครงการวิจัยนี้นอกจากจะช่วยเพิ่มมูลค่าของสมุนไพรพื้นบ้านไทย โดยใช้เทคโนโลยีนาโนเพื่อใช้รักษาอาการผมหงอกแล้ว ยังจะช่วยให้ได้ผลิตภัณฑ์ช่วยให้ผมดำจากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยรวมทั้งช่วยลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาย้อมผมจากต่างประเทศที่จะช่วยเศรษฐกิจของประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย

Title Alternate Research and development of extracts from Thai traditional medicinal plants in Nanoparticles for white hair treatment